คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2152/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดที่กำหนดให้ใช้หลักเกณฑ์การคำนวณเงินได้บุคคลธรรมดาของโจทก์สำหรับปี พ.ศ. 2528โดยอาศัยเงินได้สำหรับปี พ.ศ. 2530 เป็นฐาน แต่เมื่อโจทก์ไม่มีบัญชีหรือพยานหลักฐานใด ๆ ให้กรมสรรพากรจำเลยตรวจสอบได้ และในที่สุดโจทก์ก็ยอมรับสภาพหนี้ตามที่พนักงานตรวจสอบแจ้งยอดหนี้ภาษีอากรให้โจทก์ทราบ ดังนี้ โจทก์ก็จำต้องชำระหนี้ภาษีอากรดังกล่าว การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตลอดจนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็สืบเนื่องต่อมาจากการรับสภาพหนี้ของโจทก์ดังกล่าว จึงถือได้ว่าการประเมินนั้นชอบแล้ว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีพ.ศ. 2528 ให้โจทก์เสียภาษีเงินได้พร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่มเป็นเงิน99,727.10 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วย จึงอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการฯ วินิจฉัยยกคำอุทธรณ์ของโจทก์ โดยให้เหตุผลว่า การประเมินของเจ้าพนักงานที่อาศัยถ้อยคำของโจทก์และหลักฐานการขายของปีภาษี 2530 เป็นหลักเพื่อหารายรับที่แท้จริงของปีภาษี 2528 เป็นการปฏิบัติชอบแล้ว โจทก์ไม่เห็นด้วยเนื่องจากการประเมินดังกล่าวเป็นการประเมินโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร คือมิได้ออกหมายเรียกตัวโจทก์มาไต่สวนและให้โจทก์นำบัญชีหรือพยานหลักฐานมาแสดง การประเมินของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการฯ จึงไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยมาตรา 19 และ 20แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว และมิใช่การประเมินตามมาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากร ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “…ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีเพียงว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวจำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยใช้เงินได้พึงประเมินของปีภาษีพ.ศ. 2530 เป็นฐานในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี พ.ศ. 2528 ของโจทก์ เพราะโจทก์ไม่ได้จัดทำบัญชีไว้เป็นหลักฐานสำหรับปี พ.ศ. 2528 กับจำเลยได้พิจารณาประกอบกับคำรับของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.18 ส่วนฝ่ายโจทก์โต้แย้งว่า จำเลยจะอาศัยหลักเกณฑ์การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเช่นนั้นไม่ได้ เพราะไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้ใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ การประเมินของเจ้าพนักงานจะต้องใช้เงินได้พึงประเมินที่โจทก์ได้รับในปีพ.ศ. 2528 เป็นฐานจึงจะถูกต้อง ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติตามคำวินิจฉัยของศาลภาษีอากรกลาง โดยโจทก์ได้อุทธรณ์ว่าเจ้าพนักงานของจำเลยได้ออกหมายเรียกตัวโจทก์และให้โจทก์ส่งบัญชีหรือพยานหลักฐานในการไต่สวนการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี พ.ศ. 2528ของโจทก์โดยชอบแล้ว และข้อเท็จจริงได้ความต่อไปว่า โจทก์มิได้ส่งบัญชีหรือพยานหลักฐานใด ๆ ให้แก่จำเลย แต่ตัวโจทก์ได้ไปให้การไว้ต่อนางสาลี่ บุรีรักษ์ เจ้าพนักงานตรวจสอบของจำเลย ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.18 ที่โจทก์แก้อุทธรณ์ว่า มีการตกเติมข้อความในเอกสารหมาย ล.18 ที่ว่า “ข้าฯ ยอมรับว่าข้าฯ มีรายได้โดยเฉลี่ยเท่านั้นจริง” นั้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เบิกความไว้เช่นนั้น และนางสาลี่ก็เบิกความยืนยันว่าโจทก์ก็ให้การไว้ปรากฏตามเอกสารหมายล.18 ถูกต้อง ดังนั้น จึงฟังได้ว่าโจทก์ได้ให้การไว้เป็นข้อความตามที่ปรากฏในเอกสารหมาย ล.18 ดังกล่าว จริงอยู่ ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดที่กำหนดให้ใช้หลักเกณฑ์การคำนวณเงินได้ของโจทก์สำหรับปี พ.ศ. 2528 โดยอาศัยเงินได้สำหรับปี พ.ศ. 2530 เป็นฐาน แต่เมื่อพิจารณาเอกสารหมาย ล.18 โดยละเอียดแล้ว การที่โจทก์ให้การชี้แจงยอมรับว่าโจทก์ได้ยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี พ.ศ.2528 โดยแสดงเงินได้ต่ำกว่าความเป็นจริง โจทก์ยินยอมให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีเพิ่มเติม และจะชำระภาษีให้ครบต่อไปตามจำนวนหนี้ภาษีอากรจำนวน 128,139.37 บาท ที่นางสาลี่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบ และบันทึกไว้ในเอกสารดังกล่าว โดยจำเลยไม่มีข้อโต้แย้งหรือมีปัญหาในข้อกฎหมายอย่างใดนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว และการที่เจ้าพนักงานประเมินพิจารณาลดเบี้ยปรับลง คงเรียกเก็บเพียงร้อยละ50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย เป็นเหตุให้หนี้ภาษีอากรลดลงเหลือจำนวน 99,727.10 บาท นั้น ก็นับว่าเป็นคุณแก่โจทก์อยู่แล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อโจทก์ไม่มีบัญชีหรือพยานหลักฐานใด ๆ ให้จำเลยตรวจสอบได้ และในที่สุดโจทก์ก็ยอมรับสภาพหนี้ตามที่พนักงานตรวจสอบแจ้งยอดหนี้ภาษีอากรให้โจทก์ทราบนั้น โจทก์ก็จำต้องชำระหนี้ภาษีอากรดังกล่าว และการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน ตลอดจนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็สืบเนื่องต่อมาจากการรับสภาพหนี้ของโจทก์ดังกล่าวนั่นเอง จึงถือได้ว่าเป็นการชอบแล้วที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share