คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2182/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้รับคำสั่งจากผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 2 ให้นำท่อน้ำไปทำเกลียว จำเลยที่ 1 จึงขับรถไปตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 โดยผูกท่อน้ำไว้กับรถของจำเลยที่ 1 ขณะที่จำเลยที่ 1 จอดรถอยู่ในช่องทางที่ 3 ซึ่งอยู่ติดกับเกาะกลางถนน โจทก์ขับรถยนต์มาชนท่อน้ำที่ผูกติดกับรถจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้บังโคลนรถโจทก์ได้รับความเสียหาย และตาทั้งสองข้างของโจทก์พิการ เมื่อพิจารณาได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้ละเว้น ไม่ทำเครื่องหมายให้ปลอดภัยไว้ท้ายท่อน้ำซึ่งยื่นพ้นออกมาจากท้ายรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ถึง 2 เมตร อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการจราจร และเป็นการประมาทเลินเล่อ ส่วนโจทก์ซึ่งขับรถมาชนท่อน้ำนั้น ได้ใช้ความระมัดระวังในการขับรถในขณะเกิดเหตุพอสมควรแก่พฤติการณ์แวดล้อมแล้ว ดังนี้จำเลยที่ 1 ย่อมต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2ก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้นด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 ตามทางการที่จ้าง ขับรถยนต์บรรทุกท่อน้ำขนาด 6 หุนยาว 6.10 เมตร 1 ท่อน ผูกไว้ที่ข้างรถด้านซ้ายสูงจากพื้นรถประมาณครึ่งเมตร ยื่นล้ำออกนอกตัวถังด้านท้ายรถเกินกว่าที่กฎหมายอนุญาตไว้และมิได้มีเครื่องหมายแสดงให้เห็นว่าบรรทุกของยื่นล้ำออกมานอกตัวถังรถ โจทก์ขับรถยนต์ตามมาข้างหลังรถจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1ขับรถยนต์เลยเกาะกลางถนนด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังและฝ่าฝืนกฎหมาย จำเลยที่ 1 เลี้ยวรถไปทางขวาโดยไม่ได้ให้สัญญาณเลี้ยวขวา และเมื่อเลี้ยวขวายังไม่ตลอดคัน จำเลยที่ 1 ก็หยุดรถทันทีโดยมิได้ให้สัญญาณ เป็นเหตุให้ท่อน้ำที่ยื่นล้ำออกมาสอดเข้ามาทางช่องหูช้างของรถยนต์ที่โจทก์ขับมา ท่อน้ำทิ่มตาของโจทก์ข้างขวาบาดเจ็บ แล้วไถลทิ่มดวงตาข้างซ้ายของโจทก์หลุดออกจากเบ้า เป็นเหตุให้ตาพิการตลอดชีวิต รถที่โจทก์ขับหันรถมานอกเส้นทาง ชนท้ายรถบรรทุกซึ่งวิ่งอยู่ในอีกเส้นทางหนึ่ง ทำให้รถโจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 แต่เป็นลูกจ้างของผู้อื่น และปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของผู้อื่น อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นความประมาทของโจทก์ค่าเสียหายของโจทก์มีไม่มากอย่างที่โจทก์เรียกร้อง

ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีของโจทก์ยังไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยประมาทและฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายดังโจทก์ฟ้อง ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นเรื่องค่าเสียหายพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า วันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้รับคำสั่งจากนายสุนทร เจริญสุขวัฒนะผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 2 ให้นำท่อน้ำไปทำเกลียวจำเลยที่ 1 จึงขับรถไปตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 โดยผูกท่อน้ำไว้กับรถของจำเลยที่ 1 ขณะที่จำเลยที่ 1 จอดรถอยู่ในช่องทางที่ 3 ซึ่งอยู่ติดกับเกาะกลางถนน โจทก์ขับรถยนต์มาชนท่อน้ำที่ผูกติดกับรถจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้บังโคลนหน้ารถโจทก์ได้รับความเสียหายและตาทั้งสองข้างของโจทก์พิการ

ในปัญหาว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยฝ่าฝืนกฎหมายและโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยคำพยานทั้งสองฝ่ายแล้วฟังว่า ท่อน้ำที่จำเลยที่ 1 บรรทุกรถมาข้างท้ายรถยื่นพ้นออกมา 2 เมตรนั้น ไม่มีผ้าแดงผูกไว้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการจราจร

ในปัญหาว่า โจทก์ได้ใช้ความระมัดระวังในการขับรถในขณะเกิดเหตุพอสมควรแก่พฤติการณ์แวดล้อมหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่โจทก์มองไม่เห็นท่อน้ำในรถจำเลยจากด้านหน้าต่างหูช้างของรถโจทก์นั้นจะถือว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อเพราะโจทก์ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการขับรถในขณะเกิดเหตุพอสมควรมิได้

เมื่อจำเลยที่ 1 ละเว้นไม่ทำเครื่องหมายให้ปลอดภัยไว้ท้ายท่อน้ำซึ่งยื่นออกมาจากรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว และการละเว้นของจำเลยที่ 1 นั้นเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและเป็นการประมาทเลินเล่ออันเป็นเหตุทำให้โจทก์ได้รับอันตรายถึงสาหัส เช่นนี้ จำเลยที่ 1ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดต่อโจทก์

ในประเด็นที่ว่า จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ และประเด็นค่าเสียหายมีเพียงใด ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้แต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 และกระทำภายในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 แต่ประเด็นอื่นศาลล่างยังไม่ได้วินิจฉัยศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงในอันที่จะวินิจฉัยประเด็นทั้งสองข้อนี้คู่ความทั้งสองฝ่ายได้นำสืบไว้แล้ว เห็นควรวินิจฉัยให้เสร็จไป

ในประเด็นที่ว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ไว้ว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 แต่เป็นลูกจ้างของผู้อื่น และปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของผู้อื่นแต่ในชั้นนำสืบ จำเลยก็มิได้นำสืบตามที่ต่อสู้ไว้ แต่กลับนำสืบเจือสมคำพยานฝ่ายโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 และกระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้แล้ว ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพื่อการละเมิดรายพิพาทนี้

ประเด็นค่าเสียหายนั้น โจทก์ฝ่ายเดียวนำสืบโดยจำเลยมิได้นำสืบคัดค้าน ศาลฎีกากำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ให้แก่โจทก์ทั้งสิ้น 243,300 บาท

พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์

Share