คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2191-2206/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระเบียบกำหนดว่าการลาพักผ่อนประจำปีลูกจ้างผู้มีสิทธิจะขอลาหยุดพักผ่อนเมื่อใดก็ได้และจะหยุดพักผ่อนต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาแล้วเมื่อนายจ้างมิได้กำหนดวันหยุดพักผ่อนไว้ว่าลูกจ้างจะต้องหยุดพักผ่อนเมื่อใดให้เป็นที่แน่นอนระเบียบที่ให้ลูกจ้างมีสิทธิหยุดพักผ่อนได้แต่ละปีนั้นถือไม่ได้ว่าเป็นการที่นายจ้างกำหนดวันหยุดพักผ่อนให้แล้วทั้งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 45 กำหนดว่าถ้านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างประจำโดย ลูกจ้างมิได้มีความผิดตามข้อ 47 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนที่ลูกจ้างมีสิทธิ ได้รับตามข้อ 10 และข้อ 32 ด้วยมิได้มีเงื่อนไขกำหนดให้ลูกจ้างต้องแจ้งความจำนงขอหยุดพักผ่อนประจำปีแต่ อย่างใดเมื่อลูกจ้างไม่ได้ขอใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีพ.ศ.2525,2526 และ 2527 เงินเดือนที่นายจ้างจ่ายให้แก่ ลูกจ้างประจำปีจึงหาได้รวมถึงค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ไม่เมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดย ลูกจ้างมิได้มีความผิดและยังมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังมิได้ใช้ นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้าง
ระเบียบเกี่ยวกับการลาพักผ่อนประจำปี ข้อ 14 กำหนดไว้ว่า1. พนักงานที่มีเวลาทำงานยังไม่ถึง 5 ปี ลาได้ปีละ10 วันทำงาน 2. พนักงานที่มีเวลาทำงานตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไปลาได้ 15 วันทำงาน และผู้ที่เข้าเป็นพนักงานนับถึงวันสิ้นปีไม่ถึง 6 เดือน ไม่มีสิทธิลาพักผ่อนประจำปี ดังนั้น หากพนักงานคนใดผ่านพ้นข้อห้ามดังกล่าวในปีต่อไป พนักงานผู้นั้นย่อมเกิดสิทธิที่จะหยุดพักผ่อนได้ทันทีโดยหาจำต้องทำงานในปีต่อไปจนครบอีก1 ปีไม่หรือเป็นการกำหนดว่า หลังจากพนักงานที่เข้า ทำงานนับถึงวันสิ้นปีไม่ถึง 6 เดือน ก็ย่อมไม่มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีนั้นแต่ในปีต่อไปก็มีสิทธิหยุดพักผ่อนได้ทันทีโดยไม่มีข้อห้ามหรือข้อจำกัดไว้ในที่ใดว่าหาก ได้มีการเลิกจ้างหรือพนักงานคนใดลาออก หรือถึงแก่กรรม ภายหลังที่ได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนจนครบกำหนดตามระเบียบแล้วนายจ้างจะได้ใช้สิทธิต่อพนักงานผู้นั้นอย่างไรบ้างสำหรับปี พ.ศ.2527 จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2527 โจทก์มีเวลา ทำงานคนละ 9 เดือนโดยยังมิได้หยุดพักผ่อนเมื่อถูก จำเลยเลิกจ้างเพราะเหตุเกษียณอายุย่อมมีสิทธิหยุดพักผ่อนได้ คนละ 15 วันตามระเบียบของจำเลยข้อ 2 เมื่อโจทก์มิ ได้ใช้สิทธิดังกล่าว จำเลยก็ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ คนละ 15 วันมิใช่ เฉลี่ยค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนให้โจทก์ในปี พ.ศ.2527 เพียงคนละ 10 วัน
ค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นหนี้เงินซึ่งนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ 45 เมื่อจำเลยไม่จ่ายให้ โจทก์ จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันที่จำเลยเลิกจ้าง โจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิได้ดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสิบหกสำนวนฟ้องใจความทำนองเดียวกันว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุโดยไม่จ่ายค่าชดเชย และไม่จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี พ.ศ. 2525 ถึง พ.ศ. 2527 ให้แก่โจทก์สำนวนที่ 4 ถึงสำนวนที่ 16 เว้นแต่โจทก์ที่ 12 เฉพาะ พ.ศ. 2525 ถึง พ.ศ. 2526 ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
จำเลยทุกสำนวนให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อโจทก์มีอายุครบหกสิบปีตามระเบียบของธนาคาร โจทก์ทราบระเบียบดังกล่าวแล้ว จึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ทั้งเมื่อโจทก์ออกจากงานจำเลยได้จ่ายค่าตอบแทนตามระเบียบของจำเลยซึ่งมีจำนวนมากกว่าค่าชดเชยและเป็นเงินประเภทเดียวกับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยอีก ระเบียบของจำเลยให้โจทก์มีสิทธิและใช้สิทธิลาพักผ่อนได้ปีละ 15 วันทำงาน แต่โจทก์มิได้ใช้สิทธิดังกล่าว
