คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3254/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นายจ้างกำหนดให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา โดยกรมแรงงานมีคำสั่งอนุมัติแล้ว นายจ้างจึงประกาศกำหนดให้ลูกจ้างปฏิบัติงานตอนกลางคืนเวลา 20 นาฬิกา ถึง 8 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น หากลูกจ้างไม่มาปฏิบัติงานและไม่แจ้งล่วงหน้า ให้ถือว่าลูกจ้างผู้นั้นขาดงานและละทิ้งหน้าที่ ดังนี้ลูกจ้างมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามประกาศ เมื่อลูกจ้างไม่ปฏิบัติงานล่วงเวลาโดยไม่แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบล่วงหน้าย่อมผิดข้อบังคับ ลูกจ้างจะอ้างว่าเป็นสิทธิที่จะไม่ปฏิบัติงานล่วงเวลาหาได้ไม่ และการละทิ้งหน้าที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายประมาณ 600,000 บาท ถือว่าลูกจ้างกระทำผิดเป็นกรณีร้ายแรงและเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย.

ย่อยาว

โจทก์ยื่นคำร้องว่าระหว่างวันที่ ๗ ถึงวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๓๑ นายวิสุทธิ์ แก้วสุข ลูกจ้างของผู้ร้อง ซึ่งทำงานตำแหน่งพนักงานคุมเครื่องจักรและเป็นกรรมการลูกจ้างได้จงใจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย ไม่ปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องในการทำงานกะกลางคืนระหว่างเวลา ๒๐ นาฬิกาถึง ๘ นาฬิกา ทำให้ผู้ร้องเสียหายต่อการผลิตเป็นเงินประมาณ ๖๐๐,๐๐๐ บาท อันเป็นการผิดระเบียบวินัยของผู้ร้องอย่างร้ายแรง ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เลิกจ้างนายวิสุทธิ์ แก้วสุข กรรมการลูกจ้าง
นายวิสุทธิ์ แก้วสุข ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเข้าทำงานตั้งแต่เวลา ๒๐ นาฬิกาถึง ๔ นาฬิกา เป็นเวลา ๘ ชั่วโมงโดยไม่มีเวลาพักและหลังจากเวลา ๔ นาฬิกาถึง ๘ นาฬิกาเป็นการทำงานล่วงเวลา ผู้คัดค้านมีสิทธิจะไม่ทำงานล่วงเวลานี้ได้ การไม่ทำงานล่วงเวลาไม่เป็นการจงใจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย ขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างนายวิสุทธิ์ แก้วสุข กรรมการลูกจ้าง
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ผู้ร้องมีประกาศกำหนดการทำงานในเวลากลางคืน ซึ่งกรมแรงงานมีคำสั่งอนุมัติแล้วโดยกำหนดให้ลูกจ้างปฏิบัติงานตอนกลางคืนระหว่างเวลา ๒๐ นาฬิกาถึง ๘ นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น ส่วนที่ปฏิบัติงานเกินกว่า ๘ ชั่วโมงต่อเนื่องกันนั้น ให้ถือเป็นการปฏิบัติงานล่วงเวลา และหากลูกจ้างมิได้มาปฏิบัติงานตอนกลางคืนตามที่ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาถ้าไม่แจ้งล่วงหน้าให้ถือว่าลูกจ้างผู้นั้นขาดงานและละทิ้งหน้าที่ ในกรณีที่แจ้งล่วงหน้าให้แจ้งก่อนเวลา ๑๒ นาฬิกาของวันนั้นผู้คัดค้านย่อมมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวหากผู้คัดค้านจะไม่ปฏิบัติงานล่วงเวลาระหว่าง ๔ นาฬิกาถึง ๘ นาฬิกา ผู้คัดค้านต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบล่วงหน้า เมื่อผู้คัดค้านได้ปฏิบัติงานในตอนกลางคืนตั้งแต่เวลา ๒๐ นาฬิกาถึง ๔ นาฬิกาแล้วหยุดงานที่จะต้องปฏิบัติตั้งแต่เวลา ๔ นาฬิกาถึง ๘ นาฬิกา ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานล่วงเวลาไปโดยมิได้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบล่วงหน้าเช่นนี้ ย่อมเป็นการปฏิบัติผิดต่อข้อบังคับของผู้ร้อง การไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของผู้ร้องดังกล่าวนั้นผู้คัดค้านจะอ้างว่าเป็นสิทธิที่ตนจะไม่ปฏิบัติงานล่วงเวลาหาได้ไม่และการละทิ้งหน้าที่ไปจนเป็นเหตุให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายคิดเป็นเงินประมาณ ๖๐๐,๐๐๐ บาท ย่อมถือได้ว่าผู้คัดค้านได้กระทำความผิดเป็นกรณีร้ายแรงแล้ว และเป็นการจงใจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย ผู้ร้องมีสิทธิเลิกจ้างผู้คัดค้านได้
พิพากษายืน.

Share