คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2190/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 มีอาชีพเป็นผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์ จำเลยที่ 2ว.และส.เข้าหุ้นส่วนกันสร้างภาพยนตร์โทรทัศน์โดยว. ลงทุนด้วยเงินสดจำเลยที่ 2 และ ส. ลงทุนด้วยแรงงานโดยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้จากกิจการสร้างภาพยนตร์นั้น ส่วนโจทก์เป็นหุ้นส่วนร่วมกับ ว.20เปอร์เซ็นต์ของเงินทุนที่ว. นำมาลงและเป็นทนายความประจำสำนักงานภาพยนตร์ของ ว. จำเลยที่ 1เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลัง มอบให้ว.โดยมีข้อตกลงว่าว. จะบังคับให้ใช้เงินตามเช็คได้ต่อเมื่อภาพยนตร์ที่ร่วมกันสร้างได้ฉายทาง โทรทัศน์ จนมีกำไร เช็คพิพาทจึงเป็นเช็คที่ออกให้แก่ ว. ผู้ทรงคนก่อนเพื่อเป็นการประกันการปฏิบัติตามสัญญาหุ้นส่วน เมื่อ ว. ยังไม่ปฏิบัติตามสัญญาหุ้นส่วนโดยไม่จัดการชำระบัญชีกันให้ถูกต้อง แล้วกลับโอนเช็คให้โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสอง โดยโจทก์รู้ถึงข้อตกลงในการเข้าหุ้นส่วนดังกล่าวเป็นการยืมมือโจทก์ฟ้อง ย่อมถือว่าโจทก์กับ ว. คบคิดกันฉ้อฉลจำเลยทั้งสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามเช็คและดอกเบี้ยจำนวน70,950 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน66,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาททั้งสองฉบับมาจากนายวิวัฒน์ ธรรมชวนวิริยะ โดยคบคิดกันฉ้อฉลจำเลยทั้งสองโจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 มีอาชีพเป็นผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์ จำเลยที่ 2 นายวิวัฒน์ธรรมชวนวิริยะ และนายสมบูรณ์ แสงทอง ได้เข้าหุ้นส่วนกันสร้างภาพยนตร์โทรทัศน์โดยนายวิวัฒน์เป็นผู้ลงทุนด้วยเงินสด จำเลยที่ 2 และนายสมบูรณ์ลงทุนด้วยแรงงาน โดยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้จากกิจการสร้างภาพยนตร์นั้น ส่วนโจทก์เป็นหุ้นส่วนร่วมกับนายวิวัฒน์ 20 เปอร์เซ็นต์ ของเงินทุนที่นายวิวัฒน์นำมาลง และเป็นทนายความประจำสำนักงานภาพยนตร์ของนายวิวัฒน์จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับ โดยมีจำเลยที่ 2เป็นผู้สลักหลัง ต่อมาโจทก์นำเช็คพิพาททั้งสองฉบับไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คพิพาททั้งสองฉบับหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้เห็นว่า เช็คพิพาททั้งสองฉบับระบุให้จ่ายเงินแก่ผู้ถือ การโอนไปย่อมสมบูรณ์เพียงด้วยส่งมอบให้กัน เมื่อนายวิวัฒน์ส่งมอบเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้โจทก์ โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904 ทั้งข้อเท็จจริงรับฟังได้แล้วว่า เช็คพิพาททั้งสองฉบับถึงกำหนดและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแล้ว ผู้ทรงย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บรรดาผู้สลักหลังผู้สั่งจ่าย ฯลฯ ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 959 ประกอบกับมาตรา 989 จำเลยทั้งสองผู้ถูกฟ้องในมูลหนี้ตามเช็คหาอาจจะต่อสู้โจทก์ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับนายวิวัฒน์ ผู้ทรงคนก่อนนั้นได้ไม่ เว้นแต่การโอนจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล
ปัญหาที่ว่าการโอนเช็คพิพาททั้งสองฉบับระหว่างนายวิวัฒน์กับโจทก์ได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉลหรือไม่นั้น เห็นว่า นอกจากจำเลยทั้งสองเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า ขณะที่มอบเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้นายวิวัฒน์ไปนั้น จำเลยทั้งสองกับนายวิวัฒน์ตกลงกันว่านายวิวัฒน์จะบังคับการใช้เงินตามเช็คดังกล่าวได้ต่อเมื่อภาพยนตร์ที่ร่วมกันสร้างได้ฉายทาง โทรทัศน์ จนมีกำไร เมื่อได้กำไรแล้วก็จะแบ่งกัน และจำเลยที่ 2 จะชำระหนี้เงินยืมให้นายวิวัฒน์ แต่จนกระทั่งบัดนี้ยังไม่มีการชำระบัญชีกันอย่างถูกต้องนายวิวัฒน์ได้โอนเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้โจทก์ซึ่งเป็นทนายความประจำสำนักงานภาพยนตร์ของนายวิวัฒน์เองแล้ว จำเลยทั้งสองยังมีสำเนาคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 10905/2527 ของศาลอาญาเอกสารหมาย ล.1 สำเนาคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 13738/2526ของศาลแขวงพระนครเหนือ เอกสารหมาย ล.2 สำเนาคำเบิกความของโจทก์ในคดีหมายเลขดำที่ 3270/2526 ของศาลอาญา และสำเนาคำเบิกความของโจทก์ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3890/2526 ของศาลแขวงพระนครเหนือ เอกสารหมาย ล.4 มาเป็นพยานเอกสารประกอบอีกด้วย ว่าในคดีหมายเลขแดงที่ 10905/2527 ของศาลอาญาและในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 10738/2526 ของศาลแขวงพระนครเหนือโจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 2 นายวิวัฒน์ ธรรมชวนวิริยะ กับนายสมบูรณ์ แสงทอง เข้าหุ้นกันจัดรายการโทรทัศน์ที่สถานีโทรทัศน์สี กองทัพบกช่อง 5 ชื่อรายการรักกันไว้เถิด ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นเจ้าซอใจซื่อ ส่วนโจทก์เข้าหุ้นเป็นการส่วนตัวกับนายวิวัฒน์คำเบิกความของโจทก์ในคดีก่อนทั้งสองคดีเจือสมกับคำเบิกความของจำเลยทั้งสองในข้อที่ว่า โจทก์ในฐานะที่เข้าหุ้นเป็นการส่วนตัวกับนายวิวัฒน์ และในฐานะทนายความประจำสำนักงานภาพยนตร์ของนายวิวัฒน์ น่าจะรู้ถึงข้อตกลงระหว่างนายวิวัฒน์นายสมบูรณ์กับจำเลยที่ 2 ในการเข้าหุ้นกันจัดรายการโทรทัศน์ดังกล่าว ยิ่งกว่านั้น จำเลยทั้งสองยังมีสำเนารายงานการตรวจพิสูจน์เช็คพิพาทฉบับแรกในคดีหมายเลขดำที่ 3270/2526 ของศาลอาญาเอกสารหมาย ล.5 และสำเนารายงานการตรวจพิสูจน์เช็คพิพาทฉบับที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3890/2526 ของศาลแขวงพระนครเหนือเอกสารหมาย ล.6 มาแสดงว่า ลายมือที่เขียนข้อความช่องลงวันที่ในเช็คพิพาททั้งสองฉบับไม่ใช่ลายมือของจำเลยที่ 1 ซึ่งสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองนำสืบ จึงน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ลงวันเดือนปีในเช็คพิพาททั้งสองฉบับเนื่องจากมีข้อตกลงกันว่า นายวิวัฒน์จะบังคับให้ใช้เงินตามเช็คได้ต่อเมื่อภาพยนตร์ที่ร่วมกันสร้างได้ฉายทางโทรทัศน์จนมีกำไรเมื่อได้กำไรแล้วก็จะแบ่งกัน แล้วจำเลยที่ 2 จะชำระหนี้เงินยืมให้นายวิวัฒน์พร้อมกับรับเช็คพิพาททั้งสองฉบับคืนมาให้จำเลยที่ 1 อันเป็นการส่อแสดงว่าจำเลยทั้งสองมิได้ยินยอมให้โจทก์จดวันสั่งจ่ายเช็คลงไปเองฉะนั้น เช็คพิพาททั้งสองฉบับที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่าย และจำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลัง แล้วมอบให้นายวิวัฒน์ จึงเป็นเช็คที่ออกให้แก่นายวิวัฒน์ผู้ทรงคนก่อนเพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญาหุ้นส่วน เมื่อนายวิวัฒน์ยังไม่ปฏิบัติตามสัญญาหุ้นส่วนโดยไม่จัดการชำระบัญชีกันให้ถูกต้องแล้วกลับโอนเช็คให้โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นการยืมมือโจทก์ฟ้องดังนี้ย่อมถือว่า โจทก์กับนายวิวัฒน์คบคิดกันฉ้อฉลจำเลยทั้งสอง ดังนั้นจำเลยที่ 1ผู้สั่งจ่ายและจำเลยที่ 2 ผู้สลักหลังไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ข้อที่โจทก์อ้างว่าเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2525 จำเลยที่ 2 ได้มาขอยืมเงินนายวิวัฒน์ ธรรมชวนวิริยะ ที่สำนักงานสร้างภาพยนตร์ของนายวิวัฒน์ ซึ่งโจทก์เป็นทนายความประจำอยู่ นายวิวัฒน์ไม่มีเงินให้ยืม จึงให้โจทก์ออกเงินแทน โจทก์จึงมอบเงินให้จำเลยที่ 2 ไป 66,000 บาท จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คพิพาท 2 ฉบับให้ใช้เงินแก่ผู้ถือรวมเป็นเงิน 66,000 บาท แล้วจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาททั้งสองฉบับและส่งมอบให้โจทก์ไปนั้น ก็ปรากฏจากคำเบิกความของโจทก์เองว่า โจทก์มีเงินสดติดตัวเพียงวันละประมาณ 1,000-2,000 บาท เท่านั้น ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์รู้ตัวล่วงหน้ามาก่อนว่าจำเลยที่ 2 จะขอยืมเงินสดจากโจทก์เป็นเงิน 66,000 บาท โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจ้างคนหนึ่งในสำนักงานของนายวิวัฒน์ จึงไม่น่าจะมีเงินสดให้จำเลยที่ 2 ยืมไป เป็นเงินจำนวนมากเช่นนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทก์ไม่นำนายวิวัฒน์มาสืบโดยไม่ปรากฏเหตุขัดข้องแต่อย่างใด ข้ออ้างของโจทก์จึงไม่น่าเชื่อ ด้วยเหตุผลดังวินิจฉัยมา ศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักยิ่งกว่าพยานหลักฐานของโจทก์”
พิพากษายืน

Share