คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2165/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ. 2518 ไม่มีบทบัญญัติใดบัญญัติให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งถูกกล่าวหาว่า ทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการใช้สิทธิทางศาล การที่คณะกรรมการ ป.ป.ป. วินิจฉัยว่าโจทก์ร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติย่อมมีผลเพียงว่าคณะกรรมการ ป.ป.ป. จะต้องแจ้งพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินแล้วเสนอความเห็นไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งหรือดำเนินการให้มีการสั่งลงโทษโจทก์ ซึ่งจะมีการดำเนินการดังกล่าวหรือไม่อยู่ที่การพิจารณาของพนักงานอัยการหรือนายกรัฐมนตรีแล้วแต่กรณีอีกชั้นหนึ่ง จึงเป็นเรื่องเหตุการณ์ในอนาคต ซึ่งโจทก์คาดคะเนเอาเองยังไม่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตามกฎหมายแพ่ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นนิติบุคคลเป็นกรมสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีมีชื่อย่อว่า “สำนักงาน ป.ป.ป.” มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ซึ่งเรียกชื่อย่อว่า”คณะกรรมการ ป.ป.ป.” จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 เป็นคณะกรรมการ ป.ป.ป.มีจำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการ จำเลยที่ 12 เป็นเลขาธิการจำเลยที่ 13 ถึงที่ 15 เป็นอนุกรรมการฝ่ายตรวจสอบทรัพย์สินและจำเลยที่ 16 เป็นเจ้าหน้าที่สืบสวนสังกัดสำนักงาน ป.ป.ป. เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2532 จำเลยที่ 4 จำเลยที่ 13 ถึงที่ 16 ได้แจ้งข้อกล่าวหาให้โจทก์ทราบว่า มีเรื่องร้องเรียนกล่าวหาโจทก์ว่ากระทำทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการและร่ำรวยผิดปกติ แล้วทำการสอบสวนโจทก์ แต่การสอบสวนได้กระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของคณะกรรมการ ป.ป.ป. คือ การแจ้งข้อหาไม่มีรายละเอียดทำให้โจทก์ไม่เข้าใจและหลงข้อต่อสู้ ไม่รับพยานเอกสารที่โจทก์อ้างหลายรายการ และเรียกพยานในคดีอาญาที่โจทก์ถูกฟ้องและศาลกำลังดำเนินการพิจารณาอยู่ไปทำการสอบสวน ต่อมาจำเลยที่ 2 ถึงที่ 12ได้พิจารณาจากข้อเท็จจริงในสำนวนการสอบสวนที่ไม่ชอบและผิดไปจากความจริงดังกล่าว แล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ คำวินิจฉัยหรือมติดังกล่าวจึงออกมาโดยการผิดหลงเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สำนักงาน ป.ป.ป. ได้แจ้งมติดังกล่าวไปยังพนักงานอัยการพร้อมทั้งส่งสำนวนไปให้ด้วย พนักงานอัยการเห็นว่าข้อเท็จจริงยังบกพร่องไม่เพียงพอที่พนักงานอัยการจะร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินของโจทก์เป็นของแผ่นดินและขอให้คณะอนุกรรมการทำการสอบสวนเพิ่มเติมแต่จนถึงวันฟ้องคดีนี้ คณะอนุกรรมการยังไม่ได้ทำการสอบสวนเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จ และพนักงานอัยการก็ยังมิได้ยื่นคำร้องเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวต่อศาล เนื่องจากมติของจำเลยที่ 2ถึงที่ 12 ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของคณะกรรมการ ป.ป.ป.ยังมีผลอยู่และโจทก์ได้รับผลตามมตินั้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต่อไปโจทก์จะต้องถูกคำสั่งนายกรัฐมนตรีลงโทษออกจากราชการและหากโจทก์ต้องออกจากราชการแล้วการกลับเข้ารับราชการเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหาร โจทก์จึงจำต้องฟ้องคดีนี้ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะมีคำสั่งเพราะไม่มีวิธีอื่นใดที่จะยกเลิกมติของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 ได้ ขอให้พิพากษาว่าการสืบสวนสอบสวนของจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 13 ถึงที่ 16 ไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ป. ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการ และระยะเวลาในการพิจารณาสอบสวนเจ้าหน้าที่ของรัฐ กรณีถูกกล่าวหาร้องเรียนว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ. 