คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3946/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ลูกหนี้ที่ 4 จะมิได้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืม ที่เจ้าหนี้อ้างประกอบคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์ แต่ข้อเท็จจริงก็ฟังได้ยุติตามคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งลูกหนี้ที่ 4 เป็นจำเลยร่วมอยู่ด้วยว่า ลูกหนี้ที่ 4 เป็น กรรมการของบริษัทฯ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมกระทำความผิด กับจำเลยที่ 1 ตาม พระราชกฤษฎีกาการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกง ประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4 และ 5 ดังนั้น ลูกหนี้ที่ 4 จึงเป็นผู้กู้ยืมตามนัยแห่ง พระราชกฤษฎีกา ดังกล่าวและต้องรับผิดตาม สัญญากู้ยืมต่อเจ้าหนี้ จะอ้างว่าไม่ต้องรับผิดเพราะไม่ได้ ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมหาได้ไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 1 ถึงที่ 5 เด็ดขาด เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2537 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินเป็นจำนวนเงิน 120,000 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 5 รายละเอียดตามบัญชีท้ายคำขอรับชำระหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว มีความเห็นให้เจ้าหนี้รับชำระหนี้เงินกู้ยืม 120,000 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 5 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 130(8) ตามคำขอโดยมีเงื่อนไขว่า หากเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของนาวาอากาศตรีหญิงปะอร มีสัจจี แล้วเพียงใด ก็ให้สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 5 ลดลงเพียงนั้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นและเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนด
ลูกหนี้ที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เฉพาะในส่วนที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 4 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 4 หรือไม่ เห็นว่า แม้ตามสัญญากู้ยืมลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2528 ที่เจ้าหนี้อ้างประกอบคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้น ลูกหนี้ที่ 4 จะมิได้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็ฟังได้ยุติตามคำพิพากษาฎีกาที่ 5071/2540 ระหว่าง พนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์บริษัททองนพเก้า จำกัด กับพวก จำเลย ซึ่งลูกหนี้ที่ 4 เป็นจำเลยร่วมอยู่ด้วยโดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ลูกหนี้ที่ 4 เป็นกรรมการของบริษัทฯ ของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 4 ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4 และ 5 ดังนั้น แม้ลูกหนี้ที่ 4 จะมิได้ลงชื่อในสัญญากู้ยืมลูกหนี้ที่ 4 ก็เป็นผู้กู้ยืมตามนัยแห่งพระราชกำหนดดังกล่าวและต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมต่อเจ้าหนี้ลูกหนี้ที่ 4 จะอ้างว่าไม่ต้องรับผิด เพราะไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมหาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำขอรับชำระหนี้เฉพาะในส่วนที่ศาลชั้นต้นให้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 4 นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 4 ด้วย ตามเงื่อนไขของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ลูกหนี้ที่ 4 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โดยหักจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 4

Share