แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานจำเลยโดยได้กำหนดนัดไว้ก่อนวันนัดถึง 2 เดือนเศษและคดีนี้จำเลยได้ขอเลื่อนคดีมาหลายครั้งแล้วจนกระทั่งศาลชั้นต้นต้องกำชับจำเลยว่าจะไม่ให้เลื่อนคดีอีก ดังนี้ การที่ทนายจำเลยจะขอเลื่อนคดีไปอีก จึงต้องเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งและไม่อาจก้าวล่วงได้ เมื่อตามคำร้องขอเลื่อนคดีของทนายจำเลยดังกล่าวไม่ได้แสดงให้เห็นว่า การขอเลื่อนคดีของทนายจำเลยเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนและสำคัญยิ่งไปกว่ากำหนดที่ได้นัดกับศาลชั้นต้นและคู่ความอีกฝ่าย การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีจึงชอบแล้ว
คดีก่อนคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่มีสิทธิขอรับเงินประกันการเช่า 5,000,000 บาท ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ประเด็นในคดีก่อนจึงมีว่าจำเลยมีสิทธิเรียกเงินประกันการเช่า 5,000,000 บาท คืนจากโจทก์หรือไม่ส่วนคดีนี้มีประเด็นว่าจำเลยมีสิทธิขอให้นำเงินประกันการเช่า 5,000,000 บาทมาหักชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ ประเด็นจึงต่างกัน ไม่อาจนำผลของคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในคดีก่อนมาผูกพันจำเลยในคดีนี้ได้
จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่า ลูกหนี้จึงมีสิทธิริบเงินประกันการเช่าได้ เงินประกันการเช่าดังกล่าวแม้ในสัญญาเช่าจะไม่เรียกเบี้ยปรับ แต่ข้อที่กำหนดไว้ในสัญญาที่ให้ลูกหนี้อาจใช้สิทธิริบเอาได้นั้นมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับเงินประกันการเช่าดังกล่าวจึงเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381 ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกจากสถานที่เช่า และส่งมอบกิจการโรงงานแก่โจทก์ ให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างชำระจำนวน 2,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด (วันที่ 16 ธันวาคม 2536)ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 224,794.52 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 500,000 บาท นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2536 เป็นต้นไป จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 11,750,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องเป็นเงิน (ที่ถูกรวมค่าเสียหายและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน) 12,647,996.58 บาท และให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากสถานที่เช่า
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ต้องชำระค่าเช่าที่ค้างให้โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย และไม่มีสิทธิให้จำเลยส่งมอบกิจการโรงงานให้โจทก์ โจทก์มิได้ขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์สินที่เช่า จำเลยไม่ต้องชำระค่าเสียหายให้โจทก์ ดอกเบี้ยที่โจทก์คิดจากค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยซ้ำซ้อน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากสถานที่เช่าและส่งมอบกิจการโรงงานแก่โจทก์ในสภาพเดิม ให้จำเลยชำระเงินค่าเช่าที่ค้างชำระจำนวน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันผิดนัด (วันที่ 16 ธันวาคม 2536) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 224,794.52 บาท ให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 11,750,000 บาท และชำระค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 16 มิถุนายน 2538) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากสถานที่เช่า