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 16และจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเฉพาะ พ.ศ. 2527 ตามส่วนแก่โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 16 พร้อมดอกเบี้ยในเงินทั้งสองจำนวน
โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 16 และจำเลยทั้ง 16 สำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่าระเบียบของจำเลยที่กำหนดว่า พนักงานหรือลูกจ้างที่มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์แล้วให้พ้นจากตำแหน่ง ฯลฯ หาใช่เป็นข้อตกลงกำหนดระยะเวลาการจ้างระหว่างโจทก์จำเลยไม่ หากเป็นเพียงการกำหนดคุณสมบัติและเหตุที่จะสั่งให้ออกจากงานได้เพราะเหตุขาดคุณสมบัติดังที่กำหนดและจำเลยไม่ถูกผูกพันที่จะต้องจ้างโจทก์จนอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ การที่โจทก์ต่างทราบระเบียบดังกล่าวถือไม่ได้ว่า โจทก์ตกลงกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน การที่จำเลยสั่งให้โจทก์ออกจากงาน เนื่องจากเกษียณอายุจึงเป็นการเลิกจ้าง จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน และเมื่อจำเลยไม่จ่ายค่าชดเชยให้ถือได้ว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันเลิกจ้าง โจทก์ย่อมมีสิทธิได้ดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224
ระเบียบของจำเลยว่าด้วยการลาของพนักงานธนาคารออมสินกำหนดว่าพนักงานมีสิทธิลาพักผ่อนประจำปีโดยเสนอใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาตเป็นผู้พิจารณาอนุญาตซึ่งหมายความว่าการลาพักผ่อนประจำปีของพนักงานของจำเลย พนักงานผู้มีสิทธิจะขอลาหยุดพักผ่อนเมื่อใดก็ได้ และจะหยุดพักผ่อนต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาแล้ว จำเลยมิได้กำหนดวันหยุดพักผ่อนไว้ว่า โจทก์จะต้องหยุดพักผ่อนเมื่อใดให้เป็นที่แน่นอน ระเบียบของจำเลยดังกล่าวที่ให้โจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนได้แต่ละปีนั้นถือไม่ได้ว่าเป็นการที่จำเลยกำหนดวันหยุดพักผ่อนให้โจทก์แล้ว ทั้งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 45 กำหนดว่า ถ้านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างประจำโดยลูกจ้างมิได้มีความผิดตามข้อ 47ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามข้อ 10 และข้อ 32 ซึ่งไม่มีเงื่อนไขกำหนดให้ลูกจ้างต้องแจ้งความจำนงขอหยุดพักผ่อนประจำปี เมื่อโจทก์ยังมิได้หยุดพักผ่อนประจำปี เงินเดือนที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ตามปกติจึงหาได้รวมถึงค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้มีความผิดและโจทก์ยังมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีซึ่งยังไม่ได้ใช้ จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 16
ข้อที่โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 16 อุทธรณ์ว่าแม้โจทก์มีเวลาทำงานในปี พ.ศ. 2517 เพียง 11 วัน จึงไม่ถูกนั้น ปรากฏว่าระเบียบของจำเลยกำหนดไว้ว่า 1. พนักงานที่มีเวลาทำงานยังไม่ถึง 5 ปี ลาได้ปีละ 10 วันทำงาน 2. พนักงานที่มีเวลาทำงานตั้งแต่5 ปีขึ้นไป ลาได้ 15 วันทำงาน สำหรับผู้ที่เข้าเป็นพนักงานนับถึงวันสิ้นปีไม่ถึง 6 เดือนไม่มีสิทธิลาพักผ่อนประจำปี ดังนั้น พนักงานของจำเลยคนใดผ่านข้อห้ามตามวรรคท้ายของระเบียบดังกล่าว ในปีต่อไปพนักงานผู้นั้นย่อมเกิดสิทธิที่จะหยุดพักผ่อนมีกำหนด 10 วัน ทำงานได้ทันทีโดยหาจำต้องทำงานในปีต่อไปจนครบอีก 1 ปีไม่หรือเป็นการกำหนดว่าหลังจากพนักงานของจำเลยที่เข้าทำงานนับถึงวันสิ้นปีไม่ถึง6 เดือน ก็ย่อมไม่มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีสำหรับปีนั้น แต่ในปีต่อไปก็มีสิทธิหยุดพักผ่อนได้ทันทีโดยไม่มีข้อห้ามหรือข้อจำกัดว่า หากมีการเลิกจ้างหรือพนักงานคนใดลาออก หรือถึงแก่กรรมภายหลังที่ได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนจนครบกำหนดตามระเบียบแล้วจำเลยจะใช้สิทธิต่อพนักงานผู้นั้นอย่างใดบ้าง กรณีของโจทก์ที่ 4 ถึงที่ 16 ซึ่งถูกจำเลยเลิกจ้างเพราะเหตุเกษียณอายุก็ย่อมมีสิทธิหยุดพักผ่อนได้คนละ 15 วันตามระเบียบข้อ 2ดังกล่าว เมื่อโจทก์ที่ 4 ถึงที่ 16 มิได้ใช้สิทธิดังกล่าว จำเลยก็ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 16 และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนี้ นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 45 เมื่อจำเลยไม่จ่ายจึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันเลิกจ้าง
พิพากษาแก้เฉพาะค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 16 เพิ่มขึ้น

Share