คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 215/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 16) ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2529 ข้อ 2 กำหนดว่า ประกาศนี้มิให้ใช้บังคับแก่ (1) งานเกษตรกรรม ฯลฯ (2) งานอื่นตามที่กระทรวงมหาดไทยจะได้กำหนด แสดงว่ากิจการที่ไม่อยู่ในบังคับเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะต้องมีการกำหนดขึ้นตามข้อ 2 ดังกล่าว เมื่อยังมิได้มีการกำหนดว่า การจ้างแรงงานที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจไม่อยู่ในบังคับของประกาศนี้ซึ่งเป็นประกาศที่มีวัตถุประสงค์ให้ความคุ้มครองแรงงานต่างกับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานแล้ว การจ้างแรงงานดังกล่าวจึงอยู่ในบังคับเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๒๘ จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๑,๖๐๐ บาท ต่อมาวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๓๐ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และตลอดเวลาที่โจทก์ทำงานกับจำเลย จำเลยจ่ายค่าจ้างไม่ครบตามค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย นอกจากนี้โจทก์ยังมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและวันหยุดตามประเพณีอีกด้วย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหาย ค่าจ้างที่ขาด ค่าชดเชย และดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งห้าให้การว่า จำเลยทั้งห้าเป็นกรรมการแฟลต เคหะชุมชนดินแดง ได้รับเงินมาจากเคหะชุมชน และใช้เงินนี้จ่ายเป็นค่าจ้างที่โจทก์มาทำงาน โจทก์มาทำงานถึงวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๓๐ แล้วโจทก์หยุดงานไปไม่มาทำงานเลย โดยจำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ โจทก์หยุดงานไปเองและการจ้างงานระหว่างโจทก์จำเลยเป็นการจ้างที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ จึงเป็นกิจการที่มิได้ใช้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ว่ากิจการที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจนั้น ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้กล่าวถึงไว้เลยว่า ถ้าเป็นกิจการที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจแล้วไม่ต้องจ่ายค่าจ้างชั้นต่ำ พิเคราะห์แล้ว ตามอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์ประสงค์เพียงให้จำเลยทั้งห้าจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งตามประกาศดังกล่าวทุกฉบับ โดยเฉพาะฉบับที่ ๑๒ ลงวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๙ ได้กำหนดไว้ในข้อ ๒ ว่า “ประกาศนี้มิให้ใช้บังคับแก่ (๑) งานเกษตรกรรม ซึ่งได้แก่งานเพาะปลูก งานประมง งานป่าไม้ และงานเลี้ยงสัตว์ (๒) งานอื่นตามที่กระทรวงมหาดมหาดไทยจะได้กำหนด” สำหรับงานอื่นตามที่กระทรวงมหาดไทยจะได้กำหนดนั้น จนบัดนี้ ยังไม่ปรากฏว่ากระทรวงมหาดไทยได้กำหนดประเภทของงานดังกล่าวไว้ ที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดกิจการที่มิให้ใช้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๕ กำหนดว่า “มิให้ใช้บังคับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน แก่กิจการดังต่อไปนี้………(๒) การจ้างงานที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ” นั้น เห็นว่า ประกาศฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การคุ้มครองแรงงานในส่วนที่เป็นเรื่องทั่ว ๆ ไป หาได้รวมถึงการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำด้วยไม่ เพราะถ้าจะให้การจ้างงานที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจได้รับความคุ้มครองไม่ต้องจ่ายค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำด้วยแล้วในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขึ้นต่ำ ฉบับที่ ๑๖ ก็ไม่จำเป็นต้องกำหนดความในข้อ ๒ ไว้อีก ความในข้อ ๒ แห่งประกาศดังกล่าวแสดงว่า กิจการใดที่ไม่ต้องอยู่ในบังคับเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะต้องได้กำหนดขึ้นเป็นพิเศษอีกชั้นหนึ่งต่างหาก เมื่อยังมิได้มีการกำหนดว่า การจ้างงานที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจไม่อยู่ในบังคับของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำจำเลยทั้งห้าก็ต้องจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เท่ากับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามที่กระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนดไว้ ปรากฏว่าโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยทั้งห้าเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๒๘ และสถานที่ที่โจทก์ทำงานอยู่ในกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๒๘ ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๓๐ (ตามที่ขอมาในฟ้อง) จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ในอัตราวันละ ๗๐ บาท ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ ๑๕) ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๒๘ แต่จำเลยทั้งห้าจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เพียงเดือนละ ๑,๖๐๐ บาท ยังขาดอยู่อีกเดือนละ ๕๐๐ บาท รวม ๑๙ เดือน เป็นเงิน ๙,๕๐๐ บาท และตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๓๐ ถึงเดือนกรกฎาคม ๒๕๓๐ (ตามที่ขอมาในฟ้อง) จำเลยทั้งห้าต้องจ่ายค่าจ้างให้โจทก์วันละ ๗๓ บาท ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ ๑๖) ลงวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๙ ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๓๐ แต่จำเลยทั้งห้าจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เพียงเดือนละ ๑,๖๐๐ บาท ยังขาดอยู่อีกเดือนละ ๕๙๐ บาท รวม ๔ เดือน เป็นเงิน ๒,๓๖๐ บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งห้าจ่ายค่าจ้างในอัตราส่วนที่ยังต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรวม ๑๑,๘๖๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๓๐ แก่โจทก์จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share