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อแรกของจำเลยมีว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีชอบหรือไม่ เห็นว่า ในวันนัดสืบพยานจำเลยทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่า ทนายจำเลยเพิ่งได้รับแจ้งว่ามีผู้พบเห็นรถยนต์คันที่ถูกคนร้ายลักไป และทนายจำเลยกำลังติดตามอยู่นั้น อยู่ที่จังหวัดสระแก้วทนายจำเลยจึงต้องเร่งรีบไปติดตามรถยนต์คันดังกล่าว หากชักช้าอาจไม่ทันการรถยนต์คันดังกล่าวอาจสูญหายได้ ทนายจำเลยจึงไม่อาจมาศาลได้ ตามคำร้อง ดังกล่าวไม่ได้ความว่ารถยนต์ที่ถูกลักไปนั้นเป็นของทนายจำเลย และไม่ปรากฏว่าเหตุใดทนายจำเลยจะต้องติดตามรถยนต์ดังกล่าวไปเอง รถยนต์ดังกล่าวหายไปตั้งแต่เมื่อใด มีผู้พบเห็นเมื่อใด ในลักษณะใด และเมื่อพบเห็นแล้วเหตุใดจึงไม่แจ้งเจ้าพนักงานตำรวจในท้องที่นั้นให้รีบจัดการจะได้ทันท่วงทีแทนที่จะให้ทนายจำเลยซึ่งอยู่ถึงกรุงเทพมหานครไปจัดการในวันดังกล่าวทนายจำเลยมีนัดสืบพยานจำเลยที่ศาลชั้นต้นโดยได้กำหนดวันนัดไว้ตั้งแต่ วันที่ 25 กรกฎาคม 2539 ก่อนวันนัดถึง 2 เดือนเศษ ซึ่งเป็นที่เห็นได้ว่าที่ต้องใช้เวลานานเช่นนี้ เพราะต้องหาวันที่ทนายจำเลย ทนายโจทก์และศาลชั้นต้นมีวันว่างตรงกันทั้งจำเลยก็ได้ขอเลื่อนคดีมาหลายครั้งแล้ว จนกระทั่งศาลชั้นต้นต้องกำชับจำเลยว่าจะไม่ให้เลื่อนคดีอีกดังนั้น การที่ทนายจำเลยจะขอเลื่อนคดีไปอีก จึงต้องเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งและไม่อาจก้าวล่วงได้ แต่ตามคำร้องขอเลื่อนคดีของทนายจำเลยดังกล่าวมาข้างต้น ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าการขอเลื่อนคดีของทนายจำเลยเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนและสำคัญยิ่งไปกว่ากำหนดที่ได้นัดกับศาลชั้นต้นและคู่ความอีกฝ่ายการที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีจึงชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อต่อไปของจำเลยมีว่า จำเลยมีสิทธิขอให้นำเงินประกันการเช่า 5,000,000 บาท มาหักชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2533 จำเลยทำสัญญาเช่ากิจการโรงงานทอผ้า พร้อมทั้งใบอนุญาตประกอบกิจการและทรัพย์สินทั้งหมดของลูกหนี้มีกำหนด 5 ปี โดยลูกหนี้จะไปจดทะเบียนการเช่าให้ในเวลาต่อไปค่าเช่าเดือนละ 500,000 บาท หากผิดนัดชำระค่าเช่า 3 เดือน ติดต่อกันให้ถือว่าจำเลยผิดสัญญาลูกหนี้มีสิทธิบอกเลิกสัญญาทันที และจำเลยได้มอบเงิน5,000,000 บาท ให้ลูกหนี้ไว้เพื่อประกันการเช่า หากจำเลยผิดสัญญาลูกหนี้มีสิทธิริบเงินดังกล่าวได้ ถ้าลูกหนี้ผิดสัญญาต้องคืนเงินดังกล่าวและต้องเสียค่าปรับเป็นเงินสองเท่าของเงินดังกล่าวแก่จำเลยตามสัญญาเช่าโรงงานเอกสารหมาย จ.6 หลังจากทำสัญญาเช่าแล้ว จำเลยได้ชำระค่าเช่าให้ลูกหนี้ตลอดมา ต่อมาบริษัทไดอานิค จำกัด เป็นโจทก์ฟ้องขอให้ศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลาย จำเลยจึงตกลงกับลูกหนี้ของดชำระค่าเช่าตั้งแต่เดือนเมษายน 2534 ไว้ก่อน ศาลแพ่งได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2534ให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดและต่อมาวันที่ 27 สิงหาคม 2536 ศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย เมื่อศาลแพ่งมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอปฏิบัติตามสัญญาเช่าต่อไป ต่อมาวันที่ 30 ตุลาคม 2534 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาเช่าต่อไปจนครบกำหนด 3 ปี นับแต่วันทำสัญญาเช่าและให้จำเลยนำเงินค่าเช่าที่ค้างชำระตั้งแต่เดือนมีนาคม 2534 ถึงเดือนตุลาคม 2534 เป็นเงิน 4,000,000 บาท มาชำระให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ต่อมาวันที่ 28 พฤศจิกายน 2534จำเลยยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอผ่อนชำระเงินค่าเช่าดังกล่าวให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เดือนละไม่น้อยกว่า 100,000 บาท โดยจะชำระงวดแรกในวันที่ 15 ธันวาคม 2534 ต่อมาวันที่ 3 ธันวาคม 