แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีอากรประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา 14 และมาตรา 77 ซึ่งหากผู้ต้องเสียภาษีไม่ยื่นเสียภาษีหรือเสียภาษีไว้ไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินเมื่อ ตรวจสอบพบแล้วจะทำการประเมินภาษีแล้วแจ้งจำนวนภาษีที่จะต้องชำระไปยังผู้ต้องเสียภาษี ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 18เมื่อรับแจ้งแล้วผู้ต้องเสียภาษียังมีสิทธิที่จะอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และต่อศาลต่อไปตามลำดับได้ จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ก่อนทำการประเมินและแจ้งไปยังผู้ต้องเสียภาษี ยังไม่อาจถือได้ว่าผู้ต้องเสียภาษีเป็นหนี้ภาษีที่แน่นอนเมื่อยังถือไม่ได้ว่าเป็นหนี้ภาษีที่แน่นอน ผู้ต้องเสียภาษีจึงยังไม่อาจที่จะตกลงสละสิทธิหรือประนีประนอมยอมความในหนี้ภาษีนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 ได้ ฉะนั้นข้อตกลงตามบันทึกข้อตกลงที่โจทก์ได้ทำไว้ก่อนมีการประเมินภาษีดังกล่าวจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ยอมรับในข้อนี้ ดังจะเห็นได้ว่าต่อมาเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ได้แจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มไปยังโจทก์ หลังจากนั้นโจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินภาษีดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวยอมรับการอุทธรณ์รวมทั้งวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ ซึ่งหากจำเลยที่ 1เห็นว่าบันทึกข้อตกลงของโจทก์เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความอันมีผลทำให้หนี้ภาษีอากรระงับและโจทก์มีความผูกพันต้องชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ตามข้อต่อสู้และตามที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นใดที่จำเลยที่ 1 จะต้องแจ้งการประเมินภาษีไปยังโจทก์ รวมทั้งไม่จำเป็นต้องรับอุทธรณ์การประเมินและวินิจฉัยอุทธรณ์ให้อีก กรณียังฟังไม่ได้ว่าบันทึกข้อตกลง ของโจทก์เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความอันมีผลทำให้การเรียกร้องหนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จำเลยที่ 1 เรียกร้องจากโจทก์ระงับ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินพร้อมทั้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ได้ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77/1(20) และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534มาตรา 18 วรรคหนึ่งและวรรคสี่นั้น แม้สถานที่เก็บสินค้าจะถือว่าเป็นสถานที่ประกอบกิจการซึ่งในกรณีปกติจะต้องยื่นคำขอเครดิตภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าคงเหลือเป็นรายสถานประกอบการก็ดี แต่ก็มีข้อยกเว้นว่าหากผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับอนุมัติจากอธิบดีของจำเลยที่ 1 ให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีรวมกันแล้ว ในการขอเครดิตภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ประกอบการดังกล่าวยื่นคำขอเครดิตรวมกัน คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มได้รับอนุมัติจากอธิบดีของจำเลยที่ 1 ให้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มรวมกันแล้ว และโจทก์ก็ได้ยื่นคำขอเครดิตในการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าคงเหลือที่สำนักงานใหญ่ที่สาขาและที่เก็บสินค้ารวมกันแล้ว นอกจากนี้ยังปรากฏว่าอธิบดีของจำเลยที่ 1 เห็นชอบในกรณีนี้ด้วย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเครดิตภาษีสำหรับสินค้าคงเหลือของโจทก์ที่เก็บไว้ในคลังสินค้าเลขที่ 9/2 หมู่ที่ 6 ถนนบางนา-ตราด ตำบลบางโฉลงอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ และเลขที่ 19-23 ซอยพิชิตถนนมหาไชยแขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ด้วย ในบัญชีระบุพยานโจทก์อ้างระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการปฏิบัติงานกรรมวิธีแสดงแบบรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม พ.ศ. 2535ลงวันที่ 6 มกราคม 2535 และระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการปฏิบัติงานกรรมวิธีแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2536 ลงวันที่ 22 กันยายน 2536 เป็นพยานแต่ศาลภาษีอากรกลางมิได้นำเอกสารดังกล่าวมาวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงแต่อย่างใด ฉะนั้น การที่จำเลยอุทธรณ์เพื่อให้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการยื่นบัญชีระบุพยานของโจทก์ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเลขที่ 1047/5/101036 และเลขที่ 1047/5/101037ในส่วนที่ไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 450/2538/3 ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2538
