คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2153/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ห้ามจำเลยทำการซ่อมรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมเครื่องยนต์หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ รวมทั้งการเคาะและพ่นสีซึ่งก่อให้เกิดเสียงดัง หรือส่งกลิ่นเหม็นทำความเดือดร้อนรำคาญและเป็นอันตรายต่อร่างกายกับอนามัยของโจทก์ นั้น ถือได้ว่าเป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสอง แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2518 มาตรา 3 มิได้ห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ถึงแม้โจทก์จะมีคำขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 10,000 บาท และค่าเสียหายในอนาคตเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะไม่ละเมิดสิทธิของโจทก์อีกต่อไปก็ไม่ทำให้เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามความหมายของ
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินติดกับที่ดินของโจทก์ โจทก์อยู่อาศัยในที่ดินของโจทก์มาประมาณ ๔๔ ปี โดยปกติสุข ไม่มีเสียงดังให้เกิดความรำคาญ บริเวณที่ดินดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัย จำเลยใช้ที่ดินของจำเลยก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมซ่อมเคาะและพ่นสีรถยนต์ ฯลฯ จำเลยโดยจงใจและประมาทเลินเล่อทำต่อโจทก์และครอบครัวกับบุคคลอื่นที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงโดยผิดกฎหมาย ให้เสียหายแก่สุขภาพ ร่างกาย และอนามัย กล่าวคือ ทุกวันเว้นวันอาทิตย์ตั้งแต่เวลา ๘.๐๐ นาฬิกา ถึง ๑๗.๐๐ นาฬิกา และบางวันประมาณ ๕ ครั้งในหนึ่งเดือน ได้ปฏิบัติงานติดต่อไปจากเวลากลางวันจนถึงเวลา ๒๑.๐๐ นาฬิกา จำเลยใช้ให้ลูกจ้างของจำเลยเดินเครื่องยนต์อย่างเต็มที่ทดลองอุปกรณ์ห้ามล้อรถยนต์ แตรรถยนต์ เคาะตัวถังรถ ทำให้เกิดเสียงดังและกระเทือนเกินกว่าปกติ บางครั้งมีกลิ่นน้ำมันฟุ้งออกมาและเป็นควันตลบไปหมด เป็นเหตุให้โจทก์และครอบครัวกับบุคคลอื่น ๆ ได้รับความสะเทือนทางสมอง จิตใจไม่สงบ ไม่เป็นปกติ ปฏิบัติงานไม่ได้พักผ่อนก็ไม่สะดวก โจทก์และครอบครัวต้องไปหาแพทย์รักษาพยาบาลเกี่ยวแก่ประสาทและหัวใจ ฯลฯ ขอให้ศาลพิพากษาห้ามมิให้จำเลยทำการซ่อมรถยนต์ เคาะ และพ่นสี ก่อให้เกิดเสียงดัง ส่งกลิ่มเหม็น ทำความเดือดร้อนรำคาญแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย ๑๐,๐๐๐ บาท และต่อไปเดือนละ ๕,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะไม่ละเมิดสิทธิของโจทก์
จำเลยให้การว่า การซ่อมรถของจำเลยไม่ได้เดินเครื่องเต็มที่ เพื่อทดลองอุปกรณ์ห้ามล้อรถยนต์ ไม่ได้ทดลองแตร ไม่ต้องเดินเครื่องหรือเร่งเครื่องยนต์เต็มที่จนมีกลิ่นน้ำมันฟุ้งเป็นควันตลบ ไม่มีการรับเคาะตัวถังรถยนต์หรือพ่นสี ฯลฯ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาห้ามมิให้จำเลยกระทำการอันก่อให้เกิดเสียงดังและส่งกลิ่นเหม็น ทำความเดือดร้อนรำคาญแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ๑๐,๐๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่สามารถสืบได้ว่าโรงงานของจำเลยก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญดังโจทก์ฟ้อง และโจทก์สืบไม่สมฟ้องในเรื่องค่าเสียหายขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดเป็นเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท และค่าเสียหายในอนาคตเดือนละ ๕,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะไม่ละเมิดสิทธิของโจทก์อีกต่อไป จึงเป็นคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินสองหมื่นบาท เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วจำเลยอุทธรณ์ได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย แต่อุทธรณ์ของจำเลยทั้งหมดเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความแพ่ง มาตรา ๒๒๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๖) พ.ศ.๒๕๑๗ (ที่ถูก พ.ศ.๒๕๑๘) มาตรา ๓ พิพากษายกอุทธรณ์จำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ห้ามจำเลยทำการซ่อมรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมเครื่องยนต์หรืออุปกรณ์ ต่าง ๆ รวมทั้งการเคาะและพ่นสีซึ่งก่อให้เกิดเสียงดังหรือส่งกลิ่นเหม็นทำความเดือดร้อนรำคาญและเป็นอันตรายต่อร่างกายกับอนามัยของโจทก์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๔ วรรคสอง ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๖) พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๓ มิได้ห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงถึงแม้โจทก์จะมีคำขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ๑๐,๐๐๐ บาท และค่าเสียหายในอนาคตเดือนละ ๕,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะไม่ละเมิดสิทธิของโจทก์อีกต่อไป ก็ไม่ทำให้เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามความหมายของมาตรา ๒๒๔ วรรคแรก ซึ่งจำเลยหมดสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป

Share