แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อบังคับของบริษัทจำเลยมีว่า ‘การประชุมวิสามัญจะเรียกประชุมเมื่อใดก็ได้ในเมื่อคณะกรรมการบริษัทเห็นสมควรหรือผู้ถือหุ้นรวมกันนับจำนวนหุ้นได้ถึงหนึ่งในห้าของหุ้นทั้งหมดทำหนังสือขอให้เรียกประชุมวิสามัญ’ ตามข้อบังคับข้อนี้กำหนดให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการที่จะเรียกประชุม มิใช่กรรมการคนใดคนหนึ่งแต่เพียงคนเดียว แม้ว่าผู้ถือหุ้นรวมกันทำหนังสือขอให้เรียกประชุมวิสามัญ ก็จะต้องทำหนังสือถึงคณะกรรมการ แล้วคณะกรรมการเป็นผู้เรียกประชุม
ปรากฏว่า ม. กรรมการเพียงคนเดียวเป็นผู้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลยในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2513 โดยไม่ได้เสนอคำร้องขอของผู้ถือหุ้นต่อคณะกรรมการบริหารของบริษัทจำเลยตามข้อบังคับในวันประชุม ส. ประธานกรรมการบริษัทจำเลยได้สั่งระงับการประชุม ม. ยอมรับคำสั่งแต่โดยดี แต่แล้วกลับละเมิดคำสั่งได้ดำเนินการประชุมต่อไป ที่ประชุมแต่งตั้ง ท. เป็นประธานของที่ประชุมโดยที่ ท. มิได้มีคุณสมบัติตามข้อบังคับที่จะเป็นได้การประชุมดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยข้อบังคับคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามมติของที่ประชุมครั้งนั้นจึงเป็นคณะกรรมการที่ไม่ชอบไม่มีอำนาจบริหารและไม่มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2513 มติต่างๆ ของที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 11 ตุลาคม 2513จึงไม่มีผล
ที่คำขอท้ายฟ้องข้อ 1 ขอให้ศาลพิพากษาว่า การประชุมใหญ่ของบริษัทจำเลยเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2513 และมติต่างๆ ที่ลงไว้ไม่มีผลใช้บังคับ และคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 ขอให้ศาลพิพากษาว่า โดยผลของการประชุมใหญ่ของบริษัทจำเลยเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2513ตกเป็นโมฆะตามกฎหมายและข้อบังคับแล้ว การใดหรือมติใดที่กระทำไปโดยคณะกรรมการของบริษัทจำเลยดังกล่าวในข้อ 1 จึงตกเป็นโมฆะนั้น คำขอท้ายฟ้องข้อ 2 เป็นการเท้าความถึงเท่านั้นหาได้มุ่งหมายจะให้ศาลพิพากษาว่าการประชุมใหญ่ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2513. และมติเป็นโมฆะไม่ ทั้งคำบรรยายฟ้องก็มิได้บรรยายในทำนองนั้น แท้ที่จริงประสงค์จะให้พิพากษาว่า การใดหรือมติใดที่กระทำไปโดยคณะกรรมการของบริษัทจำเลยดังกล่าวในข้อ 1 ของคำขอท้ายฟ้อง คือการประชุมและมติในวันที่ 11 ตุลาคม 2513 ตกเป็นโมฆะที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 1 ก็เป็นการเพียงพอแล้วไม่จำเป็นต้องพิพากษาตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 อีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า การประชุมใหญ่ของบริษัทจำเลยครั้งที่2/2513 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2513 และมติต่าง ๆ ของ ที่ประชุมใหญ่นั้นใช้บังคับไม่ได้ การใดหรือมติใดที่กระทำไปโดยคณะกรรมการของบริษัทจำเลยตกเป็นโมฆะ
จำเลยให้การว่า การประชุมครั้งที่ 2/2513 ถูกต้องตามกฎหมาย มติของที่ประชุมในวันนั้นมีผลสมบูรณ์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ในครั้งนี้
