คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2645/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นเจ้าพนักงานพัฒนาชุมชน มีหน้าที่ด้านพัฒนาชุมชนโดยเป็นผู้วางแผนหรือวางโครงการพัฒนาท้องถิ่นร่วมกับราษฎรและติดต่อประสานงานระหว่างราษฎรกับทางราชการ จำเลยเป็น ผู้วางโครงการจัดสร้างทำนบฝายน้ำล้นตามความต้องการของราษฎร เพื่อเสนอให้ พ. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนำไปชี้แจงขอรับ เงินจัดสรร จากรัฐบาล การที่จำเลยหลอกลวงเอาเงินราษฎรที่ เข้าร่วมประชุมด้วยการเสนอข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งโดยอ้างว่าเพื่อจะนำไปมอบ ให้ พ.เป็นค่าใช้จ่ายในการวิ่งเต้นขอจัดสรรเงินจากทางราชการ และเอาเงินนั้นไว้เป็นของตนจึงเป็นการ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 แต่การกระทำของจำเลยดังกล่าวมิได้ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบแม้จะเป็นการจูงใจ ให้ราษฎรที่ประชุมมอบเงินหรือทรัพย์สินให้แก่จำเลยก็ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148
การกระทำอันจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 นั้น ถือเอาเจตนาแสดง ข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอก ให้แจ้งแก่ประชาชนเป็นข้อสำคัญ มิได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงมากหรือน้อยเป็นเกณฑ์ การที่ จำเลยหลอกลวงเอาเงินจากราษฎรที่มาประชุมจัดสร้างทำนบ ฝายน้ำล้นแม้บุคคลที่ถูกจำเลยหลอกลวงจะมีหลายคน ก็ถือ ไม่ได้ว่าเป็นการหลอกลวงประชาชน ตามมาตรา 343
คดีที่โจทก์ฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222แต่ข้อเท็จจริง ที่ศาลอุทธรณ์ฟังมานั้นไม่พอแก่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานใน สำนวนเพิ่มเติมได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือนตำแหน่งเจ้าพนักงานพัฒนาชุมชน ๓ สังกัดกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย โดยทุจริตปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยการหลอกลวงประชาชน ราษฎรรวมสามหมู่บ้านจำนวนประมาณ ๕๐ คนที่เข้าร่วมประชุมกันตกลงจะจัดสร้างฝายน้ำล้นในเขตหมู่บ้าน โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งว่า ทางราชการไม่มีเงินงบประมาณในการจัดสร้างหากราษฎรอยากจะสร้างจำเลยจะช่วยวิ่งเต้นติดต่อนายพิทักษ์สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ช่วยติดต่อจัดสรรเงินมาให้ทำการก่อสร้างแต่ต้องมอบเงินให้แก่จำเลย ๑๐,๐๐๐ บาท เพื่อจำเลยจะได้นำไปมอบให้แก่นายพิทักษ์ โดยการหลอกลวงนั้นเป็นเหตุให้ประชาชนหลงเชื่อมอบเงิน ๑๐,๐๐๐ บาทให้แก่จำเลย ทำให้ราษฎรดังกล่าวและกรมการพัฒนาชุมชนเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๘, ๑๕๗, ๓๔๑ และ ๓๔๓
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ เมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์แล้วสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป และการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม มาตรา ๑๔๘, ๑๕๗ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับข้อหาความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ ที่มีการถอนคำร้องทุกข์ คดีเป็นอันยุติ คงมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะข้อกฎหมายที่ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๘, ๑๕๗ และเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๓ หรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๒๒แต่ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมานั้นไม่พอแก่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ได้ ศาลฎีกาเห็นควรฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนเพิ่มเติม แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานพัฒนาชุมชนประจำอำเภอโพนพิสัยมีหน้าที่ด้านพัฒนาชุมชนโดยเป็นผู้วางแผนหรือวางโครงการพัฒนาท้องถิ่นร่วมกับราษฎรในเขตท้องที่รับผิดชอบและติดต่อประสานงานระหว่างราษฎรในเขตท้องที่รับผิดชอบกันทางราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยเป็นผู้วางโครงการจัดสร้างทำนบฝายน้ำล้นที่ลำห้วยปลาปากตามความต้องการของราษฎรรวมสามหมู่บ้านในท้องที่ความรับผิดชอบของจำเลยเพื่อเสนอให้นายพิทักษ์สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองคายในขณะนั้นนำไปชี้แจงขอรับเงินจัดสรรจากทางรัฐบาลตามที่รัฐบาลจะมอบให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนำมาใช้จ่ายในการพัฒนาบ้านเมืองในเขตจังหวัดท้องที่ของตน การที่จำเลยหลอกลวงเอาเงินจากราษฎรที่เข้าร่วมประชุมด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งโดยอ้างว่าเพื่อจะนำไปมอบให้นายพิทักษ์เป็นค่าใช้จ่ายในการวิ่งเต้นขอจัดสรรเงินจากทางราชการ และเอาเงินนั้นไว้เป็นของตน จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่นายเสถียร นายสุข และนายสงค์ ผู้เสียหายทั้งสามที่เข้าประชุมราษฎรทั้งสามหมู่บ้านและร่วมกันออกเงินจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท มอบให้แก่จำเลยและทำให้เกิดความเสียหายแก่นายพิทักษ์ และกรรมการพัฒนาชุมชน เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗แต่การกระทำของจำเลยดังกล่าวข้างต้นมิได้ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ แม้จะเป็นการจูงใจให้ราษฎรที่ประชุมหรือผู้เสียหายทั้งสามมอบเงินหรือทรัพย์สินให้แก่จำเลย ก็ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๘ ส่วนการกระทำอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๓ นั้น ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชนเป็นข้อสำคัญ มิได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงมากหรือน้อยเป็นเกณฑ์ แต่ในเรื่องนี้จำเลยหลอกลวงเอาเงินจากราษฎรที่มาเข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับการที่ราษฎรต้องการให้จัดสร้างทำนบฝายน้ำล้นที่ลำห้วยปลาปาก แม้บุคคลที่ถูกจำเลยหลอกลวงจะมีหลายคน ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการหลอกลวงประชาชนอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๓
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ ให้ลงโทษจำคุก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share