คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 218/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยจำเลยที่ 1 ยอมชดใช้เงินให้โจทก์ศาลมีคำพิพากษาตามยอมแล้วจำเลยที่ 1 กลับเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลย ขอให้ใช้ค่าเสียหายอ้างว่าโจทก์และทนายความของจำเลยร่วมกันฉ้อฉลทำสัญญาประนีประนอมต่อศาลให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในคดีดังกล่าวดังนี้ มูลคดีที่จำเลยนำไปฟ้องก็คือมูลคดีที่มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีนี้ จึงเป็นการฟ้องในมูลคดีเรื่องเดียวกัน มิใช่เป็นการฟ้องคดีเรื่องอื่นตามความหมายมาตรา 293 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง อันจะเป็นเหตุให้ศาลงดการบังคับคดีได้
การที่ทนายความของจำเลยลงชื่อในคำบังคับซึ่งออกตามคำพิพากษาของศาล ถือได้ว่าทนายความซึ่งเป็นตัวแทนได้กระทำไปในขอบอำนาจในฐานะทนายความแทนจำเลยซึ่งเป็นตัวการย่อมมีผลผูกพันจำเลย และถือได้ว่าจำเลยทราบคำบังคับของศาลแล้ว

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากจำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ในคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้คืนเงินมัดจำและค่าที่ดินเพราะจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจะซื้อจะขาย นำที่ดินไปโอนขายให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 โดยไม่สุจริต เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการยึดเงินฝากของจำเลยที่ 1 ที่ธนาคารเพื่อนำมาชำระให้โจทก์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจำเลยที่ 1 จึงร้องขอให้ศาลงดการบังคับคดีไว้ก่อน โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ได้ฟ้องโจทก์คดีนี้ตามสำนวนคดีแพ่งที่ 307/2515 แล้วถ้าชนะคดีก็สามารถหักกลบลบหนี้กันได้ กับร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณา ยกเลิกหมายบังคับคดีหรืองดการบังคับคดีไว้เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ทราบคำบังคับของศาล

ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 307/2515 ของศาลชั้นต้นที่จำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยให้ชดใช้จำนวนเงิน 160,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 อ้างว่า ถ้าเป็นฝ่ายชนะคดีก็สามารถหักกลบลบหนี้กันได้นั้น ปรากฏตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2515 ตอนหนึ่งกล่าวว่า โจทก์และทนายความของจำเลยทั้งสามคนร่วมกันฉ้อฉลทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 150,000 บาท จนศาลได้มีคำพิพากษาตามยอม ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหาย ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์และทนายความของจำเลยทั้งสามคนเป็นคดีแพ่งขึ้นใหม่ (คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 307/2515) ดังนี้เหตุที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาให้ใช้ค่าเสียหายในคดีแพ่งดังกล่าว เนื่องจากจำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์และทนายความของจำเลยทั้งสามร่วมกันฉ้อฉลทำสัญญาประนีประนอมยอมความ มูลคดีที่นำไปฟ้องก็คือมูลคดีที่มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีนี้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง จำเลยที่ 1 เอาเหตุที่มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีนี้ไปฟ้องเป็นคดีแพ่งขึ้นใหม่นั่นเอง จึงเป็นการฟ้องในมูลกรณีเรื่องเดียวกันกับคดีเรื่องนี้ มิใช่เป็นการฟ้องคดีเรื่องอื่นตามความหมายมาตรา 293แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง อันจะเป็นเหตุให้ศาลงดการบังคับคดีได้ ส่วนในเรื่องที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ยังไม่ทราบคำบังคับของศาล การที่ทนายความของจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในคำบังคับของศาล ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ทราบคำบังคับของศาลนั้นปรากฏว่าคำพิพากษาตามยอมในคดีนี้ศาลได้ออกคำบังคับแล้วโดยนายนุกูล ธรรมสาคร ทนายความของจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานแสดงว่าได้ทราบคำบังคับของศาลแล้ว การที่ทนายความของจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในคำบังคับซึ่งออกตามคำพิพากษาของศาลถือได้ว่าทนายความของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทน ได้กระทำไปในขอบเขตอำนาจในฐานะทนายความแทนจำเลยที่ 1 ตัวความซึ่งเป็นตัวการย่อมมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ตามกฎหมายถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ทราบคำบังคับของศาลแล้ว และการที่จำเลยที่ 1 แต่งตั้งทนายความคนใหม่ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมคดีนี้ตลอดจนในเรื่องที่จำเลยที่ 1 ร้องขอให้ศาลงดการบังคับคดี พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้ทราบคำบังคับของศาลตั้งแต่วันที่ศาลได้มีคำพิพากษาตามยอม ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของจำเลยที่ 1 ที่ขอให้งดการบังคับคดีนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

พิพากษายืน

Share