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ถูกต้องและชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเลขที่ 1047/5/10136-101037(ที่ถูกเป็น 1047/5/101306-101037) และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 450/2538/3 เฉพาะส่วนที่โจทก์ได้รับสิทธิเครดิตภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 465,999.37 บาท และเงินเพิ่มที่คำนวณจากเงินจำนวนดังกล่าว คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้จากพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยทั้งสี่ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดประกอบกิจการค้าขายเครื่องใช้สำนักงาน กล้องถ่ายรูป และอื่น ๆ ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 1 ถึง 6 โจทก์เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม มีสถานประกอบการ คือ สำนักงานใหญ่ ตั้งอยู่เลขที่ 708 ถนนมหาไชย แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนครกรุงเทพมหานคร และสาขาสองแห่งตั้งอยู่เลขที่ 788-794ถนนจักรเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานครและเลขที่ 306 ถนนสีลม แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานครตามแบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเอกสารหมาย จ.6 แผ่นที่ 1โจทก์ได้รับอนุมัติให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มรวมกันตั้งแต่เดือนภาษีมกราคม 2535 ตามเอกสารหมาย จ.6 แผ่นที่ 5โจทก์มีคลังสินค้าสองแห่ง ตั้งอยู่เลขที่ 9/2 หมู่ที่ 6ถนนบางนา-ตราด ตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการและเลขที่ 19-23 ซอยพิชิต ถนนมหาไชย แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร จดทะเบียนเป็นสถานประกอบการเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2536 และวันที่ 2 มีนาคม 2536 ตามลำดับตามแบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.09)เอกสารหมาย จ.7 แผ่นที่ 2 ถึง 4 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2535โจทก์ยื่นแบบคำขอเครดิตในการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าคงเหลือ (ภ.พ.03.2) ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 มาตรา 18 ขอเครดิตภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าคงเหลือของเดือนภาษีมกราคมและกุมภาพันธ์ 2535 เดือนละ 859,788.79 บาท ตามเอกสารหมาย จ.3แผ่นที่ 10 พร้อมแนบรายละเอียดสินค้าคงเหลือที่ขอเครดิตจำนวน38 แผ่น ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 287 ถึง 324 ต่อมาเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2535 เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ไปตรวจปฏิบัติการเกี่ยวกับการขอเครดิตดังกล่าว ผลการตรวจปฏิบัติการเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เห็นว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเครดิตภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะที่สำนักงานใหญ่เป็นเงินเดือนละ 608,944.80 บาท ตามหนังสือแจ้งผลการตรวจปฏิบัติการเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 59ถึง 60 โดยเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ไม่ยอมไปตรวจนับจำนวนสินค้าคงเหลือของคลังสินค้าที่บางพลีและซอยพิชิตเนื่องจากขณะตรวจปฏิบัติการโจทก์ยังไม่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสถานประกอบการทั้งสองแห่งดังกล่าวหลังจากนั้นผู้รับมอบอำนาจโจทก์ได้ไปให้การต่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 แล้วทำบันทึกข้อตกลงการชำระภาษีอากร พร้อมกับยื่นคำร้องของดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 15 ถึง 19ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2535 และเงินเพิ่มรวมทั้งสิ้นเป็นจำนวนเงิน 671,007 บาท ไปยังโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 14 และ 15 แต่โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินจึงยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามคำอุทธรณ์เอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 37 ถึง 38 เจ้าหน้าที่ผู้พิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามรายละเอียดที่ปรากฏในเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 1ถึง 53 หลังจากนั้นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ ตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 1 ถึง 11 และเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 20 