คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6290/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พินัยกรรมมีข้อความว่าผู้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินที่มีอยู่ในขณะทำพินัยกรรมและที่จะมีขึ้นภายหน้าให้เป็นกรรมสิทธิ์หรือสิทธิแก่ผู้คัดค้านแต่เพียงผู้เดียวและผู้ทำพินัยกรรมได้พิมพ์ลายนิ้วมือต่อหน้าพยานทั้งหมด3คนแม้ลายมือชื่อของพยานดังกล่าวจะไม่ได้ระบุว่าเป็นผู้รับรองลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ทำพินัยกรรมไว้ด้วยก็ตามพยานผู้ลงลายมือชื่อดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นผู้รับรองลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ทำพินัยกรรมด้วยและย่อมสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1656

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางพลอย ผู้ตาย โดยผู้ร้องอ้างในคำร้องขอว่าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมและไม่ได้ตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกไว้
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ผู้คัดค้านไว้ ผู้ร้องจึงเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย และผู้ร้องยื่นคำร้องขอเท็จว่าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ เป็นการกระทำที่ไม่สุจริต ไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้มีคำสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้ร้องคัดค้านว่า พินัยกรรมที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างเป็นพินัยกรรมปล่อย ผู้ร้องมีคุณสมบัติและเหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ขอให้ยกคำคัดค้าน
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วเห็นว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับและไม่ปรากฎเหตุอื่นว่าผู้ร้องไม่เหมาะสมจะเป็นผู้จัดการมรดกอย่างไร จึงมีคำสั่งให้ยกคำคัดค้านของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้าน อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 พิพากษา ยื่น
ผู้คัดค้าน ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.ค.1 มีข้อความว่าผู้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินที่มีอยู่ในขณะทำพินัยกรรมและที่จะมีขึ้นภายหน้าให้เป็นกรรมสิทธิ์หรือสิทธิแก่ผู้คัดค้านแต่เพียงผู้เดียวและผู้ทำพินัยกรรมได้พิมพ์ลายนิ้วมือต่อหน้าพยานทั้งหมด 3 คนโดยมีนายวีระศักดิ์ และนายผานรวมอยู่ด้วย แม้ลายมือชื่อของพยานดังกล่าวจะไม่ได้ระบุว่าเป็นผู้รับรองลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ทำพินัยกรรมไว้ด้วยก็ตาม พยานผู้ลงลายมือชื่อดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นผู้รับรองลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ทำพินัยกรรมด้วย และย่อมสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าพินัยกรรมฉบับดังกล่าวเป็นโมฆะนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาพินัยกรรมฉบับนี้ นายผานและนายเสาร์ ซึ่งเป็นน้องและพี่ของผู้ร้องและผู้คัดค้านเบิกความว่า เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2534 ซึ่งเป็นวันหลังจากนางพลอย ถึงแก่กรรมไปแล้ว 1 วัน ได้มีการเปิดพินัยกรรมโดยนายผานได้แจ้งให้ผู้ร้องทราบแล้ว แต่ผู้ร้องไม่ยอมไปรับทราบเพราะนายพลอย เคยฟ้องผู้ร้องเรื่องแจ้งความเท็จ และศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกผู้ร้อง กรณีดังกล่าวพยานของผู้คัดค้านจึงมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า ผู้ร้องได้รู้อยู่แก่ใจว่านางพลอย ได้ทำพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์มรดกไว้ตั้งแต่ก่อนที่จะยื่นคำร้องขอให้ผู้จัดการมรดกรายนี้แล้ว ดังนั้น การที่ผู้ร้องระบุในคำร้องขอจัดการมรดกว่าก่อนตายผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ จึงเป็นความเท็จและตามทางไต่สวนคำร้องขอของผู้ร้อง ปรากฎว่าผู้ร้องอ้างตนเองเป็นพยานเพียงปากเดียว โดยมิได้นำพี่น้องคนอื่น ๆ มาเป็นพยานด้วยเลยทั้ง ๆ ที่ผู้ร้องกับผู้คัดค้านและพี่น้องทุกคนต่างที่บ้านอยู่ใกล้เคียงกันโดยอยู่ใน หมู่ 1 ตำบลธาตุน้อย ด้วยกันทุกคน (ปรากฎตามบัญชีพยานของผู้คัดค้าน) กรณีจึงน่าเชื่อตามคำเบิกความของพยานผู้คัดค้านว่าผู้ร้องได้ขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางพลอย โดยพี่น้องทุกคนไม่ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวส่อแสดงว่าผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้โดยไม่สุจริต และการที่ผู้ร้องไม่ยอมไปงานศพของนางพลอย ผู้เป็นมารดานั้นส่อให้เห็นว่าผู้ร้อง ไม่สำนึกในบุญคุณของผู้เป็นมารดายิ่งไปกว่านั้นยังปรากฎตามคำเบิกความของพยานผู้คัดค้านว่า ผู้ร้องเคยต้องคำพิพากษาของศาลว่า กระทำผิดฐานแจ้งความเท็จเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิของนางพลอย มาแล้วปรากฎตามสำเนาคำพิพากษาแนบท้ายฎีกาของผู้คัดค้านข้อเท็จจริงดังกล่าว เห็นว่า ผู้ร้องมีความประพฤติไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ต่อไป
พิพากษากลับ ให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางพลอย จันทร์เติบหรือจันเติบ ผู้ตาย

Share