คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2183/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินและรถยนต์ที่ ต. ลูกหนี้โจทก์ทำขึ้นก่อนตาย โดยขอให้ทายาทของ ต. รับผิดชดใช้หนี้สินของ ต. แก่โจทก์ด้วยนั้น แม้ปรากฏว่า ขณะฟ้อง ต. ไม่มีทรัพย์มรดกและทายาทก็ไม่ได้รับมรดกของ ต. การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ดังกล่าว ก็เป็นการฟ้องเพื่อให้ทรัพย์ที่ ต. ยกให้บุคคลอื่น นั้นกลับมาเป็นทรัพย์มรดกของ ต. โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องทายาทในฐานะผู้รับมรดกของ ต. ให้รับผิดต่อโจทก์ได้ แต่ทายาทของ ต. ก็ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน
การที่ศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญาพิพากษายกฟ้องผู้ใต้บังคับบัญชาของ ต. ในข้อหายักยอกเงินของโจทก์แล้ว แต่ ต. ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาและเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และมีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องการเงินของโจทก์ ก็ยังทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอมรับผิดชดใช้เงินของทางราชการที่ขาดหายไปให้แก่โจทก์แสดงว่า ต. คงจะรู้ว่าตนปฏิบัติหน้าที่บกพร่องจึงยอมทำหนังสือรับสภาพหนี้เช่นนั้น ดังนี้ จะถือว่า ต.ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไปโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญของนิติกรรมหาได้ ไม่
หนี้ที่ ต. ก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างการสมรส เนื่องจาก ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความประมาทเลินเล่อ จนต้องรับผิดชดใช้เงินให้ทางราชการนั้น มิใช่หนี้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1482 เดิมหรือมาตรา 1490 ใหม่
ที่ดินที่บิดาจำเลยที่ 1 ยกให้จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลย ที่ 1 สมรสกับ ต.แล้ว และการยกให้มิได้ระบุว่าให้ เป็นสินส่วนตัว ถือเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1466 เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะยกให้ ต. จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นอยู่ครึ่งหนึ่ง.
กรณีที่ ต. ไม่มีทรัพย์สินอื่นนอกจากที่ดินและรถยนต์ พิพาทและต.มีหนี้ที่ค้างชำระอยู่เป็นเงินถึง 153,342 บาทเศษ ซึ่ง ต. รู้ดีว่าการผ่อนชำระให้แก่โจทก์ เดือนละ 300 บาท ย่อมไม่ทำให้หนี้หมดไปในขณะที่ ต.ยังมีชีวิตอยู่ ฉะนั้น การที่ ต. ให้ความยินยอมให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและรถยนต์พิพาทที่เป็นเจ้าของอยู่ด้วยครึ่งหนึ่ง ให้แก่บุตรโดยเสน่หาย่อมเป็นการทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบได้
แม้จำเลยจะมิใช่ผู้ที่ก่อหนี้ขึ้นโดยตรง แต่เมื่อจำเลยต้องรับผิดชอบชดใช้หนี้แก่โจทก์ในฐานะที่เป็นทายาทของ ต.และโจทก์ทวงถามแล้วจำเลยไม่ยอมชำระหนี้ จำเลยย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ผิดนัด โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจาก จำเลยได้

ย่อยาว

ืโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นภริยาของ ต. มีบุตรด้วยกันคือจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ขณะ ต. รับราชการในตำแหน่งเลขานุการกรมโจทก์ ได้ปฏิบัติหน้าที่ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้เงินของโจทก์สูญหายไป ๒๙๗,๑๐๔.๕๐ บาท และ ต. ได้ทำสัญญาผ่อนชำระให้โจทก์เดือนละ ๓๐๐ บาท จนกระทั่ง ต. ถึงแก่กรรมยังคงค้างชำระอยู่อีก ๑๕๓,๓๔๒.