2534 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อนุญาตตามคำขอของจำเลยโดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยต้องชำระหนี้ค่าเช่า 4,000,000 บาท ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดสัญญาเช่าซึ่งเหลืออีก 20 เดือน ปรากฏว่าเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าแล้วจำเลยยังคงค้างชำระค่าเช่าในส่วนที่ขอผ่อนชำระอยู่อีก 2,000,000 บาท เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีคำสั่งให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวแต่จำเลยไม่ยอมปฏิบัติตาม และเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2534 จำเลยได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยอ้างว่าลูกหนี้จะต้องคืนเงินประกันการเช่า 5,000,000 บาท ให้จำเลย และลูกหนี้จะต้องเสียค่าปรับอีก 10,000,000 บาท เนื่องจากลูกหนี้ไม่ไปดำเนินการจดทะเบียนการเช่าให้แก่จำเลยตามสัญญาเช่า ต่อมาวันที่ 29 พฤศจิกายน 2538 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำรายงานความเห็นว่าจำเลยไม่ได้ชำระค่าเช่าที่ค้างตามคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่า 3 เดือน ติดต่อกัน จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่า ลูกหนี้มีสิทธิริบเงินประกันการเช่าได้และลูกหนี้มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าปรับ 10,000,000 บาทแก่จำเลย เห็นควรยกคำขอรับชำระหนี้ของจำเลย ศาลแพ่งมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของจำเลยตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ในคดีดังกล่าวพิพากษายืน คู่ความไม่ฎีกา เห็นว่า ในคดีก่อน คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยไม่มีสิทธิขอรับเงินประกันการเช่า 5,000,000 บาท ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ประเด็นในคดีก่อนมีว่าจำเลยมีสิทธิเรียกเงินประกันการเช่า 5,000,000 บาท คืนจากโจทก์หรือไม่ ส่วนคดีนี้มีประเด็นว่าจำเลยมีสิทธิขอให้นำเงินประกันการเช่า 5,000,000 บาท มาหักชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ ประเด็นจึงต่างกันไม่อาจนำผลของคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในคดีก่อนมาผูกพันจำเลยในคดีนี้ได้ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของจำเลยไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ปัญหาว่า จำเลยมีสิทธิขอให้นำเงินประกันการเช่า 5,000,000 บาท มาหักชำระหนี้หรือไม่ เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่า ลูกหนี้จึงมีสิทธิริบเงินประกันการเช่าได้ เงินประกันการเช่าดังกล่าวแม้ในสัญญาเช่าจะไม่เรียกเบี้ยปรับแต่ข้อที่กำหนดไว้ในสัญญาที่ให้ลูกหนี้ อาจใช้สิทธิริบเอาได้นั้นมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ เงินประกันการเช่าดังกล่าวจึงเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381 ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของลูกหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 แล้วสมควรกำหนดเบี้ยปรับให้เป็นเงิน 1,000,000 บาท เมื่อนำไปหักออกจากเงินประกันการเช่า 5,000,000 บาทแล้ว คงเหลือ 4,000,000 บาท ชอบที่จะนำไปชำระค่าเช่าที่ค้างชำระจำนวน2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องอีกจำนวน 224,794.52 บาท คงเหลือ 1,775,205.48 บาท เมื่อนำไปหักชำระในส่วนค่าเสียหาย 11,750,000 บาท แล้ว จำเลยยังคงต้องรับผิดชำระค่าเสียหายถึงวันฟ้องเป็นเงิน 9,974,794.52 บาท ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเฉพาะค่าเสียหายถึงวันฟ้องเป็นเงิน 9,974,794.52 บาท และค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากสถานที่เช่า นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์