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้การประชุมใหญ่ของบริษัทจำเลยเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2513 และมติต่าง ๆ ที่ลงไว้ในการประชุมใหญ่ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2513 ไม่มีผลใช้บังคับได้เช่นเดียวกัน
จำเลยฎีกา
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า มีการประชุมใหญ่ 3 ครั้ง คือการประชุมในวันที่ 22กุมภาพันธ์ 2513 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2513 และวันที่ 11 ตุลาคม 2513การประชุมใหญ่ที่เป็นปัญหาจะต้องวินิจฉัยในคดีนี้คือการประชุมในวันที่22 กุมภาพันธ์ 2513 และวันที่ 11 ตุลาคม 2513 ว่าเป็นไปโดยชอบหรือไม่
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามข้อบังคับของบริษัทจำเลย ข้อ 20 มีว่า “การประชุมวิสามัญจะเรียกประชุมเมื่อใดก็ได้ ในเมื่อคณะกรรมการบริษัทเห็นสมควร หรือผู้ถือหุ้นรวมกันนับจำนวนหุ้นได้ถึงหนึ่งในห้าของหุ้นทั้งหมด ทำหนังสือขอให้เรียกประชุมวิสามัญ”ตามข้อบังคับข้อนี้กำหนดให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการที่จะเรียกประชุม มิใช่กรรมการคนใดคนหนึ่งแต่เพียงคนเดียว แม้ว่าผู้ถือหุ้นรวมกันทำหนังสือขอให้เรียกประชุมวิสามัญก็จะต้องทำหนังสือถึงคณะกรรมการแล้วคณะกรรมการเป็นผู้เรียกประชุม คดีนี้ปรากฏว่าพันตำรวจตรีมงคลกรรมการเพียงคนเดียวเป็นผู้เรียกประชุมในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2513 คำฟ้องของโจทก์บรรยายว่า พันตำรวจตรีมงคลกรรมการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นโดยไม่ได้เสนอคำร้องขอของผู้ถือหุ้นต่อคณะกรรมการบริหารของบริษัทจำเลยตามข้อบังคับ ข้อ 20ในวันประชุมนาวาอากาศเอกสำราญประธานกรรมการบริษัทจำเลยได้สั่งระงับการประชุมพันตำรวจตรีมงคลยอมรับคำสั่งแต่โดยดี แต่แล้วกลับละเมิดคำสั่งได้ดำเนินการประชุมต่อไปที่ประชุมแต่งตั้งนายทองคำ เปรมฤทัย เป็นประธานของที่ประชุม โดยที่นายทองคำมิได้มีคุณสมบัติที่จะเป็นได้ เพราะนายทองคำไม่ได้เป็นกรรมการของบริษัทตามข้อบังคับ ข้อ 23 จำเลยให้การแต่เพียงว่าการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2513 ดำเนินไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย ฟังไม่ได้ว่ามีผู้ถือหุ้นจำนวนถึง 1 ใน 5 ของหุ้นทั้งหมด รวมกันทำหนังสือขอให้มีการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามมติของที่ประชุมครั้งนั้นจึงเป็นคณะกรรมการที่ไม่ชอบ ไม่มีอำนาจบริหารและอำนาจเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2513เมื่อพิเคราะห์ถึงความมุ่งหมายของผู้ถือหุ้นที่ขอให้เรียกประชุมใหญ่ดังปรากฏในเอกสารหมาย ล.2 ว่า คณะกรรมการชุดที่นายทองคำเป็นกรรมการยังมิได้รับมอบกิจการและทรัพย์สินของบริษัทจากคณะกรรมการชุดเก่าทั้งยังมีคดีกันอยู่ ขอให้มีการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเพื่อแถลงความเป็นไปของบริษัทในระหว่างนั้น และพิจารณาว่าควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไปจึงจะเป็นผลดีแก่บริษัทและผู้ถือหุ้นทั้งหลาย นายทองคำบันทึกไว้ข้างท้ายเอกสารหมาย ล. 2 ให้นัดประชุมใหญ่ในวันที่ 11 ตุลาคม 2513 ตามคำร้องขอของผู้ถือหุ้นปรากฏตามเอกสารหมาย ล.4 และ ล.5 ว่า ผู้ถือหุ้น 28 ราย จำนวนหุ้น489 หุ้น มอบฉันทะให้พันตำรวจตรีมงคลเข้าประชุมแทน