แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ร้องเช่าที่ดินซึ่งจำเลยมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับ ส..ต่อมาได้แบ่งแยกที่ดิน. ที่ดินส่วนที่ผู้ร้องเช่าตกได้แก่ ส.แล้ว.ส.ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนนี้ให้แก่โจทก์. โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินส่วนของโจทก์. จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา. ศาล พิพากษาขับไล่จำเลย. โจทก์จึงขอให้บังคับผู้ร้องออกจากที่ดินนั้นในฐานะบริวารของจำเลย ดังนี้. เมื่อสัญญาเช่าระหว่างผู้ร้องกับจำเลยยังใช้บังคับได้อยู่. สัญญานี้ต้องผูกพัน ส.ผู้เป็นเจ้าของรวม. แม้ ส.โอนกรรมสิทธิ์ส่วนของตนให้โจทก์. โจทก์ย่อมต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของ ส.ผู้โอนซึ่งมีต่อผู้ร้องตามสัญญาเช่านั้นด้วย. ผู้ร้องจึงไม่อยู่ในฐานะบริวารของจำเลย(อ้างฎีกาที่ 90/2507).
ย่อยาว
เดิมโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินของโจทก์ จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวาร ผู้ร้องอ้างว่าไม่ได้เป็นบริวารของจำเลย เข้าอยู่ในที่ดินโดยเช่าจากจำเลย โจทก์ต้องรับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่ ศาลชั้นต้นเห็นว่า ที่ดินที่ผู้ร้องเช่ามีจำเลยกับนายเสนเป็นเจ้าของร่วมกัน จำเลยมีอำนาจให้เช่าได้ แม้ต่อมาแบ่งแยกโฉนด ที่ดินที่ผู้ร้องเช่าอยู่ในเขตโฉนดของนายเสน นายเสนโอนให้โจทก์ โจทก์ย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ ผู้ร้องไม่ใช่บริวาร โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า สัญญาเช่าเป็นบุคคลสิทธิผูกพันเฉพาะจำเลยกับผู้ร้องไม่ผูกพันนายเสน เพราะนายเสนไม่ได้ยินยอมด้วย ถือว่าผู้ร้องเป็นบริวารจำเลย พิพากษากลับให้ผู้ร้องปฏิบัติตามคำบังคับ ผู้ร้องฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า การที่นายสอนจำเลยเจ้าของรวมให้ผู้ร้องเช่าที่ดินตามเอกสารหมาย ร.1 ถึง ร.7 นั้น ย่อมมีสิทธิทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1358 ที่ผู้ร้องเข้าปลูกเรือนอยู่อาศัย ก็โดยอาศัยสิทธิของสัญญาเช่าดังกล่าว แม้ภายหลังจะมีการแยกโฉนดและเรือนของผู้ร้องทั้ง 7 จะอยู่ในเขตโฉนดซึ่งเป็นของนายเสนก็ตาม นายเสนก็ต้องผูกพันโดยสัญญาเช่านั้นด้วย เพราะเป็นเจ้าของรวมกันจำต้องรับผิดชอบร่วมกันด้วย ผู้ร้องทั้ง 7 ได้เข้าปลูกเรือนอยู่อาศัยในที่ที่ตนเช่าตลอดมา ย่อมแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่นายเสน และโจทก์ว่าผู้ร้องทั้ง 7 ได้ปลูกเรือนอยู่อาศัยในที่ที่แยกโฉนดมาเป็นของนายเสน ครั้นเมื่อนายเสนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 4792 ให้โจทก์ โจทก์ย่อมทราบดีว่าผู้ร้องทั้ง 7 ปลูกเรือนอยู่ในที่นายเสน ที่นายเสนโอนขายให้โจทก์ไป สัญญาเช่าดังกล่าวก็ยังคงอยู่หาได้ระงับไปด้วยไม่ โจทก์ก็ต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ตามสัญญานั้นด้วย (เทียบตามแบบอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ 90/2507ระหว่างสิบตำรวจเอกเสรี รอดประชา โจทก์ นายพยอม กาญจนลักษณ์ จำเลย)ที่ศาลอุทธรณ์ยกเหตุว่า การเช่าเป็นบุคคลสิทธิก็ย่อมผูกพันเฉพาะจำเลยกับผู้ร้องซึ่งเป็นคู่สัญญาเช่ากัน หาผูกพันนายเสนเจ้าของรวมไม่ เพราะนายเสนมิได้ให้ความยินยอมด้วย สัญญาเช่าจึงไม่ผูกพันโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ผู้ร้องทั้ง 7 เช่าที่จากนายสอนจำเลยและปลูกเรือนอยู่ถึง 7 ห้องตั้งแต่ปี 2504 จนปี 2505 จึงแบ่งโฉนดและจ่ายให้โจทก์ปี 2507 ในระหว่างนั้นนายเสนก็มิได้โต้แย้งอื่นใดเลย แสดงว่านายเสนได้รู้เห็นด้วยตลอดมา สัญญาเช่าย่อมผูกพันนายเสนและโจทก์ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดมาชอบแล้ว ฎีกาผู้ร้องทั้ง 7 ฟังขึ้น พิพากษากลับ บังคับคดีตามศาลชั้นต้น.