คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 298/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ส่งสินค้าออกทำคำรับรองจะขายเงินตราต่างประเทศแก่ธนาคารแห่งประเทศไทยตามวิธีการแห่ง พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน2485 ผู้รับสินค้าออกต้องผูกพันตามคำรับรองนั้น กระทรวงการคลังฟ้องเรียกให้ขายเงินตราหรือค่าเสียหายได้ภายใน 10 ปี ตาม มาตรา164 อันเป็นอายุความทั่วไป

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า ใน พ.ศ. 2489 จำเลยได้ขออนุญาตส่งเกลือถั่ว มะขามเปียก ซึ่งเป็นของที่ต้องมีใบอนุญาตตามกฎหมายออกไปนอกราชอาณาจักร เพื่อแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศรวม 64 ใบอนุญาตคิดราคาของทั้งสิ้นเป็นเงิน 4,595 ปอนด์สเตอร์ลิงก์ จำเลยได้กระทำการและปฏิบัติการตามกฎหมายและกฎกระทรวงการคลัง ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน โดยจำเลยได้เข้าทำสัญญาผูกพันตนต่อเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์โดยจำเลยรับรองขายเงินตราต่างประเทศจำนวน 4,595 ปอนด์สเตอร์ลิงที่ได้มาจากการขายของที่ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์โดยผ่านทางธนาคารรับอนุญาตในกำหนด 6 เดือน นับแต่วันส่งของออกจำเลยได้รับอนุญาตให้ส่งของรวม 64 ใบอนุญาต ดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักรได้ใน พ.ศ. 2489 จำเลยได้รับเงินตราต่างประเทศจำนวนดังกล่าวเป็นค่าของที่ส่งออกไปแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องขายเงินตราต่างประเทศจำนวนนั้นให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยตัวแทนของโจทก์โดยผ่านทางธนาคารรับอนุญาตตามกฎกระทรวงการคลัง ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 และตามสัญญาที่จำเลยได้ทำผูกพันต่อเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินดังกล่าวข้างต้นเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้เรียกร้องให้จำเลยขายเงินตราต่างประเทศจำนวน 4,595 ปอนด์สเตอร์ลิงก์ ตามอัตราแลกเปลี่ยนของรัฐบาลในขณะทำสัญญาราคา 1 ปอนด์สเตอร์ลิงก์ เท่ากับ 34 บาท 85 เศษ 3 ส่วน 8 สตางค์ให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยตัวแทนของโจทก์โดยผ่านทางธนาคารรับอนุญาตแต่จำเลยผิดนัดและเพิกเฉยเสีย กระทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขาดประโยชน์อันควรจะได้จากการใช้หรือรับประโยชน์จากเงินตราต่างประเทศนี้ไป 1 ปอนด์สเตอร์ลิงก์ละ 23 บาท 14 เศษ 5 ส่วน 8สตางค์ รวมเป็นเงิน 106,357 บาท 2 สตางค์ จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยขายเงินตราต่างประเทศ 4,595 ปอนด์สเตอร์ลิงก์ ในอัตราปอนด์สเตอร์ลิงก์ละ 34 บาท 85 เศษ 3 ส่วน 8 สตางค์ ให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยตัวแทนของโจทก์โดยผ่านทางธนาคารรับอนุญาตหรือแก่โจทก์ ถ้าจำเลยไม่สามารถขายเงินตราต่างประเทศดังกล่าวได้ขอให้จำเลยใช้เงิน 106,357 บาท 2 สตางค์ แก่โจทก์หรือธนาคารแห่งประเทศไทยตัวแทนของโจทก์ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียม ค่าทนายแทนโจทก์

จำเลยให้การและยื่นคำร้องเพิ่มเติมว่า

(1) ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม เพราะโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยได้ขออนุญาตส่งเกลือ ถั่ว มะขามเปียกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศรวม 64 ใบอนุญาต คิดเป็นเงินตราต่างประเทศ 4,595 ปอนด์สเตอร์ลิงก์ นั้นไม่ปรากฏว่าใบอนุญาตฉบับใดขออนุญาตเมื่อใด ทั้งไม่ปรากฏวันขออนุญาต เลขหมายใบอนุญาตรายการสินค้า วันส่งออก และราคาเงินตราต่างประเทศที่จะต้องนำมาขายให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย

(2) จำเลยไม่เคยเข้าทำสัญญากับเจ้าหน้าที่ของโจทก์ ทั้งไม่เคยส่งของออกนอกประเทศ จำนวน 64 ใบอนุญาตดังฟ้อง และถ้าหากจะฟังว่าจำเลยได้ทำสัญญาผูกพันต่อพนักงานของโจทก์จริง จำเลยก็ทำไปในนามของร้านวิภัทรพานิช ซึ่งจำเลยไม่ต้องรับผิดชอบ หากจะฟังว่าจำเลยต้องรับผิดชอบ สินค้าที่ส่งออกก็ขายได้เงินตราต่างประเทศมาเป็นจำนวนไม่ถึงดังฟ้อง อย่างมากคิดเป็นเงินไทยไม่เกิน 20,000 บาท

