คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2163/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ข้อ 17 บัญญัติว่า “ผู้ได้รับอนุญาตหรือได้รับสัมปทานตามข้อ 4 หรือผู้ได้รับอนุญาตตามข้อ 5 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามข้อ 7 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และในกรณีที่เป็นความผิดต่อเนื่องให้ปรับอีกวันละหนึ่งพันบาทตลอดเวลาที่ยังทำการฝ่าฝืนอยู่” เห็นได้ว่าผู้ที่จะมีความผิดดังกล่าว คือ ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตหรือได้รับสัมปทานเท่านั้น จึงเป็นความผิดเฉพาะตัว ไม่อาจมีการร่วมกันกระทำความผิดกับผู้ที่มิได้รับใบอนุญาตหรือมิได้รับสัมปทานด้วยได้เพราะเป็นความผิดอาญา เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ได้รับใบอนุญาตหรือได้รับสัมปทานประกอบกิจการไฟฟ้าจากกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน คือ จำเลยที่ 1 มิใช่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ว่าจะในฐานะกรรมการผู้จัดการหรือในฐานะส่วนตัว จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่มีความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ข้อ 17 แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะให้การรับสารภาพ ศาลก็ลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 ข้อ 7, 17 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้จำเลยทั้งสามชำระเงินค่าปรับวันละ 1,000 บาท ตั้งแต่วันที่ทำการฝ่าฝืน (วันที่ 27 ธันวาคม 2549 ถึงวันที่ 12 กันยายน 2550)
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 ข้อ 7, 17 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษปรับจำเลยทั้งสามคนละ 20,000 บาท จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงปรับจำเลยทั้งสามคนละ 10,000 บาท และให้ปรับจำเลยทั้งสามอีกคนละ 1,000 บาท ต่อวัน ตั้งแต่วันทำการฝ่าฝืน ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2549 ถึงวันที่ 12 กันยายน 2550 หากไม่ชำระสำหรับจำเลยที่ 1 ให้ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ลดค่าปรับเป็นรายวันให้จำเลยทั้งสามคนละกึ่งหนึ่ง คงปรับวันละ 500 บาท ตั้งแต่วันทำการฝ่าฝืน ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2549 ถึงวันที่ 12 กันยายน 2550 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะส่วนตัว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 ข้อ 17 บัญญัติว่า “ผู้ได้รับอนุญาตหรือได้รับสัมปทานตามข้อ 4 หรือผู้ได้รับอนุญาตตามข้อ 5 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามข้อ 7 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และในกรณีที่เป็นความผิดต่อเนื่องกันให้ปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งพันบาทตลอดเวลาที่ยังทำการฝ่าฝืนอยู่” เห็นได้ว่าผู้ที่จะมีความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว คือ ผู้ได้รับใบอนุญาตหรือได้รับสัมปทานเท่านั้น จึงเป็นความผิดเฉพาะตัว ไม่อาจมีการร่วมกันกระทำความผิดกับผู้ที่มิได้รับใบอนุญาตหรือมิได้รับสัมปทานด้วยได้ เพราะเป็นความผิดอาญา เมื่อตามบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์ (นายชัยวัฒน์) และหนังสือขอให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย ท้ายหนังสือขอส่งเอกสารฉบับลงวันที่ 7 ตุลาคม 2553 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นเรียกมาจากโจทก์ ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ได้รับใบอนุญาตหรือได้รับสัมปทานประกอบกิจการไฟฟ้าจากกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน คือ จำเลยที่ 1 มิใช่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ว่าจะในฐานะเป็นกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1 หรือในฐานะส่วนตัว ดังนั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1 และในฐานะส่วนตัว จึงไม่มีความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ข้อ 17 แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะให้การรับสารภาพ ศาลก็ลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์อีก
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share