คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13273/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ จ. จะทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 1407 ให้จำเลยคนเดียวก็ตาม แต่ในขณะที่ จ. ยังมีชีวิตอยู่พินัยกรรมยังไม่มีผลบังคับ จ. ผู้ทำพินัยกรรมสามารถทำนิติกรรมผูกพันทรัพย์ที่ระบุไว้ในพินัยกรรมได้ เมื่อโจทก์ทั้งสอง จำเลย และ จ. ได้ร่วมกันทำบันทึกข้อตกลงขึ้นโดยมีสาระสำคัญให้ จ. ขายที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 1391 และ 1407 แล้วนำเงินมาแบ่งกันคนละหนึ่งส่วนเท่า ๆ กัน บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่ผูกพันผู้ร่วมทำบันทึกข้อตกลงทุกคนให้ต้องปฏิบัติตาม จ. จึงมีหน้าที่ต้องขายที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 1407 แล้วนำเงินมาแบ่งกันระหว่างโจทก์ทั้งสองและจำเลย
จ. ถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสองและจำเลยในฐานะคู่สัญญาก็ยังต้องผูกพันปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว การที่จำเลยไปรับโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 1407 เป็นของตนแต่เพียงผู้เดียวจึงเป็นการฝ่าฝืนบันทึกข้อตกลง โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องให้ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงจึงไม่ใช่คดีมรดก จำเลยไม่อาจยกเรื่องอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 มาตัดฟ้องได้ เพราะโจทก์ทั้งสองมิได้ฟ้องเรียกทรัพย์จากจำเลยในฐานะที่จำเลยเป็นทายาทของ จ. แต่เป็นการฟ้องให้ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 1407 ตำบลราชาเทวะ อำเภอบางพลีใหญ่จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 32 ไร่ 1 งาน 40 ตารางวา เฉพาะส่วนที่มีชื่อของจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ออกขายแก่บุคคลภายนอก และนำเงินมาแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสองและจำเลยคนละหนึ่งส่วน หากจำเลยฝ่าฝืนให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา โดยให้นำที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งตามส่วนแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรโดยชอบกฎหมายของนายจ่าง กับนางบุญมี ส่วนจำเลยกับนายทันตวัน เป็นบุตรนอกกฎหมายของนายจ่าง ซึ่งเกิดกับนางเฉลิม เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2497 นายจ่างและนางบุญมีซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 1407 ตำบลราชาเทวะ อำเภอบางพลีใหญ่ จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 32 ไร่ 1 งาน 40 ตารางวา จากนายจ้อย บิดาของนางบุญมี วันที่ 29 กันยายน 2501 นายจ่างและนางบุญมีร่วมกันยกที่ดินดังกล่าวจำนวนหนึ่งในสามส่วนให้แก่นางใบหรือทองใบ มารดาของนายจ่าง วันที่ 22 ตุลาคม 2517 นางใบทำพินัยกรรมยกที่ดินดังกล่าวให้แก่นายจ่าง โดยมีข้อกำหนดในพินัยกรรมว่าให้นายจ่างยกที่ดินดังกล่าวนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสองเมื่อโจทก์ทั้งสองบรรลุนิติภาวะแล้ว วันที่ 26 ธันวาคม 2526 นางใบถึงแก่ความตาย นายจ่างจึงจดทะเบียนรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 1407 ในส่วนของนางใบมาเป็นของตนตามพินัยกรรมของนางใบ วันที่ 11 มีนาคม 2546 นายจ่างทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1407 เฉพาะส่วนของตนให้แก่จำเลย วันที่ 23 มิถุนายน 2547 โจทก์ทั้งสอง จำเลย และนายจ่างทำบันทึกข้อตกลงให้นายจ่างขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1391 ตำบลคลองราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 10 ไร่ 14 ตารางวา และที่ดินโฉนดเลขที่ 1407 แล้วนำเงินที่ได้จากการขายมาแบ่งคนละหนึ่งส่วนเท่า ๆ กัน ระหว่างโจทก์ทั้งสองและจำเลย หลังจากนั้นโจทก์ทั้งสองและจำเลยจะต้องแบ่งเงินในส่วนของตนให้แก่นายจ่างคนละ 