(3) สิทธิเรียกเงินของโจทก์ขาดอายุความแล้ว

(4) พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 และที่แก้ไขเพิ่มเติมตลอดมา โจทก์ไม่มีอำนาจเรียกร้องหรือขอให้จำเลยชดใช้ในทางแพ่ง ในกรณีที่จำเลยไม่ขายเงินตราต่างประเทศจากจำเลยหรือบังคับให้จำเลยรับผิดเอาเงินตราต่างประเทศไปขายให้โจทก์ได้

ชั้นพิจารณา จำเลยแถลงรับในรายงานพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2499 ว่าร้านยี่ห้อวิภัทรพานิชไม่ใช่นิติบุคคล

ศาลจังหวัดสงขลาพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมทั้งข้อที่ตัดฟ้องว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องก็ฟังไม่ขึ้น คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความและเชื่อข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้ทำสัญญาผูกพันกับโจทก์จริงตามฟ้อง แม้จำเลยจะได้เข้าทำสัญญากับโจทก์ในนามของร้านวิภัทรพานิชในฐานที่จำเลยเป็นผู้จัดการ จำเลยก็ยังต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ จึงพิพากษาให้จำเลยนำเงิน 4,595 ปอนด์สเตอร์ลิงก์ไปขายให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยตัวแทนของโจทก์โดยผ่านธนาคารรับอนุญาตหรือโจทก์ในอัตราปอนด์สเตอร์ลิงก์ละ 34 บาท 85 เศษ 3 ส่วน 8 สตางค์ ถ้าไม่สามารถขายเงินปอนด์สเตอร์ลิงก์ให้โจทก์ได้ให้จำเลยใช้เงินไทยปอนด์สเตอร์ลิงก์ละ 23 บาท 14 เศษ 5 ส่วน 8 สตางค์ แก่โจทก์ หรือธนาคารแห่งประเทศไทยตัวแทนโจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมกับค่าทนายความ 500 บาท แทนโจทก์

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องเคลือบคลุม และขาดอายุความพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 และที่แก้ไขเพิ่มเติมตลอดมา ไม่ได้ให้อำนาจโจทก์เรียกร้องหรือขอให้จำเลยชดใช้ในกรณีไม่ขายเงินตราต่างประเทศ โจทก์จึงไม่มีอำนาจเรียกร้องในทางแพ่ง ทั้งข้อเท็จจริงจำเลยก็ไม่มีข้อผูกมัดอย่างใด ๆ ที่จำจะต้องขายเงินตราต่างประเทศเต็มตามจำนวนที่ระบุไว้ในใบอนุญาตจำเลยทำในนามของร้านวิภัทรพานิช แม้จะไม่ใช่นิติบุคคล จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดชอบเป็นส่วนตัว เพราะมิได้ทำในนามของตนเอง

ศาลฎีกาได้ประชุมปรึกษาคดีนี้แล้ว เห็นว่า ข้อต่อสู้ของจำเลยเรื่องฟ้องเคลือบคลุมนั้น ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยว่า ไม่เป็นฟ้องที่เคลือบคลุมและได้ให้เหตุผลไว้ถูกต้องแล้ว เพราะโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา พร้อมด้วยคำขอ ทั้งได้อ้างสิทธิซึ่งเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น โดยครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พ.ศ. 2477 มาตรา 172 แล้ว ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยก็เป็นรายละเอียดซึ่งโจทก์จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา และจำเลยก็อาจนำสืบแก้ได้ และในคดีนี้หากได้พิจารณาข้อต่อสู้และคำเบิกความของจำเลยด้วยแล้วก็จะเป็นที่ประจักษ์ว่า จำเลยไม่หลงข้อต่อสู้แต่ประการใดจำเลยยังเบิกความรับด้วยว่า ได้เคยมีการดูและรับรองเอกสารที่โจทก์มาฟ้องนี้ก่อนฟ้องแล้ว เพียงแต่จำเลยขอผัดทำความตกลงกับธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน แล้วจำเลยก็คงผัดเรื่อย ๆ มาจนกระทั่งถูกฟ้องในคดีนี้ ส่วนข้อที่ว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความนั้นก็ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะโจทก์ได้ฟ้องภายในกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ซึ่งถือว่าเป็นมาตราอันว่าด้วยอายุความทั่วไปโจทก์จึงดำเนินคดีเรียกร้องเอากับจำเลยได้

