แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
การที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติมีมติให้ยุบเลิกทุนหมุนเวียนข่าวสารการพาณิชย์ เป็นเหตุให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ผู้ถูกฟ้องคดีต้องมีคำสั่งให้ลูกจ้างประจำรวมทั้งผู้ฟ้องคดีพ้นจากราชการ เนื่องจากทางราชการเลิกหรือยุบตำแหน่งนั้น โดยผู้ถูกฟ้องคดีได้จ่ายเงินช่วยเหลือเป็นเงินบำเหน็จตามระเบียบฯ เงินช่วยเหลือเยียวยาและเงินช่วยเหลือค่าที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้ฟ้องคดีแล้ว แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่เพียงพอจึงฟ้องเรียกร้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายเงินเพิ่มเติม เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครอง อันเกิดจากคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๐/๒๕๕๙
วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๙
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)
ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแรงงานกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๘ นายวชิรพันธ์ วรรณศิลป์ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ บ. ๒๙/๒๕๕๘ ความว่า เดิมผู้ฟ้องคดีบรรจุเป็นลูกจ้างประจำเงินทุนหมุนเวียนข่าวสารการพาณิชย์ ตำแหน่งพนักงานวิเคราะห์ราคางาน ส ๓ สังกัดกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๒๖ ซึ่งจะเกษียณอายุราชการในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๖ ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีคำสั่งที่ ๒๖๗/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๗ ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากราชการเพราะเหตุยุบเลิกทุนหมุนเวียนตั้งแต่วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๗ เป็นต้นไป ผู้ถูกฟ้องคดีได้จ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ฟ้องคดีจำนวน ๑๕ เท่าของเงินเดือนเดือนสุดท้ายของผู้ฟ้องคดีจำนวน ๓๐,๒๒๐ บาท การยุบเลิกทุนหมุนเวียนดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีต้องออกจากงานก่อนครบกำหนดเกษียณอายุราชการทั้งที่เหลืออายุราชการอีกถึง ๑๐ ปี ทำให้ขาดรายได้ที่จะได้รับจนเกษียณอายุราชการ ผู้ฟ้องคดีมีอายุมากแล้วไม่สามารถไปสมัครงานที่อื่น ๆ ได้ รวมทั้งมีภาระต้องดูแลครอบครัว ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายเงินชดเชยรายได้เพิ่มเติมจนเกษียณอายุราชการ ๖๐ ปี จำนวน ๓,๒๖๓,๗๖๐ บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติอนุมัติให้ยุบเลิกเงินทุนหมุนเวียนข่าวสารการพาณิชย์ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงได้มีคำสั่งที่ ๒๖๗/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๗ เรื่อง ให้ลูกจ้างประจำเงินทุนหมุนเวียนข่าวสารการพาณิชย์ จำนวน ๕๑ ราย พ้นจากราชการเพราะเหตุยุบเลิกทุนหมุนเวียน ตั้งแต่วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๗ เป็นต้นไป คำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากราชการจึงเป็นการเลิกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมาย การกำหนดเงินช่วยเหลือทดแทนเป็นไปตามกฎระเบียบและวิธีการของราชการแล้ว ผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิตามกฎหมายในการได้รับเงินที่เรียกร้องและคำขอท้ายฟ้องของผู้ฟ้องคดีเป็นคำขอที่ไม่ชอบปราศจากมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นส่วนราชการระดับกรม สังกัดกระทรวงพาณิชย์ ตามมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำบริการสาธารณะด้านการส่งเสริมการส่งออกของรัฐ เดิมผู้ฟ้องคดีเป็นลูกจ้างประจำเงินทุนหมุนเวียนข่าวสารการพาณิชย์ สังกัดสำนักข่าวพาณิชย์ ทั้งนี้ เงินทุนหมุนเวียนดังกล่าว เป็นชื่อเงินนอกงบประมาณประเภทหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๓ มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตและเผยแพร่หนังสือพิมพ์ข่าวพาณิชย์ โดยมีรายได้จากการจำหน่าย “หนังสือพิมพ์ข่าวพาณิชย์” หลังจากได้ยุติการผลิตและเผยแพร่หนังสือพิมพ์ข่าวพาณิชย์เมื่อปี ๒๕๔๑ แล้ว เงินทุนหมุนเวียนข่าวสารการพาณิชย์ได้มีภารกิจรับจ้างผลิต จำหน่าย งานพิมพ์และเผยแพร่สิ่งพิมพ์ของผู้ถูกฟ้องคดี หน่วยงานราชการ และหน่วยงานเอกชน รวมทั้งจัดทำ ผลิต จำหน่าย เผยแพร่วารสารผู้ส่งออกเพื่อประโยชน์ในการสื่อสารข้อมูลข่าวสารด้านการส่งออกและการค้าระหว่างประเทศไปยังผู้ผลิต ผู้ส่งออกและผู้สนใจโดยทั่วไป โดยมีงานพิมพ์เป็นรายได้หลักของเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งการบริหารงานของเงินทุนดังกล่าวได้ดำเนินการโดยผ่านคณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนข่าวสารการพาณิชย์ โดยมีผู้อำนวยการสำนักข่าวพาณิชย์ เป็นผู้บริหารทุนหมุนเวียน มีข้าราชการ ลูกจ้างเงินงบประมาณ และลูกจ้างเงินทุนหมุนเวียนข่าวสารการพาณิชย์ เป็นผู้ปฏิบัติงาน โดยมีกระทรวงการคลัง เป็นผู้ควบคุมการดำเนินงานของเงินทุนมีระเบียบกรมส่งเสริมการส่งออก ว่าด้วยเงินทุนหมุนเวียนข่าวสารการพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๓๗ กำหนดโครงสร้างการบริหารและการดำเนินงานของเงินทุนหมุนเวียน คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้แต่งตั้งให้ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งพนักงานวิเคราะห์ราคางาน ๓ เป็นลูกจ้างประจำเงินทุนหมุนเวียนข่าวสารการพาณิชย์ ผู้ฟ้องคดีได้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวจนกระทั่งผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากยุบเลิกเงินทุนหมุนเวียนข่าวสารการพาณิชย์ เมื่อพิจารณาจากความสัมพันธ์ระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีแล้ว เห็นได้ว่า การที่ผู้ฟ้องคดีได้ตกลงที่จะปฏิบัติงานเป็นพนักงานประจำในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดี มิได้มีการจัดทำข้อตกลงที่เกิดขึ้นจากสัญญาจ้างระหว่างกัน มิได้มีนิติสัมพันธ์ตามสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ผู้ฟ้องคดีเข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีให้บรรลุผลตามที่กฎหมายกำหนด อันมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และการที่ผู้ฟ้องคดีตกลงทำงานให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีก็มิได้มีนิติสัมพันธ์ในฐานะลูกจ้างกับนายจ้างที่เท่าเทียมกันตามสัญญาจ้างแรงงานตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีอำนาจเจรจาต่อรองเกี่ยวกับสภาพการจ้าง การระงับข้อพิพาท การนัดหยุดงาน การปิดงาน การงดจ้าง การจัดตั้งสหภาพแรงงาน หรือการระงับข้อพิพาทดังเช่นคดีแรงงาน การที่ผู้ฟ้องคดีตกลงทำงานให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีได้จ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้ฟ้องคดีเพื่อตอบแทนการทำงาน จึงมิได้มีลักษณะเป็นข้อตกลงตามสัญญาจ้างแรงงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับการจ้างที่จะเป็นสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีมีลักษณะเป็นการจ้างงานให้ผู้ฟ้องคดีเข้าทำงานซึ่งเป็นการใช้อำนาจในการบริหารงานภายในของผู้ถูกฟ้องคดีและได้บรรจุแต่งตั้งให้ผู้ฟ้องคดีเป็นลูกจ้างประจำเงินทุนหมุนเวียนข่าวสารการพาณิชย์และให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากราชการ ซึ่งได้ใช้อำนาจตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พ.ศ. ๒๕๓๗ ระหว่างที่ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติงานยังต้องปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว และหากผู้ฟ้องคดีกระทำผิดวินัยก็จะต้องถูกลงโทษตามระเบียบฉบับเดียวกัน การพิจารณาเพื่อขึ้นค่าจ้างเป็นค่าตอบแทนผลการปฏิบัติงานนั้น ผู้ฟ้องคดีจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเลื่อนขั้นค่าจ้างลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พ.ศ. ๒๕๔๔ ส่วนผู้ฟ้องคดีก็จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ และคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี รวมทั้งมีสิทธิที่จะได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่าง ๆ ตามระเบียบของกระทรวงการคลังที่เกี่ยวกับลูกจ้างประจำของส่วนราชการ และระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง พ.ศ. ๒๕๑๙ กรณีจึงเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีกับผู้ฟ้องคดีเป็นกรณีที่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะตั้งแต่การบรรจุแต่งตั้ง การปฏิบัติหน้าที่ การได้รับค่าตอบแทน ตลอดจนสิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่าง ๆ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชน มิได้เป็นความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเอกชน จึงมีลักษณะแตกต่างจากลักษณะการทำงานของลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานทั่วไป เมื่อผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายเงินชดเชยเพียง ๑๕ เท่าของเงินเดือนที่ได้รับครั้งสุดท้าย โดยอาศัยหลักเกณฑ์การชดเชยให้กับผู้ที่สมัครใจเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดชดเชยให้กับผู้ฟ้องคดีเนื่องจากเหตุการยุบเลิกเงินทุนหมุนเวียนข่าวสารการพาณิชย์ ทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องพ้นจากราชการ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายเงินชดเชยตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่เหมาะสมกับอายุราชการของผู้ฟ้องคดี จึงนำคดีมาฟ้องเรียกค่าชดเชยเพิ่มเติมตามจำนวนเงินของอายุราชการจนเกษียณอายุราชการ ๖๐ ปี ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการที่ผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายเงินชดเชยที่ไม่เป็นธรรม ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายเงินชดเชยรายได้เพิ่มเติมตามอายุราชการที่เหลืออยู่ของผู้ฟ้องคดีพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งศาลจะต้องพิจารณาถึงหลักเกณฑ์ที่ผู้ถูกฟ้องคดีให้การช่วยเหลือเยียวยาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ฟ้องคดีที่ได้รับผลกระทบจากการยุบเลิกเงินทุนหมุนเวียนข่าวสารการพาณิชย์ ที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน หรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานตามมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นนิติบุคคล เป็นส่วนราชการในสังกัดกระทรวงพาณิชย์และเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่การที่ผู้ถูกฟ้องคดีบรรจุผู้ฟ้องคดีเข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำเงินทุนหมุนเวียนข่าวสารการพาณิชย์ มิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะให้ผู้ฟ้องคดีเข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดี อันจะมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง การที่ผู้ฟ้องคดีตกลงทำงานให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้ฟ้องคดีเพื่อตอบแทนการทำงาน ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีลักษณะเป็นการจ้างงาน ถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดียอมสละอำนาจพิเศษของตนในการเข้าทำสัญญาจ้างแรงงานการใช้อำนาจบริหารงานและระเบียบปฏิบัติของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นเรื่องการบริหารงานและการบังคับบัญชาซึ่งเป็นอำนาจของนายจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน นิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีลักษณะเป็นการจ้างแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้ (๓) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นส่วนราชการระดับกรม สังกัดกระทรวงพาณิชย์ตามมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำบริการสาธารณะด้านการส่งเสริมการส่งออกของรัฐ เมื่อปี ๒๕๒๖ ผู้ฟ้องคดีได้รับการบรรจุเป็นพนักงานพัสดุ สำนักข่าวพาณิชย์ ตามคำสั่งที่ ๒๒/๒๕๒๖ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่ ๒๖๗/๒๕๕๗ เรื่อง ให้ลูกจ้างประจำเงินทุนหมุนเวียนข่าวสารการพาณิชย์พ้นจากราชการเพราะเหตุยุบเลิกทุนหมุนเวียน ตั้งแต่วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๗ มีผลให้ลูกจ้างประจำจำนวน ๕๑ ราย รวมทั้งผู้ฟ้องคดีต้องออกจากงานก่อนครบกำหนดเกษียณอายุราชการ ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายเงินชดเชยรายได้เพิ่มเติมจนกว่าผู้ฟ้องคดีจะเกษียณอายุราชการ จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งให้ออกจากราชการก่อนกำหนด และได้รับค่าชดเชยซึ่งเป็นบำเหน็จลูกจ้างไม่เพียงพอต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีไม่ปรากฏว่ามีการทำสัญญาจ้าง แต่เป็นการจ้างตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พ.ศ. ๒๕๒๕ โดยมีการบรรจุและแต่งตั้งเช่นเดียวกับข้าราชการ ทั้งเมื่อพ้นจากราชการผู้ถูกฟ้องคดีก็จ่ายบำเหน็จให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งข้อ ๕ ของระเบียบนี้บัญญัติมิให้นำระเบียบนี้มาใช้กับ (๑) ลูกจ้างประจำที่มีสัญญาจ้าง แสดงให้เห็นว่าการจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นลูกจ้างประจำของผู้ถูกฟ้องคดีมิได้เป็นการจ้างตามสัญญา ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน แต่การที่ผู้ฟ้องคดีต้องพ้นจากราชการเนื่องจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีมติให้ยุบเลิกทุนหมุนเวียนข่าวสารการพาณิชย์ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลัง รวมหรือยุบเลิกทุนหมุนเวียน พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีต้องมีคำสั่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่ ๒๖๗/๒๕๕๗ ให้ลูกจ้างประจำรวมทั้งผู้ฟ้องคดีพ้นจากราชการ จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่มีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดี ซึ่งในกรณีที่ลูกจ้างประจำต้องออกจากงานเนื่องจากทางราชการเลิกหรือยุบตำแหน่งนั้น ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้างประจำ พ.ศ. ๒๕๑๙ ข้อ ๗ กำหนดให้ได้รับบำเหน็จปกติ โดยผู้ถูกฟ้องคดีได้จ่ายเงินช่วยเหลือเป็นเงินบำเหน็จตามระเบียบดังกล่าว เงินช่วยเหลือเยียวยาและเงินช่วยเหลือค่าที่อยู่อาศัย ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่เพียงพอต่อความเดือดร้อนเสียหาย กรณีจึงเป็นการฟ้องเรียกร้องให้หน่วยงานทางปกครองรับผิดตามหลักความรับผิดโดยปราศจากความผิด คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครอง อันเกิดจากคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายวชิรพันธ์ วรรณศิลป์ ผู้ฟ้องคดี กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