พันตำรวจตรีมงคลพยานจำเลยเบิกความว่าหุ้นทั้งหมดมีประมาณ 1,000 หุ้น ตามหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับ เอกสารหมาย จ.3 พันตำรวจตรีมงคลมีหุ้นอยู่ 50 หุ้น มติของที่ประชุมครั้งนี้ให้ถอนฟ้องคดีล้มละลายหมายเลขดำที่ 59/2513 ซึ่งนายสนิท ธรรมวิวัฒน์ ผู้ถือหุ้น 123 หุ้น (ตามเอกสารหมาย ล.4) เป็นจำเลยและตามเอกสารหมาย 1 ท้ายคำให้การจำเลย นายสนิทเป็นกรรมการบริษัทในชุดนายทองคำด้วยกับมีมติให้ถอนฟ้องคดีอาญาฐานยักยอกหมายเลขดำที่ 7302/2511 ของศาลแขวงพระนครใต้ซึ่งพันตำรวจตรีมงคลเป็นจำเลย ปรากฏว่าพันตำรวจตรีมงคลกับนายสนิทต่างลงคะแนนเสียงให้ตนเองด้วย ดังนี้ เห็นได้ว่าการประชุมครั้งนี้ส่อเจตนาไม่สุจริตต่อบริษัทจำเลย ไม่ตรงตามความประสงค์ของผู้ถือหุ้นที่ร้องขอให้มีการประชุมใหญ่ตามเอกสารหมาย ล.2 ดังกล่าว ก่อนการประชุมครั้งวันที่ 11 ตุลาคม 2513นี้ นาวาอากาศเอกสำราญ แย้มศรีบัว กับนายภิรมย์กมลงาม ได้ไประงับการประชุมแล้ว ตามเอกสารหมาย จ.1 คณะกรรมการชุดนายทองคำเป็นคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นโดยไม่ชอบด้วยข้อบังคับของบริษัทจำเลย การนัดประชุมใหญ่ในวันที่ 11 ตุลาคม 2513 โดยกรรมการชุดนี้ไม่ชอบด้วยข้อบังคับบริษัทข้อ 20ประกอบกับพฤติการณ์ของการประชุมดังได้กล่าวมาข้างต้น มติต่าง ๆ ของที่ประชุมครั้งนี้จึงไม่มีผล ใช้บังคับไม่ได้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาตามคำขอท้ายฟ้อง ข้อ 1 ว่า ให้การประชุมใหญ่ของบริษัทจำเลยเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม2513 และมติต่าง ๆ ที่ลงไว้ไม่มีผลใช้บังคับได้นั้น ชอบแล้ว ส่วนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าการใดหรือมติใดที่ลงไว้ในการประชุมใหญ่วันที่ 22 กุมภาพันธ์2513 ก็ไม่มีผลใช้บังคับได้เช่นเดียวกันนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 กล่าวว่า “2. ขอศาลได้โปรดพิพากษาว่า โดยผลของการประชุมใหญ่ของบริษัทจำเลยเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2513 ตกเป็นโมฆะตามกฎหมายและข้อบังคับแล้ว การใดหรือมติใดที่กระทำไปโดยคณะกรรมการของบริษัทจำเลยดังกล่าวในข้อ 1 จึงตกเป็นโมฆะ” นั้น ที่กล่าวถึงการประชุมในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2513 ตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 นี้ เป็นการเท้าความถึงเท่านั้น หาได้มุ่งหมายจะให้พิพากษาว่า การประชุมใหญ่ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์2513 และมติเป็นโมฆะไม่ ทั้งคำบรรยายฟ้องก็มิได้บรรยายในทำนองนั้นแท้ที่จริงประสงค์จะให้พิพากษาว่า การใดหรือมติใดที่กระทำไปโดยคณะกรรมการของบริษัทจำเลยดังกล่าวในข้อ 1 ของคำขอท้ายฟ้องคือการประชุมและมติในวันที่ 11 ตุลาคม 2513 ตกเป็นโมฆะ ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาตามคำขอท้ายฟ้อง ข้อ 1 ก็เป็นการเพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องพิพากษาตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 อีก
พิพากษาแก้เฉพาะข้อที่ศาลอุทธรณ์ว่า การใดหรือมติใดที่ลงไว้ในการประชุมใหญ่ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2513 ไม่มีผลใช้บังคับได้นั้นเป็นให้ยกข้อนี้เสีย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์