คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2176/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทางแยกนั้นมิได้หมายความ.เฉพาะบริเวณตรงที่ถนนอันเป็นทางตามความหมายของพระราชบัญญัติจราจรทางบกมาตัดผ่านกันเท่านั้น แต่หมายความรวมตลอดถึงตรงบริเวณที่มีถนนซอยเป็นทางแยกจากถนนอีกสายหนึ่งด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2513 เวลากลางวัน จำเลยได้ขับขี่รถยนต์ด้วยความประมาท ขณะที่จำเลยขับรถมาถึงปากซอยโยธีอันเป็นการขับผ่านทางแยกตามกฎหมายกำหนดให้ขับรถด้วยความเร็วไม่เกิน20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่จำเลยขับรถด้วยความเร็วไม่น้อยกว่า 68.18 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งไม่มองดูข้างหน้าให้เห็นความปลอดภัยเสียก่อน ขณะนั้นนายประพนธ์ขับรถยนต์สวนทางมา และมาเลี้ยวขวาเพื่อจะเข้าถนนซอยโยธี ด้วยความประมาทรถจำเลยจึงชนรถของนายประพนธ์ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พุทธศักราช 2477 มาตรา 29(4),66 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2508 มาตรา 7, 13 กฎกระทรวง ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2509ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พุทธศักราช 2477 ข้อ 10

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พุทธศักราช 2477 มาตรา 29(4), 66 พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2508 มาตรา 7, 13 กฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบกพุทธศักราช 2477 ข้อ 10 ให้ปรับจำเลย 500 บาท จำเลยไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทน

จำเลยอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์

จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธณ์สั่งรับอุทธรณ์ และพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ปรับจำเลย 200 บาท นอกจากที่แก้ไขให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะข้อ 2(1) และ (2) ที่จำเลยฎีกาว่าจุดที่เกิดเหตุ คือซอยโยธี ไม่ใช่ทางแยกตามกฎหมาย เมื่อที่เกิดเหตุมิใช่ทางแยกข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นแสดงว่านายประพนธ์ขับรถตัดหน้ารถยนต์ของจำเลยในทางที่มิใช่ทางแยกในระยะน้อยกว่า 15 เมตรอันเป็นการผิดพระราชบัญญัติจราจรทางบกเสียเองจะลงโทษจำเลยไม่ได้

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พุทธศักราช 2477มาตรา 4(5) วิเคราะห์ศัพท์คำว่า “ทาง” หมายความว่า ทางหลวง ทางราษฎร์และถนน คือทางรถ ทางเท้า ช่องทาง ลาน ทางร่วม และทางข้ามสะพาน บรรดาที่มหาชนมีสิทธิสัญจรและอยู่ในความกำกับตรวจตราของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเทศบาล แต่ไม่หมายความตลอดถึงทางรถไฟ ฉะนั้นณ บริเวณตรงที่ถนนอันเป็นทางตามความหมายของกฎหมายดังกล่าวมาตัดผ่านกัน ก็ย่อมเป็นทางร่วม ทางแยกจริงดังที่จำเลยยกขึ้นกล่าวในฎีกาแต่จะมีให้มีความหมายรวมตลอดถึงตรงที่ที่มีถนนซอยเป็นทางแยกจากถนนอีกสายหนึ่งด้วยนั้น ไม่ถูกต้อง เมื่อมีถนนซอยไปจากอีกถนนหนึ่งก็มีความหมายตามธรรมดาว่าแยกไปทางถนนซอยนั้นได้ เมื่อถนนซอยโยธีเป็น “ทาง” ประกอบกับเป็นทางแยกจากถนนพระราม 6 เช่นนี้ ตรงที่เกิดเหตุจึงเป็นทางแยก ซึ่งจำเลยจะต้องเดินรถให้ช้าลงพอควร ตามมาตรา 13 ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว ข้อโต้เถียงของจำเลยที่ว่าเมื่อมิใช่ทางแยก และนายประพนธ์ขับรถในทางที่มิใช่ทางแยก กระทำความผิดเสียเองจึงลงโทษไม่ได้ ย่อมตกไปด้วย

พิพากษายืน

Share