แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้จำเลยเสียค่าขึ้นศาลในส่วนที่ขอให้บังคับตามฟ้องแย้ง จำเลยเพิกเฉย ศาลอุทธรณ์จึงให้จำหน่ายฟ้องแย้งของจำเลยเสีย ฎีกาของจำเลยในประเด็นที่ว่า จำเลยมีสิทธิเรียกเงินค่าประกันพร้อมดอกเบี้ยคืนจากโจทก์ และโจทก์ต้องคืนอุปกรณ์การเจาะหรือชดใช้ราคาตามท้องตลาดปัจจุบันให้แก่จำเลยตามฟ้องแย้งของจำเลยหรือไม่ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับค่าเสียหายว่า เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยแล้ว โจทก์ได้จัดซื้ออุปกรณ์การเจาะอย่างเดียวกับที่เคยทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยใหม่ โดยซื้อจากบริษัท ท. ในราคา392,975 บาท เป็นเหตุให้โจทก์ต้องใช้ราคาสูงเพิ่มขึ้นจากสัญญาซื้อขายที่ทำกับจำเลยเป็นเงิน 208,785 บาท เป็นการแสดงถึงความเสียหายของโจทก์จากการที่จำเลยผิดสัญญาไว้อย่างชัดแจ้งไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ต้องซื้อสินค้าซึ่งจำเลยไม่ส่งมอบตามสัญญาแพงขึ้นและเรียกเบี้ยปรับตามสัญญา เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงมีอายุความ 10 ปี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2522จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาซื้อขายกับโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ตกลงขายอุปกรณ์การเจาะซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทลองเยียร์ จำเลยที่ 1ได้ผิดสัญญาไม่ส่งมอบอุปกรณ์การเจาะดังกล่าวให้แก่โจทก์ภายในกำหนดตามสัญญา แต่เมื่อพ้นกำหนดตามสัญญาแล้วจำเลยที่ 1 ได้นำอุปกรณ์การเจาะซึ่งไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ของบริษัทลองเยียร์ และมีลักษณะขนาดต่างไปจากผลิตภัณฑ์ของบริษัทลองเยียร์ที่กำหนดไว้ในสัญญา ทั้งมีข้อบกพร่องโดยนำมาประกอบกับเครื่องเจาะของบริษัทลองเยียร์ที่โจทก์ใช้อยู่แล้วไม่ได้ มาส่งมอบให้โจทก์ โจทก์จึงไม่รับมอบโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาหลายครั้ง แต่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตาม โจทก์จึงได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 นำสิ่งของที่ส่งมอบให้โจทก์คืนไปและส่งมอบสิ่งของให้ตรงตามสัญญา หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ภายใน 30 วัน ให้ถือว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาจำเลยที่ 1 กลับแจ้งว่าได้ส่งมอบสิ่งของให้แก่โจทก์ถูกต้องเรียบร้อยทุกประการแล้ว เนื่องจากโจทก์มีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์การเจาะของบริษัทลองเยียร์โดยรีบด่วน ประกอบกับจำเลยปฏิเสธการส่งมอบสิ่งของให้แก่โจทก์ โจทก์จึงได้จัดซื้อจากบุคคลอื่นเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายต้องใช้ราคาสูงขึ้น 208,785 บาท จากการผิดสัญญาของจำเลย จำเลยต้องรับผิดชำระค่าปรับให้โจทก์เป็นเงิน110,144.62 บาทกับค่าเสียหายอีก 208,785 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยจะต้องรับผิดทั้งสิ้น 318,929.62 บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยไม่ชำระ ขอให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันรับผิดชดใช้เงินจำนวน318,929.62 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี คิดจากเงินดังกล่าวนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ จำเลยที่ 1ที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งสัญญา คือ จำเลยได้ระบุยี่ห้อลงในใบเสนอราคาว่าลองเยียร์ โกลด์ฟิลด์ จำเลยได้มีหนังสือถึงโจทก์ยืนยันว่าจะส่งมอบผลิตภัณฑ์ของโกลด์ฟิลด์หรือลองเยียร์ยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งให้โจทก์ ต่อมาโจทก์ได้มีหนังสือเชิญให้จำเลยไปทำสัญญาซื้อขาย จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่า โจทก์ตกลงซื้ออุปกรณ์การเจาะยี่ห้อโกลด์ฟิลด์จึงได้ทำสัญญากับโจทก์ และจำเลยได้ส่งมอบสินค้าซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทโกลด์ฟิลด์ ให้โจทก์ตามกำหนดโดยสุจริต จำเลยไม่ต้องรับผิดในราคาค่าอุปกรณ์การเจาะที่โจทก์ซื้อแพงขึ้น ฟ้องโจทก์ไม่ได้แสดงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ไม่ชอบด้วยกฎหมายและขาดอายุความ หลังจากที่โจทก์ปฏิเสธที่จะรับสินค้าของจำเลยจำเลยได้ขอรับเงินประกันและสินค้าคืน แต่โจทก์ไม่ยอมคืนให้และริบเงินประกันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้องโจทก์ให้โจทก์คืนเงินประกัน 18,420 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยนำเงินดังกล่าวไปชำระแก่โจทก์ถึงวันยื่นคำให้การฟ้องแย้งเป็นเงิน3,453.75 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 18,420บาท นับจากวันถัดจากวันยื่นคำให้การจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ส่งคืนอุปกรณ์การเจาะหรือชดใช้ราคาเป็นเงิน 234,817.25 บาทแก่จำเลย โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาตามฟ้องทั้งโจทก์ก็ริบเงินประกันดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยส่งมอบอุปกรณ์การเจาะไม่ถูกต้องตามสัญญาและไม่เหมาะสมประโยชน์ที่จะมุ่งใช้โดยสัญญา ในชั้นแรกโจทก์ได้รับอุปกรณ์ที่จำเลยส่งมอบไว้และได้มีหนังสือสอบถามจำเลยที่ 1 ว่า เหตุใดจึงส่งมอบผิดไปโจทก์มีสิทธิยึดหน่วงตามสัญญา ข้อ 4 จำเลยกลับโต้แย้งว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วนแล้ว โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและแจ้งให้จำเลยที่ 1 นำสิ่งของที่ส่งมอบคืนไป จำเลยมีหน้าที่ต้องรับคืนไปเองตามสัญญาข้อ 4 โจทก์ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าอุปกรณ์การเจาะตามฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 238,785 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงซึ่งโจทก์จำเลยมิได้โต้แย้งกันฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2522 จำเลยที่ 1 ได้ยื่นใบเสนอราคาขายอุปกรณ์การเจาะต่อโจทก์ โดยระบุยี่ห้อลองเยียร์, โกลด์ฟิลด์ผลิตภัณฑ์ของบริษัทลองเยียร์, โกลด์ฟิลด์อินเตอร์เนชั่นแนล จากประเทศออสเตรเลีย, แคนาดา, อังกฤษ ตามเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.2วันที่ 1 พฤษภาคม 2522 โจทก์แจ้งว่า โจทก์ต้องการอุปกรณ์การเจาะเฉพาะผลิตภัณฑ์ของบริษัทลองเยียร์ทางจำเลยที่ 1 จะขัดข้องหรือไม่ตามเอกสารหมาย จ.4 หรือ ล.4 วันที่ 4 พฤษภาคม 2522 จำเลยที่ 1 มีหนังสือตอบโจทก์ว่า อุปกรณ์การเจาะยี่ห้อโกลด์ฟิลด์สามารถสับเปลี่ยนใช้กับอุปกรณ์ยี่ห้ออื่นได้ทุกชิ้นและมีคุณภาพดีกว่ายี่ห้อลองเยียร์ แต่ถ้าโจทก์จะยืนยันเอาอุปกรณ์ยี่ห้อลองเยียร์จำเลยที่ 1 ก็ขอสละสิทธิการเสนอราคาขาย ตามเอกสารหมาย ล.5ต่อมาก็ยืนยันรับรองว่า อุปกรณ์การเจาะยี่ห้อโกลด์ฟิลด์สามารถใช้กับยี่ห้อลองเยียร์ได้ตามเอกสารหมาย จ.5 วันที่ 22 พฤษภาคม 2522โจทก์ให้จำเลยที่ 1 จัดส่งอุปกรณ์การเจาะเฉพาะผลิตภัณฑ์ของบริษัทลองเยียร์ตามเอกสารหมาย จ.6 หรือ ล.8 วันที่ 14 มิถุนายน 2522และวันที่ 25 กรกฎาคม 2522 โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 ไปทำสัญญาซื้อขายอุปกรณ์การเจาะผลิตภัณฑ์ของบริษัทลองเยียร์ พร้อมกับวางเงินมัดจำตามเอกสารหมาย จ.24, จ.25 หรือ ล.10, ล.6 วันที่ 3 สิงหาคม 2522โจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงได้ทำสัญญาซื้อขายอุปกรณ์การเจาะผลิตภัณฑ์ของบริษัทลองเยียร์ รวม 9 รายการ เป็นเงิน 184,190 บาท กำหนดส่งมอบภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2522 ตามเอกสารหมาย จ.3 หรือล.1 โดยจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้นายเกียรติศักดิ์ ลดาพงษ์ประเสริฐเป็นผู้ลงนามในสัญญาดังกล่าวแทนตามเอกสารหมาย จ.2 ต่อมาจำเลยที่ 1 จึงส่งมอบสินค้าทั้ง 9 