๑๐ บาท หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ร่วมระหว่าง ต. กับจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ จึงต้องร่วมรับผิดด้วยและในระหว่างที่ ต. ผ่อนชำระหนี้โจทก์ ต. กับจำเลยที่ ๑ ได้โอนที่ดิน ๒ แปลงกับรถยนต์ ๑ คัน ซึ่งเป็นสินสมรสให้แก่จำเลยอื่น ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบไม่อาจยึดทรัพย์สินอื่นมาชำระหนี้ได้ ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินและรถยนต์มาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ และ ต. ตามเดิม และให้จำเลยที่ ๑ในฐานะลูกหนี้ร่วมและจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ในฐานะทายาทผู้รับมรดกของ ต. ร่วมกันใช้เงิน พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๖ ให้การว่า ต. ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง ต. ไม่มีทรัพย์มรดก และ ต. ทำสัญญารับใช้หนี้แทนเพราะสำคัญผิดในสาระสำคัญของนิติกรรม หนี้ตามฟ้องไม่ใช่หนี้ร่วม ที่ดินเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ ๑ รถยนต์เป็นของสามีจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ ยกทรัพย์สินให้จำเลยอื่นโดยไม่มีเจตนาฉ้อฉลโจทก์ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการยกให้ที่ดินและรถยนต์ไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๕ ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งหกในฐานะทายาทผู้รับมรดกของ ต. ชำระเงินให้แก่โจทก์ตามฟ้อง และให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินและรถยนต์ คำขอนอกนั้นให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยทั้งหกฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องของโจทก์ระบุว่า ต. ไม่มีทรัพย์มรดก โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยรับผิดไม่ได้ และจำเลยไม่ได้รับมรดกของ ต.เห็นว่าตามคำฟ้องของโจทก์ระบุอยู่แล้วว่า ก่อนตาย ต. มีที่ดินและรถยนต์พิพาทร่วมกับจำเลยที่ ๑ แต่ ต. กับจำเลยที่ ๑ ยกทรัพย์พิพาทให้ผู้อื่นไปเสียเป็นการฉ้อฉลโจทก์โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลเพื่อให้ทรัพย์ดังกล่าวกลับมาเป็นทรัพย์มรดกของ ต. และจำเลยที่ ๑ ตามเดิม ฉะนั้นโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยซึ่งเป็นทายาทในฐานะผู้รับมรดกของ ต. ให้รับผิดต่อโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๙๙ และมาตรา ๑๖๐๐ ส่วนจำเลยซึ่งเป็นทายาทก็ไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๐๑ ฎีกาของจำเลยในเรื่องนี้ฟังไม่ขึ้น
ในปัญหาที่จำเลยฎีกาว่า ศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าผู้ใต้บังคับบัญชาของ ต. มิได้ยักยอกเงินของโจทก์ไป การที่ ต. ทำสัญญารับสภาพหนี้ยอมชดใช้เงินของทางราชการที่ขาดหายไป จึงเป็นการสำคัญผิดในสาระสำคัญของนิติกรรมนั้น เห็นว่าในขณะที่ ต. ทำหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว ต. เป็นเลขานุการกรมโจทก์ ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลการรับจ่าย เก็บรักษาเงินของทางราชการให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ เมื่อเงินของโจทก์ดังกล่าวขาดหายไป ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่า ต. ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดปล่อยปละละเลย มิได้ตรวจสอบสมุดบัญชีเงินสดและสมุดบัญชีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งมิได้ตรวจเงินคงเหลือประจำวัน ตลอดจนเอกสารหลักฐานการเงินต่าง ๆ ซึ่ง ต. คงรู้อยู่แก่ใจว่าตนปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง จึงยอมทำหนังสือรับสภาพหนี้ที่จะชำระหนี้ดังกล่าวให้โจทก์ ข้ออ้างของจำเลยที่ว่า ต. ไม่ได้ประมาทเลินเล่อ ไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน และที่ศาลวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าผู้ใต้บังคับบัญชาของ ต. ทุจริตนั้น เป็นคนละเรื่องกับปัญหาที่ว่า ต.ประมาทเลินเล่อไม่ควบคุมดูแลข้าราชการใต้บังคับบัญชา เป็นเหตุให้เงินของทางราชการขาดหายไป จะนำเอาคำวินิจฉัยของศาลที่ไม่ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาของ ต. รับผิดมาวินิจฉัยปะปนกับเรื่องนี้ไม่ได้ อีกประการหนึ่ง ต. เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หนังสือรับสภาพหนี้ที่ ต. ทำขึ้นนั้น ล้วนแต่ทำขึ้นหลังจากที่ศาลพิพากษายกฟ้องคดีที่ผู้ใต้บังคับบัญชาของ ต. ถูกฟ้องเป็นจำเลยในข้อหายักยอกทรัพย์แล้วทั้งสิ้นซึ่งแสดงว่า ต. หาได้สำคัญผิดในสาระสำคัญของนิติกรรมแต่อย่างใดไม่
สำหรับปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่า หนี้ที่ ต. ทำสัญญารับสภาพหนี้ยอมชดใช้หนี้ให้แก่ทางราชการนี้เป็นหนี้ร่วมระหว่าง ต. กับจำเลยที่ ๑ หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าแม้หนี้รายนี้จะเป็นหนี้ซึ่งก่อขึ้นในระหว่างสมรสของ ต. และจำเลยที่ ๑ แต่หนี้รายนี้ก็มิใช่หนี้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๘๒ เดิมหรือมาตรา ๑๔๙๐ ที่บัญญัติใหม่ ฉะนั้นจึงไม่ใช่หนี้ร่วมที่จำเลยที่ ๑ จะต้องร่วมรับผิดด้วย
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๒๑๕ และ ๒๐๙๔๗ เป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ ๑ หรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ฟังได้ว่า บิดาจำเลยที่๑ยกให้จำเลยที่ ๑ เมื่อจำเลยที่ ๑ สมรสกับ ต. แล้ว และการยกให้มิได้ระบุว่าให้เป็นสินส่วนตัว ฉะนั้น ที่พิพาทจึงเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๖๖ เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะยกให้ ต. จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทอยู่ครึ่งหนึ่ง
จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ศาลจะเพิกถอนการฉ้อฉลไม่ได้ เพราะ ต. มิได้เป็นผู้ยกให้ ต. เป็นแต่เพียงผู้ให้ความยินยอมและขณะยกให้ ต. ต้องชำระหนี้เพียงเดือนละ ๓๐๐ บาท ซึ่ง ต. สามารถชำระได้นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ฟังได้ว่านอกจากที่ดินและรถยนต์พิพาทแล้ว ต. ไม่มีทรัพย์สินอย่างอื่นอีก สำหรับที่ดินแม้ชื่อในโฉนดจะเป็นชื่อของจำเลยที่ ๑ ผู้เดียว แต่เมื่อ ต. มีสิทธิเป็นเจ้าของอยู่ครึ่งหนึ่งในฐานะเป็นคู่สมรส การที่ ต. ให้ความยินยอมให้จำเลยที่ ๑ โอนที่ดินอันเป็นสินสมรสให้แก่บุตรโดยเสน่หา ก็ย่อมเป็นการฉ้อฉลได้ และหนี้ที่ ต. มีอยู่มิใช่เพียง ๓๐๐ บาท หากเป็นเงินถึง ๑๕๓,๓๔๒ บาท ๐๑ สตางค์ ซึ่ง ต. ย่อมรู้ดีว่าการชำระเพียงเดือนละ ๓๐๐ บาท ย่อมไม่ทำให้หนี้หมดไปได้ในขณะที่ ต. ยังมีชีวิตอยู่ ฉะนั้นการที่ ต. ยอมให้มีการโอนที่ดินดังกล่าวไปเสียก่อนในขณะตนมีชีวิตย่อมเป็นการทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบเพราะไม่มีทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ที่เจ้าหนี้จะยึดมาชำระหนี้ได้ ส่วนรถยนต์คันพิพาทก็ฟังได้ว่าเป็นของ ต. และจำเลยที่ ๑ ร่วมกัน ศาลจึงเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินและรถยนต์ได้
ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยร่วมกันรับผิดในดอกเบี้ยของต้นเงิน ๑๕๓,๓๔๒ บาท ๐๑ สตางค์ นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อ ต. ถึงแก่กรรม จำเลยซึ่งเป็นทายาทจะต้องรับผิดชดใช้หนี้ให้แก่โจทก์ และเมื่อโจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยไม่ยอมชำระหนี้ จำเลยในฐานะทายาทย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ผิดนัดและต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลย เพราะจำเลยไม่ได้เป็นผู้ก่อหนี้โดยตรงนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งหกในฐานะทายาทของ ต. ร่วมกันชดใช้ดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามฟ้องด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share