2530 ให้เพิกถอนมติของจำเลยที่ 2ถึงที่ 12 ที่มีมติว่าโจทก์ร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการให้เป็นไปตามมติของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 ที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอนอีกต่อไป และให้จำเลยที่ 1ดำเนินการให้มีผลเป็นไปตามคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้และพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ พิเคราะห์แล้วประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 บัญญัติว่า “เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้” ซึ่งมีความหมายว่า บุคคลจะเสนอคดีต่อศาลส่วนแพ่งได้ต่อเมื่อมีกรณีที่บุคคลนั้นต้องใช้สิทธิทางศาลหรือมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลนั้นตามกฎหมายแพ่ง ข้อวินิจฉัยจึงมีว่าตามฟ้องโจทก์มีกรณีดังกล่าวหรือไม่ ตามฟ้องโจทก์พอสรุปใจความได้ว่า โจทก์รับราชการตำแหน่งรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 มีอำนาจดำเนินการให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ซึ่งมีชื่อว่า “คณะกรรมการ ป.ป.ป.” จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11เป็นกรรมการ ป.ป.ป. มีจำเลยที่ 2 และที่ 12 เป็นประธานกรรมการและเลขาธิการ ตามลำดับ จำเลยที่ 13 ถึงที่ 15 เป็นอนุกรรมการฝ่ายตรวจสอบทรัพย์สิน และจำเลยที่ 16 เป็นเจ้าหน้าที่สืบสวนสังกัดสำนักงานจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 16 แจ้งโจทก์ว่า โจทก์ถูกกล่าวหาร้องเรียนว่า อาศัยอำนาจหน้าที่ราชการแสวงหาประโยชน์และมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ และคณะกรรมการ ป.ป.ป. พิจารณาผลการสืบสวนโจทก์แล้ว กรณีมีมูลน่าเชื่อว่าโจทก์ร่ำรวยผิดปกติและมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติพร้อมทั้งส่งแบบแสดงรายการสินทรัพย์และหนี้สินมาให้โจทก์และสั่งให้โจทก์แสดงสินทรัพย์และหนี้สิน โจทก์ได้มีหนังสือแสดงที่มาของทรัพย์สินของโจทก์ และหนังสือขอเพิ่มเติมแก้ไขต่อคณะกรรมการ ป.ป.ป. และที่มาของทรัพย์สิน จำเลยที่ 12 ได้มีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าสำนักงานจำเลยที่ 1 ได้รับเรื่องกล่าวหาว่าโจทก์ร่ำรวยผิดปกติและมีพฤติการณ์ทุจริตในการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่บุคคลทั่วไป ให้โจทก์ไปรับทราบข้อกล่าวหาจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 13 ถึงที่ 16 ได้สอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหาให้โจทก์ทราบว่า มีเรื่องร้องเรียนกล่าวหาโจทก์เมื่อครั้งที่โจทก์ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีกระทำทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ และร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งจากการสอบสวนปรากฏว่า โจทก์มีทรัพย์สินมูลค่าไม่ต่ำกว่า 49 ล้านบาท จึงเป็นการร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ให้โจทก์ชี้แจงข้อกล่าวหา ต่อมาจำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 วินิจฉัยว่า โจทก์ร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ โจทก์อ้างว่าข้อกล่าวหาและคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ชอบ เพราะข้อหาไม่มีรายละเอียดว่าทรัพย์สินโจทก์รายใดที่ถือเป็นการร่ำรวยผิดปกติ หรือเป็นทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติพอที่จะทำให้โจทก์เข้าใจ และสามารถชี้แจงหรือนำพยานหลักฐานมาแสดงแก้ข้อกล่าวหาได้ ทำให้โจทก์ไม่เข้าใจข้อกล่าวหาและหลงต่อสู้ โจทก์ชี้แจงที่มาของทรัพย์สินของโจทก์ตามที่โจทก์มีความเข้าใจและต่อมาได้ไปชี้แจงที่มาของทรัพย์สินจำนวน 13 รายการต่อจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 13 ถึงที่ 16 แต่จำเลยดังกล่าวรับไว้เพียง 9 รายการ อนึ่งในระหว่างที่โจทก์ถูกพนักงานอัยการ กรมอัยการฟ้องร้องในข้อหาเรื่องทุจริตในการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่บุคคลทั่วไป จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 13 ถึงที่ 16 ยังได้เรียกพยานโจทก์และจำเลยในคดีดังกล่าวมาสอบสวน แล้วรวมเป็นข้อเท็จจริงเสนอจำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 เพื่อวินิจฉัยว่า โจทก์ร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติซึ่งเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของคณะกรรมการ ป.ป.ป. ที่ห้ามมิให้รับหรือยกขึ้นพิจารณาเรื่องกล่าวหาร้องเรียนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล จึงถือว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 ได้พิจารณาข้อเท็จจริงในสำนวนการสอบสวนที่ไม่ชอบและผิดไปจากความจริง และโจทก์มีคำขอ3 ประการ คือ ประการแรก ขอให้พิพากษาว่าการสืบสวนสอบสวนของจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 13 ถึงที่ 16 ไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ป. ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาในการพิจารณาสอบสวนเจ้าหน้าที่ของรัฐกรณีถูกกล่าวหาร้องเรียนว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ. 2530 ประการที่สองขอให้เพิกถอนมติของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 ที่วินิจฉัยว่า โจทก์ร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ และประการที่สามขอให้ห้ามจำเลยที่ 1 ดำเนินการให้เป็นไปตามมติดังกล่าวพร้อมทั้งดำเนินการให้มีผลเป็นไปตามคำพิพากษาศาลฎีกา เห็นว่า ในข้อที่เกี่ยวด้วยการใช้สิทธิทางศาลนั้นตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ. 2518 ไม่มีบทบัญญัติใดบัญญัติให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งถูกกล่าวหาว่าทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการใช้สิทธิทางศาล ขอให้ศาลวินิจฉัยไม่ว่ากรณีมีการอ้างว่า คณะกรรมการ ป.ป.ป. อนุกรรมการที่คณะกรรมการป.ป.ป. มอบหมายหรือเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ป. ดำเนินการพิจารณาสืบสวนสอบสวนโดยมิชอบ หรือกรณีมีการอ้างว่าคณะกรรมการ ป.ป.ป.วินิจฉัยไม่ชอบก็ตาม ในฐานะที่โจทก์เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งถูกกล่าวหาว่าทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ และคณะกรรมการป.ป.ป. ดำเนินการพิจารณาสอบสวนแล้ว และมีมติว่าร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ จึงไม่มีกรณีที่โจทก์จะต้องใช้สิทธิทางศาล ส่วนในข้อที่ว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตามกฎหมายแพ่งหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่คณะกรรมการ ป.ป.ป. วินิจฉัยว่าโจทก์ร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติย่อมมีผลเพียงว่า หากโจทก์ไม่สามารถชี้แจงได้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวได้มาโดยชอบ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ. 2518 มาตรา 21 ทวิต้องถือว่าโจทก์กระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการคณะกรรมการ ป.ป.ป. จะต้องแจ้งพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาดำเนินการตามมาตรา 21 ตรี คือ ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินแล้วเสนอความเห็นไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งหรือดำเนินการให้มีการสั่งลงโทษโจทก์ ซึ่งจะมีการดำเนินการดังกล่าวหรือไม่ย่อมอยู่ที่การพิจารณาของพนักงานอัยการหรือนายกรัฐมนตรีแล้วแต่กรณี อีกชั้นหนึ่ง การได้รับผลกระทบโดยตรงจากมติคณะกรรมการ ป.ป.ป. ที่วินิจฉัยว่า โจทก์ร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ จึงเป็นเรื่องเหตุการณ์ในอนาคตซึ่งโจทก์คาดคะเนเอาเองกรณียังไม่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตามกฎหมายแพ่ง เมื่อไม่มีกรณีที่โจทก์ต้องใช้สิทธิทางศาลหรือมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ดังวินิจฉัยมา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ดังกล่าว ปัญหาอื่นไม่ต้องวินิจฉัยที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นชอบแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share