รายการให้โจทก์โดยระบุว่าเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทลองเยียร์ ตามเอกสารหมาย จ.9 วันที่ 7 มีนาคม2523 โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบว่า คณะกรรมการตรวจรับของโจทก์ไม่อาจรับสินค้าของจำเลยที่ 1 ได้ เพราะมีรูปร่างและขนาดผิดจากเดิมจึงขอให้จำเลยที่ 1 ติดต่อกับบริษัทลองเยียร์ขอทราบเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ตามเอกสารหมาย จ.12/1 หรือ ล.12 ต่อมาวันที่ 18 กันยายน 2523 จำเลยที่ 1 ได้ขอรับสินค้าทั้ง 9 รายการคืนตามเอกสารหมาย ล.23 แต่เจ้าหน้าที่แผนกพัสดุของโจทก์อ้างว่าต้องสอบถามคณะกรรมการตรวจรับของโจทก์ก่อนตามเอกสารหมายล.13 วันที่ 10 พฤศจิกายน 2523 โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยมารับสินค้าคืนและให้ส่งมอบสินค้าให้ตรงตามสัญญาภายใน 30 วัน มิฉะนั้นให้ถือว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาตามเอกสารหมาย จ.14, จ.15 แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์จึงริบเงินประกันตามสัญญาจำนวน 18,420 บาทที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ส่งให้โจทก์และได้เรียกประกวดราคาซื้อสินค้าทั้ง 9 รายการ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทลองเยียร์ใหม่ ปรากฏว่าโจทก์ต้องซื้อสินค้าดังกล่าวในราคา 392,975 บาท ตามเอกสารหมาย จ.18, จ.19 โจทก์จึงได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับตามสัญญาเป็นเงิน 110,144.62 บาท และค่าเสียหายเกี่ยวกับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นอีก 208,785 บาทรวมเป็นเงิน 318,929.62 บาท ตามเอกสารหมาย จ.20 หรือ ล.14
พิเคราะห์แล้ว ในประเด็นข้อแรกที่ว่า จำเลยทำสัญญาซื้อขายโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญหรือไม่นั้น จำเลยซึ่งเป็นฝ่ายนำสืบก่อนนำสืบว่า จำเลยที่ 1 ได้เสนอขายสินค้ายี่ห้อลองเยียร์หรือโกลด์ฟิลด์ ระหว่างที่กำลังโต้ตอบกับโจทก์ในเรื่องยี่ห้อของสินค้าที่จะส่งกับโจทก์อยู่ตามเอกสารหมาย ล.4 ถึง ล.9 อยู่นั้นนายเกียรติศักดิ์ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ได้ไปลงชื่อในสัญญาซื้อขายโดยไม่ทราบเรื่องที่โจทก์และจำเลยที่ 1 กำลังโต้เถียงกันอยู่สัญญาดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ ส่วนโจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ได้มอบอำนาจให้นายเกียรติศักดิ์มาทำสัญญากับโจทก์โดยไม่ได้สำคัญผิดแต่ประการใด เห็นว่า ก่อนที่จะทำสัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.3ได้มีการโต้ตอบระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 หลายครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งโจทก์ยืนยันจะซื้อสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทลองเยียร์โดยเฉพาะในสองครั้งสุดท้ายคือ เอกสารหมาย จ.24 หรือ ล.10 และ จ.25 หรือล.6 นั้น โจทก์ได้ระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่าให้จำเลยที่ 1 ไปทำสัญญาซื้อขายสินค้าผลิตภัณฑ์ของบริษัทลองเยียร์ จำเลยที่ 1 จึงมอบอำนาจให้นายเกียรติศักดิ์ไปทำสัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.3 เช่นนี้จำเลยจะอ้างเหตุสำคัญผิดดังกล่าวได้อย่างไรที่จำเลยฎีกาว่า หลังจากที่จำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ทราบว่าหากประสงค์จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัทลองเยียร์ก็ขอปรับราคาดังที่ปรากฏในเอกสารหมาย ล.9หลังจากนั้นก็ไม่มีการโต้ตอบกันอีก ข้อที่ว่าจำเลยที่ 1 ทราบความประสงค์ของโจทก์ที่ต้องการซื้อสินค้าของบริษัทลองเยียร์จึงไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า เอกสารหมาย ล.9 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2522 แต่เอกสารที่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 ไปทำสัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์ของบริษัทลองเยียร์ ตามเอกสารหมาย จ.24 หรือ ล.10 และ จ.25หรือ ล.6 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2522 และวันที่ 25 กรกฎาคม 2522ตามลำดับ ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่จำเลยที่ 1 ได้แจ้งโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.9 แล้ว ดังนี้จะฟังว่าจำเลยที่ 1 ไม่ทราบว่าโจทก์ต้องการซื้อสินค้าของบริษัทลองเยียร์ดังฎีกาของจำเลยหาได้ไม่
