คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2160/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทรัพย์มรดกมีที่ดินเพียงสองแปลง จำเลยทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของ ด. โอนที่ดินทั้งสองแปลงโดยจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และ ร. ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2546 และใส่ชื่อจำเลยที่ 3 ในที่ดินอีกแปลงหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2546 โดยมิได้จัดแบ่งให้โจทก์ เมื่อเจ้ามรดกไม่มีทรัพย์มรดกอื่นใดที่จะจัดการต่อไปอีก ถือว่าการจัดการมรดกเสร็จสิ้น ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2546 การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยว่าจัดการมรดกไม่ชอบ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ซึ่งเกินกว่าห้าปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง คดีโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกและในฐานะส่วนตัวจดทะเบียนแบ่งแยกทรัพย์มรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 54020 เลขที่ดิน 177 เนื้อที่จำนวน 6 ไร่ 1 งาน 36 ตารางวา ให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่จดทะเบียนแบ่งแยกให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 54020 เลขที่ดิน 177 ตามสัดส่วนที่โจทก์มีสิทธิได้รับในฐานะทายาทเป็นเนื้อที่จำนวน 1 ใน 7 ส่วน คิดจากเนื้อที่ 17 ไร่ 3 งาน 36.5 ตารางวา โดยปลอดภาระจำนอง หากจำเลยที่ 2 ไม่ไถ่ถอนจำนองให้โจทก์ไถ่ถอนจำนองได้เองโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย และหากจำเลยทั้งสามไม่ดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา กับให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 7,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยทั้งสามฟังได้เป็นที่ยุติว่า โจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสถิตย์ จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายด่วน นายด่วนกับจำเลยที่ 1 มีบุตรด้วยกัน 6 คน คือ จำเลยที่ 3 นายสถิตย์ นายสนิท นายสมจิตร นายเริงฤทธิ์ และจำเลยที่ 2 ก่อนถึงแก่ความตายนายด่วนมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 33 และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1179 ปัจจุบันเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 54019 เนื้อที่ 5 ไร่ และที่ดินโฉนดเลขที่ 54020 เนื้อที่ 30 ไร่ 2 งาน 73 ตารางวา ต่อมาศาลจังหวัดสุรินทร์มีคำสั่งตั้งจำเลยทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกของนายด่วนตามคำสั่งศาลจังหวัดสุรินทร์ ต่อมาเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2546 จำเลยทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของนายด่วนจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินตามโฉนดเลขที่ 54020 ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และนายเริงฤทธิ์ และเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2546 จำเลยทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของนายด่วนจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินตามโฉนดเลขที่ 54019 ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 ทั้งนี้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 516/2545 ของศาลจังหวัดสุรินทร์ แล้วเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2546 และวันที่ 30 มิถุนายน 2546 จำเลยที่ 1 และนายเริงฤทธิ์ จดทะเบียนให้ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 54020 ดังกล่าวเฉพาะส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 ปัจจุบันจำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 54020 ดังกล่าวทั้งแปลง และจำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองประกันหนี้ไว้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง บัญญัติว่า คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง เมื่อปรากฏว่าทรัพย์มรดกมีที่ดินเพียงสองแปลง จำเลยทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของนายด่วนโอนมรดกที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวโดยจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และนายเริงฤทธิ์ ในที่ดินโฉนดเลขที่ 54020 ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2546 และจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 3 ในที่ดินโฉนดเลขที่ 54019 ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2546 ให้เป็นผู้รับมรดกโดยมิได้จัดแบ่งมรดกให้แก่โจทก์ การจัดการมรดกย่อมเสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2546 และเมื่อเจ้ามรดกไม่มีทรัพย์มรดกอื่นใดที่จะจัดการต่อไปอีก จึงถือว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลงในวันที่ 28 พฤษภาคม 2546 อันเป็นวันสุดท้ายของการจัดการมรดกแล้ว การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยว่าจัดการมรดกไม่ชอบเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ซึ่งเกินกว่าห้าปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share