คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7510/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจมีข้อความพิมพ์ไว้ชัด จำเลยที่ 1 มิได้นำสืบพิสูจน์หักล้างว่าหนังสือมอบอำนาจฉบับนี้เพิ่งทำภายหลังที่มีการทำสัญญาซื้อขายแล้วลงวันที่ย้อนหลังไปแม้โจทก์ไม่ได้นำเอกสารดังกล่าวไปแสดงต่อจำเลยในวันที่ทำสัญญาซื้อขายก็ไม่ใช่หน้าที่ของโจทก์หรือมีกฎหมายกำหนดว่าให้โจทก์ต้องแสดงต่อจำเลยในวันทำสัญญา จึงฟังได้ว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ บ. ดำเนินการแทนโจทก์ตามที่ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจนั้น การที่ บ.ลงลายมือชื่อเป็นผู้ขายในสัญญาซื้อขายซึ่งมีตราของโจทก์ประกันก็เท่ากับ บ.เป็นตัวแทนของโจทก์ ส่วนที่ บ.ลงลายมือชื่อในฐานะเป็นผู้มอบอำนาจกับในฐานะเป็นผู้รับมอบอำนาจโดยมี ท.เป็นกรรมการอีกคนหนึ่งของโจทก์ลงลายมือชื่อเป็นผู้มอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจก็หาใช่ว่ากรรมการของโจทก์ไม่ครบ 2 คนตามที่จดทะเบียนไว้ไม่ ส่วนการที่โจทก์มีกรรมการถึง 6 คน แล้วให้บ.ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจในฐานะเป็นผู้มอบอำนาจกับเป็นผู้รับมอบอำนาจรวม 2 ตำแหน่ง ก็มิใช่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายแต่ประการใด และพฤติการณ์ดังนี้ก็ไม่อาจถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันซื้อเสาเข็มคอนกรีตอัดแรงจากโจทก์ จำนวน 131 ต้น และได้ว่าจ้างโจทก์เป็นผู้ตอกเสาเข็มด้วยรวมราคาค่าเสาเข็มพร้อมค่าขนส่งและค่าตอกเป็นเงิน 963,003 บาท จำเลยทั้งสองได้ชำระเงินแก่โจทก์แล้วบางส่วน โจทก์มอบเสาเข็มให้จำเลยทั้งสองตามสัญญาและจัดการตอกเสาเข็มให้จำเลยทั้งสองเสร็จแล้วในวันที่ 16 พฤศจิกายน2533 แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมชำระค่าเสาเข็มและค่าตอกเสาเข็มที่เหลืออีก 674,103 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 800,497 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 674,103 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีกรรมการหกคนกรรมการสองในหกคนมีอำนาจลงลายมือชื่อประทับตราสำคัญโจทก์กระทำการแทนโจทก์ได้หนังสือสัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์คอนกรีตตามฟ้องมีผลผูกพันระหว่างจำเลยที่ 2 กับนายบุญชัย เหลืองสุวรรณเท่านั้น ไม่ผูกพันโจทก์กับจำเลยทั้งสองตามที่โจทก์อ้างเพราะตามหนังสือสัญญาซื้อขายฝ่ายผู้ซื้อมีเพียงจำเลยที่ 2ลงลายมือชื่อแต่ไม่ได้ประทับตราจำเลยที่ 1 จึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ส่วนฝ่ายผู้ขายมีเพียงนายบุญชัย เหลืองสุวรรณกรรมการโจทก์เพียงคนเดียวลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญการซื้อขายรายนี้ไม่ผูกพันโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามหนังสือสัญญาซื้อขาย ฝ่ายผู้ขายมีภาระต้องตอกเสาเข็มและส่งมอบให้ผู้ซื้อแล้วเสร็จภายในกำหนด 30 วัน แต่ผู้ขายส่งมอบล่าช้ากว่ากำหนดเวลาไปสี่เดือน อีกทั้งตอกเสาเข็มไม่ตรงจุดที่กำหนด ผู้ซื้อต้องเสียค่าก่อสร้างฐานรากเพิ่มขึ้นจากเดิม 154,000 บาท ผู้ขายตอกเสาเข็มผิดวิธีทางวิศวกรรมก่อสร้าง ขาดความระมัดระวัง เป็นเหตุให้อาคารและสิ่งปลูกสร้างของบุคคลข้างเคียงชำรุดเสียหาย แตกร้าว จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายและค่าซ่อมแซมไปเป็นเงิน 361,250 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 674,103 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 16พฤศจิกายน 2533 ซึ่งเป็นวันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 126,394 บาท ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 1นำสืบรับกันฟังได้ว่า นายบุญชัยเป็นกรรมการของโจทก์ และจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม2533 จำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ซื้อในสัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์คอนกรีตเอกสารหมาย จ.4 โดยมีนายบุญชัยลงลายมือชื่อและประทับตราของโจทก์เป็นผู้ขาย จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์ไม่ครบถ้วนตามสัญญาซื้อขายดังกล่าว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่ จำเลยที่ 1ฎีกาว่าหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 ที่ระบุว่าโจทก์มอบอำนาจให้นายบุญชัยขายผลิตภัณฑ์คอนกรีตและทำนิติกรรมต่าง ๆแทนโจทก์นั้น น่าจะเป็นได้ว่าโจทก์เพิ่งทำขึ้นและลงวันที่ย้อนหลังเพราะโจทก์ไม่ได้นำมาแสดงต่อจำเลยในวันที่ทำสัญญาซื้อขายกันนั้น เห็นว่า เอกสารหมาย จ.3 มีข้อความพิมพ์ไว้ชัดว่าทำขึ้นเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2533 โดยโจทก์มีนายบุญชัยพยานโจทก์เบิกความสนับสนุนว่าบริษัทโจทก์ได้มอบอำนาจให้พยานเป็นผู้ดำเนินการแทน จำเลยที่ 1 มิได้นำสืบพิสูจน์หักล้างว่าเอกสารหมาย จ.3 นี้เพิ่งทำภายหลังที่มีการทำสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 แล้วลงวันที่ย้อนหลังไปดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกา จึงรับฟังไม่ได้ว่าเป็นความจริงดังที่ฎีกา แม้โจทก์ไม่ได้นำเอกสารดังกล่าวไปแสดงต่อจำเลยในวันที่ทำสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 ก็ไม่ใช่หน้าที่ของโจทก์หรือมีกฎหมายกำหนดว่าให้โจทก์ต้องแสดงต่อจำเลยในวันทำสัญญา ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้นายบุญชัยดำเนินโจทก์ตามที่ระบุไว้ในเอกสารหมาย จ.3 การที่นายบุญชัยลงลายมือชื่อเป็นผู้ขายในเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งมีตราของโจทก์ประทับก็เท่ากับนายบุญชัยเป็นตัวแทนของโจทก์ ส่วนที่นายบุญชัยลงลายมือชื่อในฐานะเป็นผู้มอบอำนาจกับในฐานะเป็นผู้มอบอำนาจโดยมีนายเทพรักษ์ เหลืองสุวรรณกรรมการอีกคนหนึ่งของโจทก์ลงลายมือชื่อเป็นผู้มอบอำนาจในเอกสารหมาย จ.3 ก็หาใช่ว่ากรรมการของโจทก์ไม่ครบ 2 คน ตามที่จดทะเบียนไว้ไม่ เอกสารหมาย จ.3 จึงมีกรรมการโจทก์ลงลายมือชื่อครบ 2 คน หาใช่กรรมการลงชื่อเพียงคนเดียวดังที่จำเลยที่ 1 เข้าใจไม่ เมื่อนายบุญชัยผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์และได้ลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายโดยมีตราของโจทก์ประทับไว้เอกสารหมาย จ.4 จึงสมบูรณ์ตามกฎหมายและเป็นสัญญาที่ผูกพันโจทก์ การที่โจทก์มีกรรมการถึง 6 คนแล้ว ให้นายบุญชัยลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจในฐานะเป็นผู้มอบอำนาจกับเป็นผู้รับมอบอำนาจรวม 2 ตำแหน่งก็มิใช่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายแต่ประการใด ฉะนั้น การที่โจทก์ให้นายเทพรักษ์ และนายบุญชัยร่วมกันลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้นายบุญชัยเป็นผู้ดำเนินการแทนโจทก์จึงไม่ทำให้หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 เสียไปพฤติการณ์ดังนี้ไม่อาจถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตดังที่จำเลยที่ 1 อ้าง ด้วยเหตุผลเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ยอมชำระเงินตามสัญญาซื้อขายให้โจทก์ครบถ้วนตามที่ตกลงกันไว้จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาและเมื่อโจทก์ทวงถามตามเอกสารหมาย จ.5 แล้วจำเลยที่ 1 ไม่ยอมชำระ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืน

Share