แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องของสหภาพแรงงานโจทก์ที่มีคำขอให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย แก่ครูผู้มีสิทธินั้น เป็นการฟ้องคดีเพื่อประโยชน์แก่ครู โจทก์มีหน้าที่ ต้องบรรยายฟ้องว่า ครูตามคำฟ้องเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานโจทก์หรือไม่ เพราะถ้าครูผู้นั้นไม่เป็นสมาชิก โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจหรือหน้าที่ใดๆตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 98 ที่จะดำเนินการ เพื่อประโยชน์แก่ครูผู้ที่ไม่ได้รับค่าจ้างนั้นได้เมื่อโจทก์ไม่บรรยายฟ้อง ดังกล่าวโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของโรงเรียนดุสิตพณิชยการ จำเลยที่ 2เป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ในการบริหารกิจการโรงเรียนดังกล่าวคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้มีคำวินิจฉัยว่า ในกรณีเป็นวันที่มีการเรียนการสอน แต่นักเรียนไม่มาเรียนทั้งห้อง แต่มีครูอยู่ ผู้รับใบอนุญาตจะต้องคิดค่าจ้างให้แก่ครู ต่อมาจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้จงใจไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยดังกล่าว กล่าวคือในกรณีที่มีการเรียนการสอน แต่นักเรียนไม่มาเรียนทั้งห้อง แม้มีครูอยู่ จำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 ก็ไม่คิดเป็นวันเรียนวันสอน ทำให้จำนวนชั่วโมงสอนของครูลดลงครูไม่ได้รับเงินค่าจ้างตามสิทธิ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ กับให้จำเลยชำระค่าจ้างที่ไม่จ่ายให้ครูพร้อมดอกเบี้ยและเงินเพิ่ม
จำเลยให้การว่าจำเลยได้อุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามฟ้องและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงคำสั่งดังกล่าวแล้ว โดยเฉพาะได้เปลี่ยนแปลงให้จ่ายค่าสอนเฉพาะคาบที่สอนจริงจำเลยที่ 2 มิได้เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 2276/2528 ของศาลแรงงานกลาง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ที่มีคำขอให้จำเลยปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เป็นฟ้องซึ่งแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาครบถ้วนตามความต้องการของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 แล้วส่วนที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่ครูผู้มีสิทธิพร้อมด้วยดอกเบี้ยและเงินเพิ่มนั้น โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องเลยว่า ครูผู้ใดอยู่ประจำวันใด และชั่วโมงที่มีการเรียนการสอน ครูผู้นั้นมีการเรียนการสอนเท่าใด รวมคนละกี่ชั่วโมงเป็นจำนวนเงินค่าจ้างคนละเท่าใด จำเลยผิดนัดการจ่ายค่าจ้างแก่ครูผู้ใดหรือไม่นับแต่เมื่อใด อันจะเป็นเหตุให้คิดดอกเบี้ยและเงินเพิ่มได้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 31 จำเลยย่อมไม่สามารถเข้าใจและต่อสู้ได้
โจทก์ฟ้องคดีเพื่อประโยชน์แก่ครู โจทก์มีหน้าที่ต้องบรรยายฟ้องว่า ครูตามคำฟ้องเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานโจทก์หรือไม่ เพราะถ้าครูผู้นั้นไม่เป็นสมาชิกโจทก์ก็ย่อมไม่มีอำนาจหรือหน้าที่ใด ๆ ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 98 ที่จะสอดเข้าไปดำเนินการก้าวก่ายสิทธิของครูผู้ที่ไม่ได้รับค่าจ้างและเป็นบุคคลภายนอกเพื่อประโยชน์ของครูนั้นได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ในฐานะที่เป็นสภาพแรงงาน ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาคดีใหม่เฉพาะในข้อที่ว่าจำเลยจะต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์หรือไม่ และฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่