แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้ผู้เสียไปซึ่งสัญชาติไทยยื่นคำร้องขอให้ออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวเกินเวลา 30 วัน อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 8แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. 2493 ก็ตาม แต่ก็หาหมดสิทธิหรือเสียสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวไม่ เพราะมาตราดังกล่าวเป็นเรื่องกำหนดหน้าที่ของผู้เสียไปซึ่งสัญชาติไทยโดยมีเวลาบังคับให้ปฏิบัติตาม ถ้าหากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติล่าช้าเกินกว่าเวลาที่กำหนดไว้ ก็จะมีความผิดและต้องถูกลงโทษ ตามมาตรา 21 แห่ง พระราชบัญญัติ เดียวกัน หาใช่เป็นการกำหนดเรื่องอายุความเสียสิทธิหรือหมดสิทธิไม่ จำเลยมีฐานะเป็นนายทะเบียนตามความหมายของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติ การทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. 2493 ประกอบกับประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องแต่งตั้งนายทะเบียนตาม พระราชบัญญัติทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2493 ข้อ 3 จึงมีอำนาจหน้าที่โดยตรงที่จะต้องออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้โจทก์ผู้ยื่นคำร้องขอ การที่จำเลยยังไม่ออกใบสำคัญดังกล่าวให้โจทก์ และเป็นเวลานานเกินสมควรแก่เหตุ ถือว่าจำเลยปฏิเสธไม่ยอมออกใบสำคัญดังกล่าวให้โจทก์อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้อง จำเลยจะอ้างว่าได้ส่งเรื่องให้ผู้อื่นดำเนินการโดยอ้างว่าเป็นระเบียบของกรมตำรวจหาได้ไม่ เพราะเป็นเรื่องการดำเนินการภายในของจำเลยซึ่งมิใช่กฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรนายเอินหรือแอ็นเหงียนนางแหหรือแห่หรือแฮ้ ลาย บิดามารดาของโจทก์เป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายโจทก์เกิดในราชอาณาจักรไทยเมื่อ พ.ศ. 2502 และได้สัญชาติไทยต่อมาโจทก์ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ซึ่งโจทก์จะต้องมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ตำบลในเมืองอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 25มีนาคม 2530 โจทก์ได้ร้องขอต่อจำเลยซึ่งเป็นนายทะเบียนคนต่างด้าวอำเภอเมืองอุบลราชธานี เพื่อให้ออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้โจทก์ แต่จำเลยไม่ออกให้ ขอให้บังคับจำเลยออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ไม่ได้ขอใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวภายใน 30 วันนับแต่วันที่โจทก์รู้ว่าโจทก์เสียสัญชาติไทย จึงหมดสิทธิที่จะขอ เมื่อเดือนมีนาคม 2530 จำเลยได้รับคำร้องของโจทก์ไว้แล้ว และโจทก์ได้เสนอผู้บังคับการกองทะเบียนคนต่างด้าวและภาษีอากร เพื่ออนุมัติตามระเบียบของกรมตำรวจแต่จำเลยยังไม่ได้รับแจ้งการอนุมัติ จำเลยจึงไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้โจทก์ทั้งนี้เมื่อโจทก์ได้ยื่นคำขอถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎกระทรวงกำหนดไว้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามที่จำเลยฎีกาในข้อแรกมีว่า โจทก์ไม่ได้ขอให้จำเลยออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวภายใน 30 วันนับแต่วันที่โจทก์รู้หรือควรรู้ว่าเสียสัญชาติไทย โจทก์จึงหมดสิทธิหรือเสียสิทธิที่จะขอใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวหรือไม่ จำเลยอ้างว่ากำหนดระยะเวลาในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าวพ.ศ. 2493 เป็นกำหนดระยะเวลาแห่งอายุความเนื่องจากพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ ต้องตีความอย่างเคร่งครัดให้ทุกคนต้องปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติจำต้องถูกจำกัดสิทธิตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติ ดังกล่าวนั้น เห็นว่าการกำหนดเวลาในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติ ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์บ่งให้เห็นชัดว่าให้ผู้เสียไปซึ่งสัญชาติไทยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้กล่าวคือให้ไปทำการร้องขอต่อนายทะเบียนคนต่างด้าวท้องที่ ให้ออกใบสำคัญประจำตัวให้เพื่อแสดงว่าตนเป็นบุคคลต่างด้าว มิใช่เป็นคนสัญชาติไทยและหน้าที่ของผู้ที่จะต้องปฏิบัติได้กำหนดเวลาจำกัดไว้ว่าต้องไปร้องขอภายในเวลา 30 วัน ทั้งนี้เพื่อมิให้ผู้ซึ่งเสียสัญชาติไทยเพิกเฉยหรือละเลยไม่ไปปฏิบัติตามหน้าที่ดังกล่าวถ้าหากบุคคลดังกล่าวละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามเวลาที่กำหนดไว้ก็จะมีความผิดและถูกลงโทษดังที่มาตรา 21 แห่ง พระราชบัญญัติเดียวกันนี้บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดละเลยไม่ปฏิบัติตามความในมาตรา 8 มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาทจึงเห็นได้ชัดยิ่งขึ้นว่า การกำหนดเวลาไว้ในมาตรา 8 เป็นเรื่องกำหนดหน้าที่โดยมีเวลาบังคับให้ปฏิบัติตาม ถ้าผู้เสียสัญชาติไทยดังกล่าวฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติล่าช้าเกินกว่าเวลาที่กำหนดไว้ ถือได้ว่ามีความผิดและต้องถูกลงโทษ หาใช่เป็นการกำหนดเรื่องอายุความเสียสิทธิหรือหมดสิทธิดังที่จำเลยฎีกาไม่ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยได้รับการร้องขอของโจทก์แล้วยังไม่ออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้โจทก์จนบัดนี้ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์หรือไม่ จำเลยฎีกาอ้างว่าตามคำให้การของตัวโจทก์ก็ดีพยานโจทก์ก็ดีรวมทั้งคำให้การของจำเลยและพยานจำเลยไม่มีข้อความที่จะแสดงให้เห็นเลยว่าจำเลยได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์อันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง เพียงแต่ต้องมีการเสนอตามขั้นตอนเท่านั้นซึ่งไม่ได้ฝ่าฝืนต่อกฎหมายนั้น เห็นว่าโจทก์มีตัวโจทก์และนายฟุกน้อยเหงี่ยน เป็นพยานโจทก์เบิกความว่าเมื่อโจทก์ร้องขอและให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่จำเลยเสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่บอกว่าอีก 7-8 เดือนให้มาฟังผล ซึ่งปรากฏว่าโจทก์ได้ร้องขอและให้ถ้อยคำต่อจำเลยและจำเลยได้บันทึกถ้อยคำของโจทก์พร้อมทั้งรับหลักฐานต่าง ๆ ไว้จากโจทก์ครบถ้วนเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 25มีนาคม 2530 ดังปรากฏตามเอกสารหมาย ล.3 ต่อมาต้นเดือนพฤศจิกายน2530 โจทก์และพยานโจทก์ดังกล่าวได้ไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่จำเลยผู้ที่รับเรื่องของโจทก์ไว้ กลับได้รับแจ้งว่าทาง กอ.รมน. ให้ระงับไว้ก่อนจนกระทั่งถึงวันที่โจทก์และพยานมาเบิกความ (วันที่ 23 เมษายน2533) จำเลยก็ไม่ได้ออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้แก่โจทก์จึงเห็นได้ว่าเมื่อจำเลยรับคำร้องขอพร้อมทั้งบันทึกถ้อยคำของโจทก์และรับหลักฐานต่าง ๆ ดังที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวข้างต้นจนถึงเวลาที่จำเลยกำหนดให้โจทก์มาฟังผลแล้วจำเลยหาได้ออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้โจทก์ไม่และโจทก์ก็ได้รอจนถึงวันฟ้องและวันที่โจทก์และพยานโจทก์เบิกความซึ่งเลยกำหนดเวลาที่จำเลยนัดให้โจทก์มาฟังผลเป็นเวลานานถึง 3 ปี จำเลยก็ยังมิได้จัดการออกใบสำคัญดังกล่าวให้โจทก์ แม้จำเลยอ้างว่าได้ส่งเรื่องให้ผู้อื่นดำเนินการโดยอ้างว่าเป็นระเบียบของกรมตำรวจซึ่งจำเลยมีผู้บังคับการกองทะเบียนคนต่างด้าวในเขตกรุงเทพมหานครมาเบิกความและอ้างเหตุเกี่ยวกับระเบียบของกรมตำรวจขึ้นเป็นข้อต่อสู้ก็ตาม ก็เป็นเรื่องการดำเนินการภายในของจำเลยซึ่งมิใช่กฎหมาย จึงจะยกขึ้นมาอ้างเป็นเหตุขัดข้องหรือต่อสู้ยันกับโจทก์หาได้ไม่ ทั้งนี้เพราะตามพระราชบัญญัติ การทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. 2493 มาตรา 4 มีบัญญัติไว้ชัดว่า “นายทะเบียน” หมายความว่า เจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้และรัฐมนตรีหมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ก็คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งปรากฏตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องแต่งตั้งนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติ การทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. 2493 ประกาศ ณ วันที่12 ธันวาคม 2493 มีข้อความระบุไว้ชัดในข้อ 3 ว่า ในเขตจังหวัดอื่นนอกจากจังหวัดพระนครและ จังหวัดธนบุรี (คือจังหวัดกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน) ให้ผู้บังคับกองตำรวจภูธรอำเภอ หรือหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอเป็นนายทะเบียน มีอำนาจหน้าที่ในเขตท้องที่ของตนดังนี้จำเลยในฐานะที่เป็นนายทะเบียนตามประกาศดังกล่าว จึงมีอำนาจหน้าที่โดยตรงอยู่แล้วที่ต้องออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้แก่โจทก์การที่จำเลยอ้างระเบียบของกรมตำรวจซึ่งมิใช่กฎหมายจึงรับฟังไม่ได้ เมื่อพิเคราะห์ถึงกำหนดเวลาตั้งแต่โจทก์ร้องขอต่อจำเลยจนถึงกำหนดเวลาที่จำเลยนัดให้โจทก์ไปฟังผลตลอดจนถึงเวลาที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเป็นเวลานานเกินสมควรแก่เหตุฉะนั้นเมื่อจำเลยยังไม่ออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้โจทก์ ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้ปฏิเสธไม่ยอมออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้โจทก์การกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์มีความจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาล โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน