คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2157/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พนักงานสอบสวนสั่งให้เจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยด้วยวาจาโดยไม่ได้ออกหมายจับ และเจ้าพนักงานตำรวจที่ไปจับจำเลยนั้นไม่ได้เป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งจะจับจำเลยได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องมีหมายจับเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้แล้วได้ส่งมอบตัวจำเลยต่อพนักงานสอบสวนพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อหาแก่จำเลย และไม่ได้ควบคุมตัวจำเลยไว้หรือให้ประกันตัวไป เพียงแต่นัดให้จำเลยมาสถานีตำรวจในวันรุ่งขึ้นเท่านั้นพฤติการณ์เช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่า จำเลยได้ถูกจับตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2512 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยขับรถยนต์นั่งสาธารณะโดยความประมาท แซงรถยนต์สามล้อสาธารณะซึ่งอยู่ข้างหน้า เป็นเหตุให้ชนกับรถที่นายอภิชาติ แสงศศิ ขับนายอภิชาติและนายณรงค์ได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยหลบหนีไป เหตุเกิดที่ตำบลวังใหม่ อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร

อธิบดีกรมอัยการอนุญาตให้ฟ้องจำเลยตามหนังสือท้ายฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 29, 30, 66, 68 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2508 มาตรา 7, 13, 15

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นฟังว่า พนักงานสอบสวนยื่นคำขอผัดฟ้องพ้นระยะเวลา72 ชั่วโมง เมื่อมีการจับตัวจำเลยแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ พ.ศ. 2499 พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า พนักงานสอบสวนขอผัดฟ้องถูกต้องแล้วพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาแล้ว พิพากษาใหม่ตามรูปคดี

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อรถยนต์ส่วนบุคคลซึ่งนายอภิชาติ แสงศศิ ขับได้ชนกับรถแท็กซี่ที่จำเลยขับ นายอภิชาติและนายณรงค์ สุขปาละ ได้รับบาดเจ็บ เมื่อเจ้าของแท็กซี่คันเกิดเหตุมาที่สถานีตำรวจ ร้อยตำรวจเอกสมชัยผู้สอบสวนได้ถามว่ารู้จักตัวนายพงษ์ศักดิ์ (จำเลย) ผู้ขับแท็กซี่หรือไม่ เจ้าของรถแท็กซี่ว่ารู้จักและรู้ที่อยู่ ร้อยตำรวจเอกสมชัย จึงให้เจ้าของรถแท็กซี่คันเกิดเหตุนำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับจำเลยมาดำเนินคดีในวันที่ 15 มีนาคม 2512 เจ้าพนักงานตำรวจไปจับจำเลยได้ในวันนั้นนำมาสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน แต่ร้อยตำรวจเอกสมชัยไม่ได้ควบคุมตัวจำเลยไว้ ปล่อยตัวจำเลยกลับและนัดให้จำเลยมาสถานีตำรวจในวันรุ่งขึ้น คือ วันที่ 16 มีนาคม 2512

ปัญหามีว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวจะถือว่าจำเลยได้ถูกจับเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2512 หรือไม่

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ร้อยตำรวจเอกสมชัยว่าสั่งให้เจ้าของรถแท็กซี่ที่จำเลยขับชนนำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับจำเลยมานั้นเป็นการสั่งให้ไปจับด้วยวาจา มิได้ออกหมายจับ เจ้าพนักงานผู้ไปจับก็มิใช่นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งจะจับจำเลยได้ด้วยตนเองโดยมิต้องออกหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78ทั้งเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจที่รับคำสั่งให้ไปจับจำเลยมาส่งให้ร้อยตำรวจเอกสมชัยที่สถานีตำรวจปทุมวัน ร้อยตำรวจเอกสมชัยก็มิได้แจ้งข้อหาแก่จำเลย และมิได้ควบคุมตัวจำเลยไว้หรือให้มีประกันแต่ประการใด เป็นแต่นัดให้จำเลยมาสถานีตำรวจในวันรุ่งขึ้นเท่านั้นศาลฎีกาเห็นว่าพฤติการณ์เช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ถูกจับตามกฎหมาย คำพิพากษาฎีกาที่จำเลยยกอ้างอิงข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น

Share