คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 215/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยเข้าทำนาและกั้นรั้วในถนนสาธารณประโยชน์ เนื่องจากคณะกรรมการพัฒนาหมู่บ้านได้ขอตัดถนนสายใหม่ผ่านกลางที่นาของสามีจำเลย คณะกรรมการดังกล่าวมิได้จ่ายค่าทดแทนที่ดินให้จึงให้สามีจำเลยและจำเลยทำนาในที่ดินส่วนหนึ่งของถนนสาธารณประโยชน์สายเก่าแทน เช่นนี้ การที่จำเลยเข้าทำนาในที่พิพาทโดยความยินยอมของคณะกรรมการดังกล่าวมิได้กระทำไปโดยเจตนาที่จะบุกรุกที่ดินอันเป็นสาธารณประโยชน์ แม้ต่อมาจำเลยจะทราบจากผู้ใหญ่บ้านว่าที่ดินส่วนที่จำเลยทำนาเป็นถนนสาธารณสมบัติของแผ่นดินก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาบุกรุกเพราะจำเลยเข้าใจมาแต่ต้นว่าจำเลยมีสิทธิที่จะทำนาในที่ดินส่วนนั้นได้.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินซึ่งเป็นถนนสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้สัญจรไปมาร่วมกันโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และจำเลยได้ขัดคำสั่งพนักงานไม่ยอมออกไปจากที่ดินดังกล่าวโดยไม่มีเหตุและข้อแก้ตัวอันสมควรขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 9, 108,108 ทวิ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368, 91 ให้จำเลยและบริวารของจำเลยออกจากที่ดินที่ยึดถือครอบครอง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินพ.ศ. 2497 มาตรา 9, 108 ทวิ วรรคสอง ให้จำคุก 6 เดือน ปรับ 6,000 บาทและมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ให้ปรับ 450 บาทรวมจำคุก 6 เดือน และปรับ 6,450 บาท คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 4 เดือน และปรับ4,300 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกมีกำหนด 1 ปี และให้จำเลยและบริวารของจำเลยออกจากที่ดินที่ยึดถือครอบครอง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…..ได้ความตามที่ไม่ได้โต้แย้งกันว่าจำเลยเป็นภรรยานายพรม มณีนาถ แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย นายพรมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่นาแปลงที่อยู่ติดต่อกับถนนสาธารณประโยชน์สายเก่า ซึ่งมีความกว้างประมาณ 10 เมตรและเป็นที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จำเลยและนายพรมได้กั้นรั้วเข้าไปในเขตถนนสาธารณประโยชน์สายเก่ามีความกว้างประมาณ 7 เมตร เนื่องจากคณะกรรมการพัฒนาหมู่บ้านได้ตัดถนนสายใหม่ผ่านกลางเข้าไปในที่ดินของนายพรม จึงได้ยินยอมให้จำเลยและนายพรมทำนาในเขตที่ดินถนนสายเก่าในส่วนที่กั้นรั้วไว้ ต่อมานายพรมถึงแก่กรรมเมื่อเดือนเมษายน 2526 หลังจากนายพรมถึงแก่กรรมแล้วจำเลยได้ครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวอย่างเป็นเจ้าของสืบต่อมา นายอ้วย ช่วงสิมมา ผู้ใหญ่บ้านได้แจ้งให้จำเลยทราบว่าที่ดินส่วนที่นายพรมกั้นรั้วและใช้ในการทำนานั้นเป็นถนนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งมีไว้ให้ประชาชนใช้ร่วมกันจำเลยจะใช้เป็นพื้นที่ในการทำนาต่อไปอีกไม่ได้ เพราะทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถที่จะใช้ทางสาธารณะซึ่งมีความกว้างเหลืออยู่เพียง 3 เมตรและเป็นหลุมเป็นบ่อนำเกวียนบรรทุกข้าวจากทุ่งนาเข้าไปในบ้านของตนได้ ขอให้จำเลยรื้อรั้วและไม่ใช้ถนนสาธารณประโยชน์นั้นทำนาอีกต่อไป แต่จำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามที่นายอ้วยผู้ใหญ่บ้านแจ้งให้จำเลยทราบ จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วเห็นได้ว่า การที่จำเลยและนายพรมเข้าทำนาและกั้นรั้วในถนนสาธารณประโยชน์มีความกว้างประมาณ7 เมตรนั้นเนื่องจากคณะกรรมการพัฒนาหมู่บ้านได้ขอตัดถนนสายใหม่ผ่านกลางที่นาของนายพรมสามีจำเลยและถนนสายใหม่นี้มีความกว้างถึง 10 เมตรคณะกรรมการดังกล่าวไม่ได้จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินที่ตัดถนนสายใหม่ให้แก่นายพรมจึงให้นายพรมและจำเลยทำนาในที่ดินส่วนหนึ่งของถนนสาธารณประโยชน์สายเก่ามีความกว้าง 7 เมตรแทน จึงเห็นได้ว่าการที่จำเลยเข้าไปทำนาในที่พิพาทแทนที่ที่ดินของนายพรมที่ถูกตัดถนนสาธารณประโยชน์สายใหม่โดยความยินยอมของคณะกรรมการพัฒนาหมู่บ้านนั้นไม่ได้กระทำไปโดยเจตนาที่จะบุกรุกที่ดินอันเป็นถนนสาธารณประโยชน์แต่อย่างใด ถึงแม้ต่อมาจำเลยจะได้ทราบจากนายอ้วย ช่วงสิมมาผู้ใหญ่บ้านว่าที่ดินส่วนที่จำเลยทำนาและกั้นรั้วนั้นเป็นถนนสาธารณสมบัติของแผ่นดินก็ตามก็ยังไม่เพียงพอที่จะฟังว่าจำเลยมีเจตนาบุกรุกถนนสาธารณประโยชน์เพราะจำเลยเข้าใจมาแต่ต้นว่าจำเลยมีสิทธิที่จะทำนาและกั้นรั้วในที่ดินส่วนนั้นได้
ปัญหาข้อต่อไปที่ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานหรือไม่ปัญหาข้อนี้ได้ความว่าได้ส่งหนังสือคำสั่งของนายอำเภอตามเอกสารหมาย จ.5 ไปถึงจำเลยโดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งปรากฏว่าเด็กหญิงแจ่มจันทร์ หนูบุญ ได้ลงชื่อเป็นผู้รับ เด็กหญิงแจ่มจันทร์เบิกความว่า เมื่อได้รับจดหมายลงทะเบียนตามเอกสารหมาย จ.7 แล้ว ได้นำจดหมายดังกล่าวไปมอบให้เด็กชายเอหลานชายจำเลยเพื่อนำไปส่งให้แก่จำเลย เด็กชายเอ หรือนรินทร์ ตาทองเบิกความว่าไม่เคยได้รับจดหมายจากเด็กหญิงแจ่มจันทร์เพื่อเอาไปให้แก่จำเลย ในชั้นจับกุมและสอบสวนจำเลยก็ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้รับหนังสือคำสั่งของนายอำเภอ ดังนั้นพยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่เพียงพอที่จะให้รับฟังได้ว่าจำเลยได้ทราบคำสั่งของนายอำเภอ จำเลยจึงไม่ได้กระทำความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานดังที่โจทก์ฟ้อง ศาลฎีกาเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในผล ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน

Share