คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2174/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญาเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันระหว่างธนาคารโจทก์กับจำเลยที่ 1 กำหนดเงื่อนไขไว้หลายข้อที่แสดงว่าโจทก์จะจ่ายเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเงินจากบัญชีไม่เกินจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ฝากเข้าบัญชี จำเลยที่ 1 จึงไม่มีเจตนาตกลงกันโดยตรงว่าสืบแต่นั้นไป หรือในชั่วระยะเวลากำหนดอันใดอันหนึ่งให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหักกลบลบกันคงชำระแต่ส่วนที่เหลือโดยดุลยภาค อันเป็นลักษณะสำคัญของสัญญาบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 และถือไม่ได้โดยปริยายว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้เดินสะพัดบัญชีกัน ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้น โจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้ตกลงให้คิดดอกเบี้ยไว้ในสัญญาและจำเลยที่ 1 ก็มิได้ตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยตามอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ถือว่าโจทก์และจำเลยไม่ได้ตกลงกันเรื่องดอกเบี้ย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีโดยวิธีธรรมดานับแต่วันผิดนัดตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2521 จำเลยที่ 1เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ 300 กับธนาคารโจทก์สาขาโคกกลอยและได้เดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์โดยการนำเงินเข้าฝากและสั่งจ่ายเช็คเบิกเงินจากโจทก์หลายครั้งครั้งใดยอดตามบัญชีปรากฏจำเลยที่ 1เป็นหนี้โจทก์ โจทก์ก็คิดดอกเบี้ยตามอัตราและประเพณีของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเพียงวันที่ 3 กันยายน 2530 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยรวม 66,828.70 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี
จำเลยทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 13,744.82 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 13,273 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์โดยตลอดแล้วมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า การที่โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ 300 ต่อธนาคารโจทก์สาขาโคกกลอยตามใบขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เอกสารหมาย จ.4 เข้าลักษณะเป็นบัญชีเดินสะพัดหรือไม่ โจทก์มีนายจิรวุฒิ พงษ์มาผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 300 ต่อธนาคารโจทก์สาขาโคกกลอย โดยมีข้อตกลงตามสัญญาดังที่ได้ระบุไว้ในใบคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เอกสารหมาย จ.4 จำเลยที่ 1 นำเงินเข้าฝาก 4 ครั้ง ปรากฏตามเช็ค เอกสารหมาย จ.6 และใบฝากเงินเอกสารหมาย จ.7 เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นเอากับจำเลยที่ 1 ในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย การเดินสะพัดทางบัญชีปรากฏตามการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เอกสารหมาย จ.20และคำแปล เอกสารหมาย จ.21 ศาลฎีกาเห็นว่า สัญญาเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถือสาระสำคัญตามเงื่อนไขระเบียบการบัญชีการฝากกระแสรายวันประกอบคำขอในเอกสารหมาย จ.4 เงื่อนไข ข้อ 3 มีว่า “การใช้เช็คถอนเงินในบัญชีเงินฝากนั้น ผู้ฝากจะต้องใช้เช็คของธนาคารซึ่งได้มอบให้ไว้แก่ผู้ฝากเฉพาะราย ธนาคารจะไม่จ่ายเงินให้ถ้าผู้ฝากใช้เช็คของผู้ฝากรายอื่นเขียนสั่งจ่ายเงิน” ข้อ 11 “ถ้าบัญชีเงินฝากของผู้ฝากมีเงินไม่พอจ่ายตามเช็ค ธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินโดยสิ้นเชิงในกรณีที่เงินฝากในบัญชีฝากมีไม่พอจ่ายตามเช็คหลายฉบับที่นำมาขึ้นเงินพร้อม ๆ กัน ธนาคารอาจจ่ายเงินให้ตามเช็คฉบับใดก็ได้ตามที่เห็นสมควร” ข้อ 20 “เมื่อธนาคารได้ยินยอมเปิดบัญชีเงินฝากให้ผู้ฝากรายใดตามที่ขอมาแล้วเป็นอันถือว่าผู้ฝากรายนั้นได้ยอมรับปฏิบัติตามระเบียบการนี้ทุกประการ” แสดงว่าธนาคารโจทก์จะจ่ายเงินตามเช็คไม่เกินจำนวนที่จำเลยที่ 1 ฝากเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันโจทก์จำเลยที่ 1 จึงไม่มีเจตนาตกลงกันโดยตรงว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วระยะเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหักกลบลบกัน คงชำระแต่ส่วนที่เหลือโดยดุลยภาค อันเป็นลักษณะสำคัญของสัญญาบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 856 และถือไม่ได้โดยปริยายว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้เดินสะพัดบัญชีกัน ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นเอากับจำเลยที่ 1 มีปัญหาต่อไปว่า โจทก์จะคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราเท่าใดโจทก์ฎีกาว่าโจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ15 ต่อปี ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เอกสารหมาย จ.8ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505มาตรา 14 แต่ประกาศดังกล่าวให้ธนาคารคิดดอกเบี้ยในข้อ 3(ข) ได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์ไม่ได้กำหนดไว้ในเงื่อนไขตามเอกสารหมายจ.4 เห็นได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้ตกลงให้คิดดอกเบี้ยไว้ในสัญญา และจำเลยที่ 1 ก็มิได้ตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยตามอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดจึงถือว่าโจทก์และจำเลยไม่ได้ตกลงกันเรื่องดอกเบี้ยโจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี โดยวิธีธรรมดานับแต่วันผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 เท่านั้น ศาลฎีกา เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share