ในประเด็นที่ว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา ต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่นั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.3 ไม่ตกเป็นโมฆะดังกล่าวข้างต้น จึงย่อมมีผลบังคับกันได้ตามกฎหมายดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบสินค้าซึ่งไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ของบริษัทลองเยียร์ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญา ตามเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 8 กับมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยตามข้อ 9 ของสัญญาดังกล่าวด้วย จำเลยจะฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เข้าใจโดยสุจริตว่าสัญญาซื้อขายที่ทำกับโจทก์เป็นการซื้อขายอุปกรณ์การเจาะยี่ห้อโกลด์ฟิลด์มาเป็นเรื่องยกเว้นความรับผิดหาได้ไม่ ทั้งข้อเท็จจริงก็ฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญานั้นโดยสำคัญผิดดังกล่าวในประเด็นข้อแรกด้วย
ในประเด็นที่ว่า จำเลยมีสิทธิเรียกเงินค่าประกันจำนวน 18,420บาท พร้อมดอกเบี้ยคืนจากโจทก์ และโจทก์ต้องคืนอุปกรณ์การเจาะหรือชดใช้ราคาตามท้องตลาดปัจจุบันเป็นเงิน 234,817.25 บาทให้แก่จำเลยตามฟ้องแย้งของจำเลยหรือไม่นั้น ปรากฏว่าในชั้นอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลในส่วนที่ขอให้บังคับตามฟ้องแย้ง จำเลยทั้งสองทราบนัดแล้วเพิกเฉย ศาลอุทธรณ์จึงให้จำหน่ายฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองเสีย ดังนั้นฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ประเด็นที่ว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุมโดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 208,785 บาท แต่ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่าโจทก์เสียหายอย่างไรนั้น เห็นว่าฟ้องของโจทก์ได้บรรยายในส่วนนี้ว่า เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยแล้ว โจทก์ได้จัดซื้ออุปกรณ์การเจาะอย่างเดียวกับที่เคยทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยที่ 1 ใหม่โดยซื้อจากบริษัทไทยเอเยนซี่เอนยิเนียริ่ง จำกัดในราคา 392,975 บาท ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 10 เป็นเหตุให้โจทก์ต้องใช้ราคาสูงเพิ่มขึ้นจากสัญญาซื้อขายที่ทำกับจำเลยที่ 1เป็นเงิน 208,785 บาท เห็นว่าฟ้องของโจทก์ดังกล่าวได้แสดงถึงความเสียหายของโจทก์เป็นจำนวนเงิน 208,785 บาท จากการที่จำเลยผิดสัญญาไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
คงเหลือประเด็นสุดท้ายที่ว่าฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ที่จำเลยฎีกาว่า คดีนี้เป็นการฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาซื้อขายซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้ว่าต้องฟ้องภายใน 2 ปี นับแต่วันบอกเลิกสัญญานั้นเห็นว่า อายุความตามกฎหมายที่จำเลยอ้างนั้นเป็นเรื่องที่บุคคลผู้เป็นพ่อค้าเรียกเอาค่าที่ได้ส่งมอบของ แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ต้องซื้อสินค้าซึ่งจำเลยไม่ส่งมอบตามสัญญาแพงขึ้นและเรียกเบี้ยปรับตามสัญญาซึ่งอายุความเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะกรณีจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ซึ่งกำหนดอายุความไว้ 10 ปีคดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ”
พิพากษายืน