คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3822/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์ แผนกยานพาหนะและขนส่งกองคลังพัสดุ ประจำทำงานในต่างจังหวัดกับเป็นสมาชิกและอนุกรรมการสหภาพแรงงานพนักงานของจำเลย สหภาพแรงงานดังกล่าวได้แจ้งข้อเรียกร้องต่อจำเลยและแต่งตั้งโจทก์ เป็นที่ปรึกษา ต่อมาในระหว่างการเจรจาข้อเรียกร้องจำเลยมีคำสั่งโยกย้ายโจทก์ไปทำงานตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์ แผนกบริการและควบคุม ยานพาหนะกองยานพาหนะ ซึ่งต้องประจำทำงานที่กรุงเทพมหานคร ดังนี้ การที่จำเลยมีคำสั่งโยกย้ายโจทก์ดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 31 วรรคหนึ่งและการที่จำเลยปรับปรุงโครงสร้างงานใหม่ และจำเป็นต้อง โยกย้ายลูกจ้างซึ่งล้นงานไปประจำหน่วยงานอื่นนั้นไม่ใช่เหตุหนึ่งเหตุใด ตามมาตรา31(1) ถึง (4) จำเลยจึงไม่มีอำนาจโยกย้ายหน้าที่การงาน ของโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์แผนกยานพาหนะและขนส่ง เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2527 สหภาพแรงงานพนักงานการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งโจทก์เป็นสมาชิกและอนุกรรมการได้แจ้งข้อเรียกร้องต่อจำเลยโดยแต่งตั้งโจทก์เป็นที่ปรึกษา ต่อมาวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2528ซึ่งอยู่ในระหว่างการเจรจาข้อเรียกร้อง จำเลยมีคำสั่งโยกย้ายโจทก์ให้ไปดำรงตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์ แผนกบริการและควบคุมยานพาหนะ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ข้อ 31 ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของจำเลยดังกล่าว โดยให้โจทก์กลับไปทำงานในสังกัดหน่วยงานเดิมเสมือนหนึ่งไม่มีการโยกย้าย
จำเลยให้การว่า การที่จำเลยมีคำสั่งโยกย้ายโจทก์ เนื่องจากจำเลยได้ปรับปรุงโครงสร้างและสายงานการบังคับบัญชาใหม่โดยยุบเลิกหน่วยงานที่หมดความจำเป็นและจัดตั้งหน่วยงานใหม่ หน่วยงานของโจทก์ปรากฏว่าพนักงานขับรถยนต์มีจำนวนมากเกินกว่าความจำเป็น จำเลยจึงมีคำสั่งโยกย้ายโจทก์มาประจำทำงานที่กรุงเทพมหานครอันเป็นหน่วยงานเดิมที่โจทก์เคยสังกัดมาก่อน และเพื่อความสะดวกในการเจรจาข้อเรียกร้อง การโยกย้ายครั้งนี้มิใช่เป็นการกลั่นแกล้ง เพราะจำเลยมีคำสั่งโยกย้ายพนักงานทั้งหมดเกือบ 600 คน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการที่จำเลยมีคำสั่งโยกย้ายโจทก์ในระหว่างการเจรจาข้อเรียกร้องเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518ข้อ 31 พิพากษาให้เพิกคำสั่งของจำเลยที่ 221/2528 ลงวันที่ 2 เมษายน 2528
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย ดำรงตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์ แผนกยานพาหนะและขนส่ง ซึ่งประจำทำงานอยู่ที่จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2527 สหภาพแรงงานพนักงานการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยซึ่งโจทก์เป็นสมาชิกและอนุกรรมการได้แจ้งข้อเรียกร้องต่อจำเลยและแต่งตั้งโจทก์เป็นที่ปรึกษาต่อมาในระหว่างการเจรจาข้อเรียกร้อง จำเลยมีคำสั่งที่ 221/2528 ลงวันที่ 2 เมษายน 2528 สั่งโยกย้ายโจทก์ไปดำรงตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์แผนกบริการและควบคุมยานพาหนะซึ่งต้องประจำทำงานที่กรุงเทพมหานคร
มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การที่จำเลยมีคำสั่งโยกย้ายโจทก์ดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 31 หรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ความในมาตรา 31 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งบัญญัติว่า “เมื่อได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องตามมาตรา 13 แล้ว ถ้าข้อเรียกร้องนั้นยังอยู่ในระหว่างการเจรจา ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การงานลูกจ้าง อนุกรรมการ หรือสมาชิกสหภาพแรงงานซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง เว้นแต่” นั้น เป็นบทคุ้มครองลูกจ้างในระหว่างการเจรจาข้อเรียกร้องเพื่อป้องกันมิให้นายจ้างกลั่นแกล้งลูกจ้างด้วยการเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การงานทั้งมีเจตนาที่จะให้ลูกจ้างใช้อำนาจในการเจรจาต่อรองข้อเรียกร้องได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องหวั่นเกรงว่าจะถูกเลิกจ้างหรือถูกโยกย้ายหน้าที่การงาน ในทำนองเดียวกัน พระราชบัญญัติดังกล่าวก็ได้ให้ความคุ้มครองแก่นายจ้าง โดยบัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ในมาตรา 31 ตั้งแต่ (1)ถึง (4) ซึ่งกรณีที่ลูกจ้างกระทำผิดอันต้องด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดตามข้อยกเว้นดังกล่าวนายจ้างมีอำนาจเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การงานลูกจ้างได้ตามที่เห็นสมควรการที่จำเลยปรับปรุงโครงสร้างงานใหม่และจำเป็นต้องโยกย้ายลูกจ้างซึ่งล้นงานไปประจำหน่วยงานอื่นไม่ใช่เหตุหนึ่งเหตุใดตามมาตรา 31(1) ถึง (4) จำเลยไม่มีอำนาจโยกย้ายหน้าที่การงานโจทก์ การที่จำเลยมีคำสั่งโยกย้ายหน้าที่การงานโจทก์ เป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง จำเลยจะอ้างพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2521 ซึ่งกำหนดให้จำเลยมีอำนาจที่จะปรับปรุงโครงสร้างงานใหม่หรือโยกย้ายหน้าที่การงานลูกจ้างได้มาเป็นเหตุลบล้างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง ซึ่งตราขึ้นเพื่อคุ้มครองลูกจ้างหาได้ไม่
พิพากษายืน

Share