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ในประการแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ในข้อนี้จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่าโจทก์ได้ทำบันทึกข้อตกลงยอมรับผิดชำระหนี้ภาษีอากรต่อจำเลยที่ 1 ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย ล.1แผ่นที่ 16 ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 อันมีผลทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเพิกถอนการประเมินซึ่งได้มีการทำบันทึกยินยอมไปแล้วนั้นเห็นว่า ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีอากรประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา 14 และมาตรา 77 ซึ่งหากผู้ต้องเสียภาษีไม่ยื่นเสียภาษีหรือเสียภาษีไว้ไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินเมื่อตรวจสอบพบแล้วจะทำการประเมินภาษีแล้วแจ้งจำนวนภาษีที่จะต้องชำระไปยังผู้ต้องเสียภาษี ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 18 เมื่อรับแจ้งแล้วผู้ต้องเสียภาษียังมีสิทธิที่จะอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และต่อศาลต่อไปตามลำดับได้ จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าก่อนทำการประเมินและแจ้งไปยังผู้ต้องเสียภาษียังไม่อาจถือได้ว่าผู้ต้องเสียภาษีเป็นหนี้ภาษีที่แน่นอน เมื่อยังถือไม่ได้ว่าเป็นหนี้ภาษีที่แน่นอน ผู้ต้องเสียภาษีจึงยังไม่อาจที่จะตกลงสละสิทธิหรือประนีประนอมยอมความในหนี้ภาษีนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 ได้ ฉะนั้น ข้อตกลงตามบันทึกของเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 15 ถึง 19 ที่โจทก์ได้ทำไว้ก่อนมีการประเมินภาษีดังกล่าวจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ยอมรับในข้อนี้ดังจะเห็นได้ว่าต่อมาเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ได้แจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มไปยังโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 14 และ 15 หลังจากนั้นโจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินภาษีดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวยอมรับการอุทธรณ์รวมทั้งวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 1 ถึง 11 ซึ่งหากจำเลยที่ 1เห็นว่าบันทึกข้อตกลงของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 15ถึง 19 เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความอันมีผลทำให้หนี้ภาษีอากรระงับและโจทก์มีความผูกพันต้องชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความตามข้อต่อสู้และตามที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นใดที่จำเลยที่ 1 จะต้องแจ้งการประเมินภาษีไปยังโจทก์ รวมทั้งไม่จำเป็นต้องรับอุทธรณ์การประเมิน และวินิจฉัยอุทธรณ์ให้อีก จากข้อเท็จจริงและเหตุผลดังกล่าวจึงฟังไม่ได้ว่าบันทึกข้อความตามเอกสารหมาย ล.1แผ่นที่ 15 ถึง 19 เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความอันมีผลทำให้การเรียกร้องหนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จำเลยที่ 1 เรียกร้องจากโจทก์ระงับ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินพร้อมทั้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ได้
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ในประการต่อไปมีว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเครดิตภาษีสำหรับสินค้าคงเหลือของโจทก์ที่เก็บไว้ในคลังสินค้าของโจทก์ซึ่งตั้งอยู่ที่เลขที่ 9/2 หมู่ที่ 6 ถนนบางนา-ตราด ตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลีจังหวัดสมุทรปราการ และที่เลขที่ 19-23 ซอยพิชิต ถนนมหาไชยแขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 มาตรา 18หรือไม่ ในข้อนี้ประมวลรัษฎากร มาตรา 77/1 (20) บัญญัติไว้ว่า”สถานประกอบการ หมายความว่าสถานที่ซึ่งผู้ประกอบการใช้ประกอบกิจการเป็นประจำและให้หมายความรวมถึงสถานที่ซึ่งใช้เป็นที่ผลิตหรือเก็บสินค้าเป็นประจำด้วย” และตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 มาตรา 18 วรรคหนึ่งบัญญัติไว้เป็นใจความว่า “ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ยังมีสินค้าคงเหลืออยู่ในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2534 และพิสูจน์ได้ว่าสินค้าคงเหลือนั้นเป็นไปตามเงื่อนไขทุกข้อครบถ้วนตาม (1) ถึง (4) แล้ว ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวได้รับเครดิตในการชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม” และในมาตราดังกล่าววรรคสี่บัญญัติไว้ว่า “ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสถานประกอบการหลายแห่งให้ยื่นคำขอเครดิตเป็นรายสถานประกอบการ ทั้งนี้ เว้นแต่ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวได้รับอนุมัติจากอธิบดีให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีรวมกัน ก็ให้ยื่นคำขอเครดิตรวมกันณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่หรือสำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ที่สถานประกอบการเป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่” จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า แม้สถานที่เก็บสินค้าจะถือว่าเป็นสถานที่ประกอบการซึ่งในกรณีปกติจะต้องยื่นคำขอเครดิตภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าคงเหลือเป็นรายสถานประกอบการก็ดี แต่ก็มีข้อยกเว้นว่าหากผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับอนุมัติจากอธิบดีของจำเลยที่ 1ให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีรวมกันแล้ว ในการขอเครดิตภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ประกอบการค้าดังกล่าวยื่นคำขอเครดิตรวมกันซึ่งในคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มได้รับอนุมัติจากอธิบดีของจำเลยที่ 1 ให้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มรวมกันตามเอกสารหมาย จ.6 แผ่นที่ 5 แล้ว และโจทก์ก็ได้ยื่นคำขอเครดิตในการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าคงเหลือที่สำนักงานใหญ่ที่สาขาและที่เก็บสินค้ารวมกัน ตามเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 10ประกอบรายละเอียดสินค้าคงเหลือที่ขอเครดิต ตามเอกสารหมาย ล.1แผ่นที่ 287 ถึง 324 แล้วนอกจากนี้ยังปรากฏตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 20 และ 21 ซึ่งอธิบดีของจำเลยที่ 1เห็นชอบในกรณีทำนองเดียวกันว่า “การที่บริษัทฯ มีสถานประกอบการสองแห่ง แต่ได้ยื่นคำขอเครดิตภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าคงเหลือภายในกำหนดวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2535 ณ อำเภอท้องที่ หรือสำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ ที่สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เพียงแห่งเดียว แม้ว่าสินค้าคงเหลือจะอยู่ณ สถานประกอบการอีกแห่งที่มิใช่สำนักงานใหญ่ ก็ให้ถือว่าบริษัทฯได้ยื่นคำขอเครดิตหรือขอใช้สิทธิแล้ว หากว่าสินค้านั้นเป็นไปตามประเภท ลักษณะและเงื่อนไข ตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมฯ เมื่อบริษัทฯ ได้ยื่นขอจดทะเบียนเพิ่มสาขาแล้วย่อมได้รับสิทธิเครดิตในการชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ต้องนำเครดิตภาษีสำหรับสินค้าคงเหลือไปเป็นเครดิตในการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มณ สถานประกอบการที่ครอบครองสินค้าคงเหลือ” จากข้อเท็จจริงและข้อวินิจฉัยดังกล่าวโจทก์จึงมีสิทธิได้รับเครดิตภาษีสำหรับสินค้าคงเหลือของโจทก์ที่เก็บไว้ในคลังสินค้าเลขที่ 9/2 หมู่ที่ 6ถนนบางนา-ตราด ตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการและที่เลขที่ 19-23 ซอยพิชิต ถนนมหาไชย แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ด้วย
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ในประการต่อไปมีว่า สินค้าคงเหลือที่โจทก์ขอเครดิตในส่วนที่เก็บไว้ในคลังสินค้าบางพลี และที่ซอยพิชิตมีจำนวนเท่าใด ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า โจทก์นำสืบวิธีการเก็บสินค้าที่ได้มาและนำออกไป ตลอดจนวิธีทำบัญชีในการเก็บและควบคุมสินค้าและจำนวนสินค้าคงเหลือที่สำนักงานใหญ่และที่คลังสินค้าไว้ชัดเจนและแจ้งชัดถึงขนาดพยานจำเลยยอมรับว่าถูกต้องดังกล่าว จึงฟังได้ตามพยานหลักฐานโจทก์ว่า โจทก์มีสินค้าคงเหลือในคลังสินค้าที่บางพลีและที่ซอยพิชิตตามที่ขอเครดิตภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ต่อจำเลยที่ 1
ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ประการสุดท้ายมีว่า การที่ศาลภาษีอากรกลางอนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมฉบับลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2538 หลังจากมีการชี้สองสถานแล้วชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าบัญชีระบุพยานฉบับดังกล่าวโจทก์อ้างระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการปฏิบัติงานกรรมวิธีแสดงแบบรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม พ.ศ. 2535 ลงวันที่ 6 มกราคม 2535 และระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการปฏิบัติงานกรรมวิธีแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2536 ลงวันที่ 22 กันยายน2536 เป็นพยานแต่ศาลภาษีอากรกลางมิได้นำเอกสารดังกล่าวมาวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงแต่อย่างใด ฉะนั้น การที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์เพื่อให้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการยื่นบัญชีระบุพยานของโจทก์ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน