คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9148/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาประกันภัยค้ำจุนเป็นสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความวินาศภัยที่เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอก และวินาศภัยนั้น ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ คดีนี้แม้จำเลยจะฎีกาว่าสัญญาประกันภัยตามฟ้องของโจทก์เป็นสัญญาประกันภัยค้ำจุนก็ตาม แต่ตามฟ้องแย้งของจำเลยมิได้กล่าวอ้างหรือแสดงว่าผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบต่อจำเลยในวินาศภัยที่เกิดขึ้นแต่อย่างใดเลย ฟ้องแย้งของจำเลยจึงขาดสาระสำคัญอันเป็นมูลที่จะให้โจทก์ต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยดังกล่าว จำเลยจึงไม่อาจฟ้องแย้งเรียกค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์ผู้รับประกันภัย ชอบที่ศาลจะสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2537 โจทก์รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 ฮ – 2264 กรุงเทพมหานคร ไว้จากนางสาวชลทิชา ภู่เกิด เพื่อความวินาศภัยทุกชนิด ในวงเงิน 320,000 บาท ตลอดจนคุ้มครองภายในรถยนต์และผู้ขับขี่ในรถยนต์คันดังกล่าวไม่เกินคนละ 50,000 บาท และรับประกันภัยเพื่อคุ้มครองผู้ประสบภัยของบุคคลภายในรถยนต์คันดังกล่าว ในวงเงิน 600,000 บาท มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 20 มกราคม 2537 ถึงวันที่ 20 มกราคม 2538 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2537 เวลา 23.40 นาฬิกา จำเลยขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน บ – 9861 ระยอง ด้วยความเร็วสูงและด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงแล่นตัดหน้าและสวนทางกับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9 ฮ – 2264 กรุงเทพมหานคร ที่จ่าสิบตำรวจอนุช เหล่าศรี ขับอยู่ในช่องทางเดินรถด้านซ้ายเป็นเหตุให้ชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 ฮ – 2264 กรุงเทพมหานครได้รับความเสียหายทั้งคัน นางสาวชลทิชาและจ่าสิบตำรวจอนุชได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อเกิดเหตุแล้วโจทก์ได้ใช้เงินจำนวน 320,000 บาท ตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัยให้แก่บริษัทสยามพาณิชย์ลิชซิ่ง จำกัด ผู้รับประโยชน์ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2537 และได้นำซากรถยนต์คันดังกล่าวขายได้เงิน 138,000 บาท ทำให้โจทก์เสียหายอยู่อีกเป็นเงิน 182,000 บาท และโจทก์ต้องว่าจ้างรถยกเป็นเงิน 2,000 บาท โจทก์ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่นางสาวชลทิชาและจ่าสิบตำรวจอนุช รวมเป็นเงิน 102,100 บาท เมื่อโจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้ว จึงเข้ารับช่วงสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยผู้ทำละเมิด เป็นเงินทั้งสิ้น 284,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันละเมิดจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 20,373.47 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 304,473.47 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 304,473.47 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 284,100 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยมิได้ประมาท แต่เหตุเกิดจากความประมาทของจ่าสิบตำรวจอนุชผู้ขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ จำเลยจึงหาต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ไม่ ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกนั้นสูงกว่าความเป็นจริง รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหายไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนค่ารักษาพยาบาลนั้นไม่เป็นความจริงโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้อง การที่ผู้ขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้เป็นผู้ทำละเมิดจนเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ทำให้รถยนต์ของจำเลยเสียหาย คิดเป็นเงิน 104,100 บาท จำเลยได้รับบาดเจ็บต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเป็นเงินทั้งสิ้น 21,484 บาท และเสียค่าขาดประโยชน์ที่ไม่สามารถประกอบอาชีพการงานได้ตามปกติ คิดเป็นเงินวันละ 1,000 บาท เป็นเวลา 20 วัน เป็นเงิน 20,000 บาท โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 ฮ – 2264 กรุงเทพมหานคร จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายของจำเลยดังกล่าวให้แก่จำเลยตามสัญญาประกันภัยที่โจทก์ทำไว้กับผู้เอาประกันภัย ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยเป็นเงิน 145,584 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำให้การ ส่วนฟ้องแย้งเห็นว่าโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยคุ้มครองเพื่อความประสบภัยของบุคคลภายในรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 ฮ – 2264 กรุงเทพมหานครเท่านั้น ฟ้องแย้งจึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ไม่รับฟ้องแย้ง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาว่า สัญญาประกันภัยตามตารางกรมธรรม์เอกสารท้ายฟ้องของโจทก์หมายเลข 3 เป็นสัญญาประกันภัยค้ำจุน จำเลยจึงมีสิทธิฟ้องแย้งได้นั้น เห็นว่า สัญญาประกันภัยค้ำจุนเป็นสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความวินาศภัยที่เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกและวินาศภัยนั้นผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ คดีนี้แม้จำเลยจะฎีกาว่า สัญญาประกันภัยตามฟ้องของโจทก์เป็นสัญญาประกันภัยค้ำจุนก็ตาม แต่ตามฟ้องแย้งของจำเลยมิได้กล่าวอ้างหรือแสดงว่าผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบต่อจำเลยในวินาศภัยที่เกิดขึ้นแต่อย่างใดเลย ฟ้องแย้งของจำเลยจึงขาดสาระสำคัญอันเป็นมูลที่จะให้โจทก์ต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยดังกล่าว จำเลยจึงไม่อาจฟ้องแย้งเรียกค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์ผู้รับประกันภัย

พิพากษายืน

Share