สำหรับข้อเท็จจริงในคดีนี้ แม้จำเลยจะพยายามให้การต่อสู้เบี่ยงบ่ายว่าไม่เคยส่งของออกนอกประเทศจำนวน 64 ใบอนุญาตดังฟ้องหรือทำสัญญาผูกพันต่อเจ้าพนักงานของโจทก์เลยก็ดี แต่ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นตามคำเบิกความของตัวจำเลยเองกลับปรากฎว่า จำเลยยอมรับว่ารายการส่งสินค้าตามใบอนุญาตที่โจทก์ฟ้อง และขอให้จำเลยดูนั้น จำเลยรับว่าเป็นใบอนุญาตที่ทำในนามของจำเลยเองโดยจำเลยเป็นผู้บอกให้เจ้าหน้าที่ผู้รับเขียนกรอกรายการสินค้าลงในใบอนุญาตและเมื่อได้รับใบอนุญาตแล้วจำเลยก็เป็นผู้ทำแบบ อี.ซี. 19 แบบ ล.ป. 19 ซึ่งเป็นคำรับรองประกอบใบอนุญาตขอส่งสินค้า เพื่อนำเสนอธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์ เพื่อให้เสนอต่อธนาคารแห่งประเทศไทยไว้เป็นหลักฐานว่าเมื่อได้เงินตราต่างประเทศมาแล้ว จะขายให้ธนาคารใบอนุญาตต้องส่งไปพร้อมกับสินค้าจึงจะผ่านด่านไปได้ จำเลยยังเบิกความกับต่อไปว่าของรายนี้ส่งในนามของจำเลยทั้งสิ้น และตั้งแต่ได้เงินตราต่างประเทศมาแล้ว จำเลยไม่เคยเสนอขายให้แก่ธนาคารเลยทั้งไม่เคยไปแจ้งให้ธนาคารทราบว่าขายสินค้าได้เท่าใด ฯลฯ ดังนี้จำเลยจะปฏิเสธความผูกพันต่อโจทก์หาได้ไม่ ยิ่งกว่านี้หลังจากขอผัดกับเจ้าหน้าที่หน่วยพิธีการส่วนการควบคุมปริวัตร์ของธนาคารแห่งประเทศไทยหลายครั้งแล้ว จำเลยก็รับว่าได้มีหนังสือลงวันที่ 16 ตุลาคม 2497 ถึงเจ้าหน้าที่แลกเปลี่ยนเงินอีก 1 ฉบับ เพื่อขอผัดอีกแต่จำเลยก็มิได้กล่าวโต้แย้งหรือคัดค้านว่า ขายสินค้าได้เพียงประมาณ 1,900 ปอนด์สเตอร์ลิงก์ อย่างจำเลยกล่าวอ้างในชั้นหลังนี้ทั้งไม่มีรายการละเอียดหรือหลักฐานอย่างใดมาแสดงให้เป็นที่เชื่อถือได้ จึงต้องผูกพันในหนี้รายนี้เป็นส่วนตัวตามที่โจทก์ฟ้อง ส่วนข้ออ้างในฎีกาของจำเลยที่ว่าจำเลยทำไปในนามของร้านวิภัทรพานิชซึ่งมิใช่นิติบุคคลนั้นก็เป็นการขัดกับถ้อยคำของจำเลยดังกล่าวแล้วในข้างต้น

ข้อที่จำเลยโต้เถียงมาในฎีกาอีกว่า โจทก์ไม่มีอำนาจเรียกร้องบังคับเอากับจำเลยในกรณีเช่นนี้ในทางแพ่ง เพราะพระราชบัญญัติควบคุมการเปลี่ยนเงินพ.ศ. 2485 และที่แก้ไขเพิ่มเติมตลอดมามิได้ให้อำนาจไว้ ในข้อนี้ก็ไม่ทำให้จำเลยหลุดพ้นความรับผิดในหนี้รายนี้ไปได้ทั้งนี้ เพราะก่อนหน้าที่จำเลยจะได้รับอนุญาตจากกระทรวงเศรษฐการให้ส่งสินค้าออกไปนอกประเทศ จำเลยก็จำต้องปฏิบัติตามวิธีการส่งสินค้าออก ตลอดจนให้คำรับรองที่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ที่ทางราชการได้กำหนดไว้ และเมื่อจำเลยได้ส่งสินค้าออกไปแล้วแต่หาได้ปฏิบัติตามคำรับรองว่า จะจำหน่ายเงินตราต่างประเทศให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์โดยยื่นต่อธนาคารรับอนุญาตแห่งใดแห่งหนึ่งเพื่อให้ธนาคารนั้นนำเสนอต่อธนาคารแห่งประเทศไทยต่อไปดังที่พยานโจทก์ได้นำสืบไว้แล้วจำเลยก็ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะยังมิได้ปฏิบัติการชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นไป โจทก์จึงชอบที่จะใช้สิทธิบังคับให้จำเลยชำระหนี้ในทางแพ่งได้

ด้วยเหตุดังกล่าวแล้ว จึงเห็นว่าฎีกาของจำเลยไม่มีทางจะชนะคดีได้ ศาลล่างทั้งสองได้พิพากษามา ชอบแล้ว

จึงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลทั้งสองให้ยกฎีกาจำเลย กับให้จำเลยเสียค่าทนายชั้นฎีกาแทนโจทก์เป็นเงิน 1,000 บาท

Share