แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ฉะนั้นปัญหา ข้อเท็จจริงตามที่จำเลยฎีกาซึ่งยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แล้วศาลฎีกาจึงไม่ยกขึ้นวินิจฉัยอีก จำเลยมีธนบัตรรัฐบาลไทยปลอมไว้เพื่อนำออกใช้และจำเลยได้นำธนบัตรดังกล่าวไปใช้ซื้อผลไม้จากผู้เสียหายถือได้ว่าเป็นความผิดสำเร็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 244แล้ว แม้ว่าผู้เสียหายจะยังไม่ทันรับไว้สมบูรณ์ด้วยการ ทอนเงินที่เหลือจากค่าซื้อผลไม้แก่จำเลยก็ตาม ปัญหาว่า ศาลอุทธรณ์วางโทษจำคุกแก่จำเลยหนักเกินไปหรือไม่แม้เป็นปัญหาข้อเท็จจริงอันต้องห้ามฎีกาก็ตาม แต่เมื่อ ฎีกาของจำเลยได้ขึ้นสู่ศาลฎีกาโดยปัญหาข้อกฎหมาย หากศาลฎีกา เห็นว่าโทษที่จำเลยจะพึงได้รับตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ รุนแรงเกินไป ศาลฎีกาก็ชอบที่จะยกขึ้นพิจารณาได้เพื่อ ให้เกิดประโยชน์แก่ความยุติธรรม และพิพากษาวางโทษ จำคุกแก่จำเลยในสถานเบากว่านั้นได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32, 33, 244, 91, 83 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 244 ประกอบมาตรา 83 ฐานร่วมกันใช้ธนบัตรปลอมกับผู้เสียหายที่ 1 ให้จำคุกคนละ 7 ปี ฐานร่วมกันใช้ธนบัตรปลอมกับผู้เสียหายที่ 2 ให้จำคุกคนละ 7 ปี การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ต้องเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เป็นจำคุกคนละ 14 ปีจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ7 ปี ของกลางริบ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานร่วมกันใช้ธนบัตรปลอมกับผู้เสียหายที่ 1 จำคุก 3 ปี และร่วมกันใช้ธนบัตรปลอมกับผู้เสียหายที่ 2 จำคุก 3 ปี รวมสองกระทง จำคุกคนละ 6 ปีจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุกคนละ3 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยทั้งสองเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ฉะนั้น ปัญหาข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยทั้งสองไม่รู้ว่าเป็นธนบัตรรัฐบาลไทยปลอมก็ดี หรือการกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นการบั่นทอนเศรษฐกิจของประเทศให้อ่อนแอ และไม่มีเถยจิตเป็นโจร หรือไม่มีเจตนากระทำความผิดก็ดี ถือว่าได้ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ศาลฎีกาจึงจะไม่ยกขึ้นวินิจฉัยอีก
ส่วนปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองแก่ผู้เสียหายที่ 1 เป็นความผิดอยู่ในขั้นพยายามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 หรือ 81 หรือไม่นั้น เห็นว่าเรื่องนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 244 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งสิ่งใด ๆ อันตนได้มาโดยรู้ว่าเป็นของปลอม ต้องระวางโทษ” ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมีธนบัตรรัฐบาลไทยปลอมดังกล่าวไว้เพื่อนำออกใช้โดยได้ใช้ซื้อผลไม้จากผู้เสียหายที่ 1 กรณีก็ถือได้ว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้ว ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวแม้ว่าผู้เสียหายที่ 1 จะยังไม่ทันรับไว้สมบูรณ์ด้วยการทอนเงินที่เหลือจากค่าซื้อผลไม้แก่จำเลยทั้งสองแล้วก็ตาม จำเลยทั้งสองก็ต้องมีความผิดตามฟ้อง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วางโทษจำคุกแก่จำเลยทั้งสองหนักเกินไปหรือไม่ซึ่งข้อนี้เป็นปัญหาข้อเท็จจริงอันต้องห้ามฎีกา แต่ในเมื่อฎีกาของจำเลยทั้งสองได้ขึ้นสู่ศาลฎีกาโดยปัญหาข้อกฎหมายหากศาลฎีกาเห็นว่า โทษที่จำเลยทั้งสองจะพึงได้รับตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 รุนแรงเกินไปแม้จำเลยทั้งสองจะไม่ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็ชอบที่จะยกขึ้นพิจารณาได้เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ความยุติธรรม และรูปคดีจึงด้วยเหตุดังกล่าวตามพฤติการณ์ในสำนวน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วางโทษจำคุกแก่จำเลยทั้งสองกระทงละ 3 ปี เห็นว่าหนักไป ควรที่จะได้วางโทษจำคุกแก่จำเลยทั้งสองในสถานเบากว่านั้น และโดยเฉพาะจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นภริยา โดยสภาพชนบทน่าจะเป็นแต่ผู้ที่คอยคล้อยตามจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามี จึงเพื่อให้เกิดความเหมาะสมแก่โทษานุโทษของแต่ละคนตามสภาวะแวดล้อมของสังคมและท้องถิ่น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 จำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 4 ปี จำเลยที่ 2 จำคุกกระทงละ 2 ปี และปรับกระทงละ 5,000 บาท รวม 2 กระทง จำคุก 4 ปี และปรับ 10,000 บาท เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี จำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี และปรับ 5,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ประกอบกับจำเลยที่ 2 เป็นผู้หญิงในฐานะภริยาน่าจะไม่ใช่ตัวการสำคัญ ทั้งไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนสมควรให้รอการลงโทษแก่จำเลยที่ 2 ไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 มีกำหนด 2 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือน ต่อ 1 ครั้งเป็นระยะเวลา 1 ปี และให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่เจ้าพนักงานและจำเลยที่ 2 เห็นสมควรครั้งละไม่เกิน 3 ชั่วโมง รวมแล้วมีกำหนด 12 ชั่วโมง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1