1,000,000 บาท เพื่อเก็บไว้เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว โดยโจทก์ทั้งสอง จำเลย และนายจ่างมิได้นำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ วันที่ 2 เมษายน 2548 นายจ่างถึงแก่ความตาย วันที่ 2 สิงหาคม 2549 จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่1407 ในส่วนของนายจ่างมาเป็นของจำเลยในฐานะทายาทผู้รับพินัยกรรมของนายจ่าง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า บันทึกข้อตกลงที่โจทก์ทั้งสอง จำเลย และนายจ่างตกลงร่วมกันทำขึ้นมีสาระสำคัญให้นายจ่างขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1391 และ 1407 (ในบันทึกข้อตกลงระบุผิดเป็นโฉนดเลขที่ 1803) แล้วนำเงินมาแบ่งกันคนละหนึ่งส่วนเท่า ๆ กัน ระหว่างโจทก์ทั้งสองและจำเลยซึ่งเป็นบุตรของนายจ่างด้วยกัน จึงเป็นสัญญาที่ผูกพันผู้ร่วมทำบันทึกข้อตกลงทุกคนให้ต้องปฏิบัติตาม แม้นายจ่างจะทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1407 ให้จำเลยคนเดียวก็ตาม แต่ในขณะที่นายจ่างยังมีชีวิตอยู่พินัยกรรมยังไม่มีผลบังคับ นายจ่างผู้ทำพินัยกรรมสามารถทำนิติกรรมผูกพันทรัพย์ที่ระบุไว้ในพินัยกรรมได้ นายจ่างจึงมีหน้าที่ต้องขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1407 แล้วนำเงินมาแบ่งกันระหว่างโจทก์ทั้งสองและจำเลย ซึ่งนายจ่างก็ได้ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงโดยได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1391 แล้ว แต่ที่ดินโฉนดเลขที่ 1407 ยังมิได้ขายเนื่องจากนายจ่างถึงแก่ความตายไปเสียก่อน แต่การที่นายจ่างถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสองและจำเลยในฐานะคู่สัญญาก็ยังต้องผูกพันยึดถือปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวซึ่งผู้จัดการมรดกของนายจ่างสามารถดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของบันทึกข้อตกลงต่อไปได้ การที่จำเลยไปรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 1407 เป็นของตนแต่เพียงผู้เดียวเป็นการฝ่าฝืนบันทึกข้อตกลงเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองต้องมาฟ้องเป็นคดีนี้ จึงเป็นการฟ้องให้ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงซึ่งไม่ใช่คดีมรดก จำเลยไม่อาจยกเรื่องอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาตัดฟ้องได้ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าพินัยกรรมของนายจ่างมีผลใช้บังคับหรือไม่ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความมรดกหรือไม่ เพราะโจทก์ทั้งสองมิได้ฟ้องเรียกทรัพย์จากจำเลยในฐานะที่จำเลยเป็นทายาทของนายจ่าง ตามรูปคดีที่โจทก์ทั้งสองฟ้องให้ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงนั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ คดีของโจทก์มีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โจทก์ทั้งสองยื่นคำฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2553 ยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์ทั้งสองจึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า ให้จำเลยปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลง โดยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 1407 เลขที่ดิน 75 (13) ตำบลราชาเทวะ อำเภอบางพลีใหญ่ จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 32 ไร่ 1 งาน 40 ตารางวา เฉพาะส่วนที่มีชื่อของจำเลยถือกรรมสิทธิ์ออกขายแก่บุคคลภายนอก เพื่อนำเงินมาแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสองและจำเลยคนละหนึ่งส่วน หากฝ่าฝืนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย โดยให้นำที่ดินแปลงดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งตามส่วนแก่โจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share