แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์นำสืบว่า โจทก์ประดิษฐ์คำว่า “SINGAPOREAIR” ขึ้นใหม่โดยนำคำว่า “SINGAPORE” และ “AIR” มาเรียงต่อกันเกิดเป็นคำใหม่และไม่มีคำแปลหรือความหมายตามพจนานุกรม แม้คำที่โจทก์นำมาเรียงต่อกันจะเป็นภาษาโรมันขึ้นใหม่เพราะเรียงอักษรติดต่อกันไป แต่โจทก์และประชาชนทั่วไปก็เรียกขานว่า สิงคโปร์แอร์ ซึ่งเป็นคำเรียกขานของคำเดิมที่นำมาเรียงต่อกันนั่นเอง คำว่า “SINGAPORE” ตามพจนานุกรมและความเข้าใจของคนทั่วไปหมายถึง ประเทศสิงคโปร์ และคำว่า “AIR” แปลว่า อากาศจึงไม่อาจถือได้ว่าคำว่า “SINGAPOREAIR” ไม่มีคำแปลดังที่โจทก์กล่าวอ้างได้ เมื่อเครื่องหมายบริการคำว่า “SINGAPOREAIR” ของโจทก์นำมาใช้กับบริการในจำพวก 39 รายการบริการการขนส่งทางอากาศ การขนส่งผู้โดยสาร การขนส่งสินค้า ฯลฯ ย่อมเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะของการบริการโดยตรง จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2)
คำว่า “SINGAPORE” แปลว่า สาธารณรัฐสิงคโปร์ ซึ่งเป็นชื่อของรัฐต่างประเทศ ถือได้ว่าเครื่องหมายบริการ คำว่า “SINGAPOREAIR” ของโจทก์มีชื่อของรัฐต่างประเทศอยู่ด้วย เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุญาตจากผู้ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ของประเทศสิงคโปร์ให้นำคำว่า “SINGAPORE” มาใช้เป็นชื่อทางการค้า คำขอของโจทก์จึงต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (6)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า เครื่องหมายบริการคำว่า “SINGAPOREAIR” ของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 667896 เป็นเครื่องหมายบริการที่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามกฎหมายและขอให้มีคำสั่งให้จำเลยดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการของโจทก์ต่อไป
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลดำเนินธุรกิจประเภทสายการบินและเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าและบริการคำว่า “SINGAPORE AIRLINES” โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการคำว่า “SINGAPOREAIR” กับบริการในจำพวก 39 รายการบริการ การขนส่งทางอากาศ การขนส่งผู้โดยสาร การขนส่งสินค้า การให้บริการจัดการนำเที่ยวพักผ่อนในวันหยุดแบบเป็นการเหมา การขนส่งยานพาหนะของผู้โดยสาร การขนส่งสัมภาระของผู้โดยสารและการขนส่งกระเป๋าเดินทางและสินค้าต่อจำเลยตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการเลขที่ 667896 แต่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยืนตามคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการของโจทก์
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า เครื่องหมายบริการคำว่า “SINGAPOREAIR” ที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนกับบริการในจำพวก 39 ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 667896 มีลักษณะบ่งเฉพาะ ชอบที่จะได้รับการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 หรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการจากคำว่า “SINGAPORE AIRLINES” ของโจทก์ที่ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้ว มาเป็นคำว่า “SINGAPOREAIR” เรียกขานว่า สิงคโปร์แอร์ ซึ่งเป็นคำที่ไม่มีความหมายในพจนานุกรม จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะนั้น เห็นว่า แม้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคหนึ่งและมาตรา 80 จะได้อธิบายความหมายของเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่มีลักษณะบ่งเฉพาะไว้ว่า ได้แก่ เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการอันมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าหรือบริการนั้นทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าหรือบริการที่ใช้เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการนั้นแตกต่างไปจากสินค้าหรือบริการอื่น เครื่องหมายบริการคำว่า “SINGAPOREAIR” ของโจทก์ ก็มีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าหรือบริการได้ทราบและเข้าใจได้ว่า การบริการที่ใช้เครื่องหมายบริการของโจทก์แตกต่างจากการบริการของเครื่องหมายบริการอื่นก็ตาม แต่มาตรา 7 วรรคสอง ยังได้กำหนดคุณสมบัติของเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่มีลักษณะบ่งเฉพาะไว้อีกในมาตรา 7 วรรคสอง (2) ว่า เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการซึ่งเป็นคำหรือข้อความต้องเป็นคำหรือข้อความอันไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าหรือบริการนั้นโดยตรง และไม่เป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ปัญหาว่า เครื่องหมายบริการคำว่า “SINGAPOREAIR” เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของบริการนั้นโดยตรงหรือไม่ เห็นว่า แม้คำที่โจทก์นำมาเรียงต่อกันจะเป็นคำภาษาโรมันขึ้นใหม่เพราะเรียงอักษรติดต่อกันไป แต่โจทก์และประชาชนทั่วไปก็เรียกขานว่า สิงคโปร์แอร์ ซึ่งเป็นคำเรียกขานของคำเดิมที่นำมาเรียงต่อกันนั่นเอง คำว่า “SINGAPORE” ตามพจนานุกรมและความเข้าใจของคนทั่วไปหมายถึง ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์และคำว่า “AIR” แปลว่า อากาศ จึงไม่อาจถือได้ว่าคำว่า “SINGAPOREAIR” ไม่มีคำแปลดังที่โจทก์กล่าวอ้างได้ เมื่อเครื่องหมายบริการคำว่า “SINGAPOREAIR” ของโจทก์นำมาใช้กับบริการในจำพวก 39 รายการบริการการขนส่งทางอากาศ การขนส่งผู้โดยสาร การขนส่งสินค้า ฯลฯ ย่อมเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะของการบริการโดยตรง จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ตามมาตรา 7 วรรคสอง (2) ของพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534
เมื่อคำว่า “SINGAPORE” แปลว่า ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ ซึ่งเป็นชื่อของรัฐต่างประเทศ ถือได้ว่า เครื่องหมายบริการคำว่า “SINGAPOREAIR” ของโจทก์มีชื่อของรัฐต่างประเทศอยู่ด้วย เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุญาตจากผู้ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ของประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ให้นำคำว่า “SINGAPORE” มาใช้เป็นชื่อทางการค้า คำขอของโจทก์จึงต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (6) ดังนั้น นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจึงไม่อาจรับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการคำว่า “SINGAPOREAIR” ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 667896 ของโจทก์ได้ กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไปว่า ได้มีการให้บริการขนส่งทางอากาศภายใต้เครื่องหมายบริการคำว่า “SINGAPOREAIR” หรือมีการเผยแพร่หรือโฆษณาบริการที่ใช้เครื่องหมายบริการดังกล่าวจนแพร่หลายหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