คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2157/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อพยานที่จำเลยขอระบุเพิ่มเติมเป็นพยานที่จำเลยรู้จักดีและได้มีอยู่ก่อนที่โจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนสืบพยานเสร็จและมิได้เป็นพยานเพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรมคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมนั้นจึงชอบแล้ว
โจทก์ใช้คำว่า ‘CHRISTIANDIOR’ และคำว่า ‘DIOR’ เป็นเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าต่าง ๆ ของโจทก์ที่ทำจากต่างประเทศมานานแล้วจนเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไปนอกจากนี้ก่อนที่จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ‘DIOR’ สำหรับสินค้าจำพวกเครื่องนุ่งห่มและแต่งกายของจำเลยจำเลยก็เคยเห็นและทราบว่ามีแว่นตาที่ใช้เครื่องหมายการค้า ‘DIOR’ ขาย ทั้งการโฆษณาสินค้าของจำเลยที่ใช้เครื่องหมายการค้า ‘DIOR’ ก็ไม่ได้บอกว่าเป็นสินค้าของจำเลยและจำเลยยังใช้คำว่าดิออร์เป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยก่อนยื่นคำขอจดทะเบียนประมาณ 1 เดือนเศษอีกด้วยเห็นได้ว่าจำเลยใช้คำว่า ‘DIOR’เป็นเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าของจำเลยเพื่อให้ประชาชนทั่วไปหลงผิดว่าเป็นสินค้าของโจทก์ที่ทำจากต่างประเทศนับว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้หลงผิดในแหล่งกำเนิดของสินค้าของจำเลยโจทก์มีสิทธิใช้คำว่า ‘DIOR’ เป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดีกว่าจำเลยแม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวจะยังไม่ได้รับการจดทะเบียนสำหรับสินค้าอย่างเดียวกันของโจทก์ก็ตาม

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “Dior”ดีกว่าจำเลย ให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า “Dior” ของจำเลยที่ยื่นไว้ต่อนายทะเบียน และห้ามจำเลยขัดขวางการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ กับห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “Dior” ด้วยศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่า

(1) ศาลควรจะอนุญาตให้จำเลยระบุพยานเพิ่มเติมหรือไม่

(2) โจทก์หรือจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “Dior” ดีกว่ากัน

สำหรับปัญหาข้อแรก ปรากฏว่า จำเลยยื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2520 ภายหลังที่โจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนสืบพยานเสร็จแล้ว โดยอ้างในคำร้องว่า พยานที่ระบุเพิ่มเติมล้วนแต่เป็นพยานสำคัญ จำเป็นต้องนำเข้าสืบเพื่อประโยชน์ของจำเลย ซึ่งจะทำให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรม เห็นว่าพยานบุคคลและพยานเอกสารที่จำเลยยื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมนั้น ปรากฏจากการสอบสวนของศาลชั้นต้นว่า เป็นพยานบุคคลและพยานเอกสารที่จำเลยรู้จักดีและได้มีอยู่ก่อนที่โจทก์สืบพยานเสร็จ และศาลชั้นต้นเห็นว่าไม่ได้เป็นพยานเพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรมดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์เห็นด้วยกับคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลยนั้นชอบแล้ว

ส่วนปัญหาข้อหลัง จำเลยฎีกาว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งมวลมีคำว่าคริสเตียนดิออร์ เพิ่งจะมีคำว่าดิออร์ในคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ครั้งสุดท้าย ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยใช้คำว่าคริสเตียนดิออร์เพียงเครื่องหมายเดียวเป็นสินค้าของโจทก์ตลอดมา จำเลยมีสินค้าจำพวกที่ 38 เครื่องนุ่งห่มและแต่งกายแพร่หลายในประเทศมากกว่าโจทก์ หรือโจทก์อาจไม่มีสินค้าจำพวกนี้ในประเทศไทยเลยก็ได้นั้น เห็นว่า จำเลยยกขึ้นอ้างลอย ๆ มิได้คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์แต่อย่างใด จึงไม่รับวินิจฉัย

ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า สินค้าของจำเลยที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า ดิออร์ไม่เป็นการลวงสาธารณชนให้หลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของโจทก์ จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนก่อนโจทก์ การที่โจทก์เคยยื่นคำขอจดทะเบียนสำหรับเครื่องหมายการค้าคำว่าคริสเตียนดิออร์ในสินค้าจำพวก 38 มาแล้ว 2 ครั้ง คือในปี พ.ศ. 2507 และ พ.ศ. 2513 แต่ถูกนายทะเบียนปฏิเสธคำขอและให้ยกคำขอของโจทก์ไป เท่ากับโจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนมาก่อนเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะมาอ้างว่า โจทก์ได้เคยยื่นคำขอจดทะเบียนมาก่อนจำเลย การที่โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ใช้คำว่าคริสเตียนดิออร์ และดิออร์ สำหรับสินค้าจำพวกที่ 38 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2519 และวันที่ 4 สิงหาคม 2519ตามลำดับ ย่อมแสดงให้เห็นว่า โจทก์มีเจตนาที่ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้เหมือนของจำเลยแล้วนำมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยควรมีสิทธิดีกว่าโจทก์นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ โดยจำเลยมิได้โต้แย้งว่า โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “Christian Dior” และ “Dior” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489 และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ไว้หลายประเภท สำหรับประเทศไทย โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “Christian Dior” และคำว่า “Dior” อ่านว่า “คริสเตียนดิออร์” และ “ดิออร์” เมื่อปี พ.ศ. 2507 ตามเอกสารหมาย จ.25 และจ.26 และคำนี้เป็นชื่อสกุลของผู้เริ่มกิจการบริษัทโจทก์และเป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทโจทก์อีกด้วย จำเลยเพิ่งจะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า”Dior” อ่านว่า ดิออร์ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2518 ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ใช้คำว่า”Christian Dior” และคำว่า “Dior” เป็นเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าของโจทก์มานานแล้ว เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป และเคยยื่นคำขอจดทะเบียนสำหรับเครื่องหมายการค้า 2 คำนี้ไว้แล้วในรายการสินค้าจำพวกที่ 38 เครื่องนุ่งห่มและแต่งกายเมื่อปี พ.ศ. 2507 ก่อนที่จำเลยจะไปยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “Dior” สำหรับสินค้าของจำเลยในรายการสินค้าจำพวกที่ 38 เครื่องนุ่งห่มและแต่งกายเช่นเดียวกับโจทก์เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม2518 นายเรือง ปาริฉัตรกุล พยานโจทก์ ซึ่งรับราชการในตำแหน่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า กองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้ากรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ เบิกความว่า คำว่าดิออร์ได้ตรวจสอบปทานุกรมแล้วปรากฏว่าเป็นนามสกุลคน แปลไม่ได้ เมื่อแปลไม่ได้ ตามหลักถือว่าเป็นคำประดิษฐ์ คำว่าคริสเตียนดิออร์กับคำว่าดิออร์ถือว่าเหมือนกัน ดังนั้น คำว่าดิออร์จึงเป็นคำกล่าวขานหรือคำเรียกโดยย่อของคำว่าคริสเตียนดิออร์อีกประการหนึ่งด้วย นายชาลีไชยเจริญ พยานโจทก์ เบิกความว่า ได้ไปซื้อเสื้อยกทรงกับกางเกงในที่มีเครื่องหมายการค้าดิออร์ตามที่ศาลหมาย จ.55 และ 56 ซึ่งเป็นสินค้าของจำเลยจากร้านสหกรณ์พัฒนาข้างสนามเสือป่าตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.58คนขายบอกว่าทำจากต่างประเทศ โดยคนขายได้เอาป้ายเครื่องหมายการค้าที่ติดอยู่กับสินค้าศาลหมาย จ.55 และ 56 ให้พยานดู มีคำว่า PARIS อ่านว่าปารีสLONDON อ่านว่าลอนดอน และ NEWYORK อ่านว่านิวยอร์ค และเอากล่องบรรจุสินค้าให้พยานดู มีคำว่า PARIS (ปารีส) และ FRANCE (ฟร้านซ์) และคำว่า Dior บนสินค้ายังมีลีลาการเขียนเหมือนกับที่โจทก์เขียน ผู้ขายบอกว่าสหภาพการตลาด (ซึ่งเป็นบริษัทจำหน่ายสินค้าของจำเลย) เป็นผู้สั่งเข้ามาจำหน่าย และเบิกความอีกว่าบริษัทโจทก์มีโรงงานในลอนดอนประเทศอังกฤษในนิวยอร์คประเทศสหรัฐอเมริกา ในประเทศเวนูซูเอล่า ในประเทศบราซิล ในประเทศญี่ปุ่น และในฮ่องกงด้วย จำเลยก็เบิกความรับว่า ก่อนยื่นคำขอจดทะเบียนจำเลยเคยเห็นและทราบว่ามีแว่นตาดิออร์ขาย การโฆษณาสินค้าของจำเลยที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่าดิออร์ ก็ไม่ได้บอกว่าเป็นสินค้าของจำเลย และจำเลยใช้คำว่าดิออร์เป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยก่อนยื่นคำขอจดทะเบียนประมาณ 1 เดือนเศษ ดังนัน เห็นได้ว่าจำเลยใช้คำว่า “Dior” เป็นเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าของจำเลย ก็เพื่อให้ประชาชนทั่วไปหลงผิดว่าเป็นสินค้าของโจทก์ที่ทำจากต่างประเทศนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้หลงผิดในแหล่งกำเนิดของสินค้าของจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิใช้คำว่า “Dior” เป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดีกว่าจำเลย แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวจะยังไม่ได้รับจดทะเบียนจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าจำพวกที่ 38ของโจทก์ก็ตาม”

พิพากษายืน

Share