คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1054/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่ถือได้ว่าผู้เช่าและเจ้าของทรัพย์สินมีเจตนาเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 เงินที่ผู้เช่าชำระให้แก่เจ้าของทรัพย์สินเป็นค่าเช่าไปแล้วนั้นต้องหักค่าที่ผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินที่เช่าซื้อออกเสียก่อน ที่เหลือจึงคืนแก่ผู้เช่า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ตกลงเช่าซื้อรถยนต์จากตัวแทนของจำเลยได้ชำระค่างวดแก่ตัวแทนของจำเลยเสมอมา จำเลยได้บังอาจยึดรถยนต์ไปจากโจทก์โดยโจทก์มิได้ประพฤติผิดสัญญาอย่างใด ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพที่สมบูรณ์ และให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อต่อไป ถ้าจำเลยไม่สามารถปฏิบัติได้ให้จำเลยคืนเงินค่าเช่าซื้อที่โจทก์ชำระไปเป็นเงิน 25,600 บาท กับค่าเสียหายที่โจทก์ขาดรายได้ 15,000 บาท และต่อไปเป็นรายวันวันละ 300 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าคดีถึงที่สุด

จำเลยให้การว่า โจทก์เช่าซื้อรถยนต์พิพาทกับตัวแทนของจำเลยจริง แต่โจทก์ผิดนัดค้างชำระค่าเช่าซื้อและยังได้นำรถไปให้บุคคลอื่นเช่าหรือจำหน่ายให้แก่บุคคลอื่น เป็นการผิดสัญญา จำเลยจึงได้ยึดรถคืน โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อเป็นเงิน 23,200 บาท มิใช่ 25,600 บาท ที่โจทก์เรียกร้องค่าขาดรายได้วันละ 300 บาท สูงเกินความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อต่อไป ให้จำเลยคืนรถยนต์ในสภาพเรียบร้อยแก่โจทก์ ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาก็ให้จำเลยคืนเงิน 25,600 บาท ให้โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายวันละ 150 บาท จนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือชำระเงิน 25,600 บาทให้โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะค่าเสียหายเป็นว่าให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ 75 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์มิได้ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ แต่จำเลยไปยึดที่เช่าซื้อคืน จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ส่วนปัญหาเกี่ยวกับค่าเสียหายนั้นเห็น ว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อคือให้จำเลยคืนรถแก่โจทก์เพื่อจำได้ใช้ประโยชน์ต่อไปตามที่ได้ทำสัญญาเช่าซื้อไว้ หาใช่ว่าโจทก์มีเจตนาจะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไม่ เมื่อจำเลยผิดสัญญาจึงต้องใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยใช้ค่าเสียหาแก่โจทก์วันละ 75 บาท เป็นจำนวนเงินที่เหมาะสมแล้ว

ข้อที่จำเลยฎีกาว่า กรณีที่จำเลยคืนรถให้ไม่ได้ ควรจะได้หักค่าที่โจทก์ได้ใช้ประโยชน์รถคันพิพาทมาแล้วออก ไม่ควรให้จำเลยต้องรับผิดใช้ค่าเช่าซื้อที่โจทก์ชำระมาแล้วโดยเต็มจำนวนนั้นเห็นว่ากรณีที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยไม่ยอมคืนรถคันพิพาทแก่โจทก์ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่เช่าซื้อ ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยมีเจตนาเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจะต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 สัญญาเช่าซื้อคือสัญญาที่เจ้าของเอาทรัพย์สินออกใช้เช่าโดยมีคำมั่นว่าเจ้าของจะขายทรัพย์สินนั้น หรือจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า ตามข้อตกลงที่กำหนดไว้ในสัญญา ดังนั้นที่โจทก์ชำระเงินค่าเช่าซื้อแก่จำเลยไปทั้งหมดเป็นเป็นเงิน 25,600 บาท จึงต้อง หักค่าที่โจทก์ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์รถคันพิพาทออกที่เหลือจึงคืนแก่โจทก์ ศาลฎีกาได้พิจารณาตามพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่าค่างวดเช่าซื้อรายเดือน เดือนละ 1,200 บาทที่โจทก์มีหน้าที่จะต้องผ่อนชำระแก่จำเลยตามสัญญานั้น น่าจะเป็นอัตราเดียวกับค่าที่ได้ใช้ประโยชน์รถคันพิพาทในเดือนหนึ่ง ๆ โจทก์ใช้รถคันพิพาทอยู่ 13 เดือน ค่าเช่าเดือนละ 1,200 บาท หักค่าเช่ารถออก 15,600 บาท ที่เหลือ 10,000 บาท จึงคืนให้แก่โจทก์ไปในกรณีที่จำเลยไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ได้

พิพากษาแก้เฉพาะกรณีที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญา ให้จำเลยคืนเงิน 10,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้นี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share