แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายว่า จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คพิพาทซึ่งสั่งจ่ายเงินแก่ผู้ถือ โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คดังกล่าวโดยได้รับมอบเช็คมาจากผู้มีชื่อซึ่งนำมาชำระหนี้ ต่อมาธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายและจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1จึงต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์สภาพแห่งข้อหาก็คือจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คพิพาทแก่ผู้ถือเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้ทรง จำเลยที่ 2เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ทั้งโจทก์ได้มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยไว้แล้ว จึงเป็นคำฟ้องที่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้บรรยายไว้ว่าจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดในฐานะใด โจทก์ได้รับเช็คพิพาทจากใคร ชำระหนี้ค่าอะไรนั้นมิใช่สภาพแห่งข้อหาคงเป็นเพียงรายละเอียดที่จะนำสืบในชั้นพิจารณา แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายไว้ก็ไม่ทำให้คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม แม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะระบุไว้เพียงว่า ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 53,750 บาทและดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน50,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์โดยมิได้ระบุว่าให้จำเลยทั้งสองรับผิดดังกล่าวก็ตามแต่คำฟ้องของโจทก์ได้ระบุว่าขอยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองไว้โดยชัดแจ้งทั้งบรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินตามเช็คและดอกเบี้ยแก่โจทก์ จึงเป็นที่เข้าใจได้แล้วว่า ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมรับผิดชำระเงินตามเช็คและดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามคำบรรยายในตอนต้นนั้นเอง การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ตามฟ้องจึงไม่เกินคำขอ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารกสิกรไทย สาขาถนนติวานนท์(แคราย) ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2529 ซึ่งจำเลยทั้งสองเป็นผู้สั่งจ่ายเงินจำนวนเงิน 50,000 บาท แก่ผู้มีชื่อ และผู้มีชื่อนำมามอบให้โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้ เมื่อโจทก์นำไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2529 ซึ่งเป็นวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจนถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ย3,750 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 53,750 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 50,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความโจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาทจากนายชาญ เนียมประดิษฐ์ มาโดยคบคิดกันฉ้อฉลจำเลยทั้งสอง โจทก์กับนายชาญ เนียมประดิษฐ์ไม่มีหนี้ต่อกัน โจทก์จึงมิใช่ผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน50,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2530 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อแรกมีว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่จำเลยทั้งสองอ้างว่าคำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายว่า จำเลยที่ 2จะต้องรับผิดในฐานะใดโจทก์ได้รับเช็คพิพาทจากใคร ชำระหนี้ค่าอะไร และสำเนาฟ้องที่ส่งให้จำเลยทั้งสองก็ไม่ลงวันที่ที่ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองไม่สามารถต่อสู้คดีในเรื่องอายุความได้ถูกต้องศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า คำฟ้องต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ และคำขอบังคับทั้งสองขออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นข้อเท็จจริงปรากฏว่า คำฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วว่าจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คพิพาทตามสำเนาท้ายฟ้องซึ่งสั่งจ่ายเงินแก่ผู้ซื้อ โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คดังกล่าวโดยได้รับมอบเช็คมาจากผู้มีชื่อซึ่งนำมาชำระหนี้ ต่อมาธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายและจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ สภาพแห่งข้อหาก็คือจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คพิพาทแก่ผู้ถือเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้ทรง จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยทั้งโจทก์ได้มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยไว้แล้ว จึงเป็นคำฟ้องที่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามที่กฎหมายดังกล่าวบัญญัติไว้ ข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้บรรยายไว้ตามข้อฎีกาของจำเลยทั้งสองนั้นมิใช่สภาพแห่งข้อหาคงเป็นเพียงรายละเอียดที่จะนำสืบในชั้นพิจารณา แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายไว้ก็ไม่ทำให้คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมแต่อย่างใด
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในข้อที่ 2 มีว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้นเกินคำขอหรือไม่ เห็นว่า แม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะระบุไว้เพียงว่าขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 53,750 บาทและดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงินจำนวน 50,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์โดยมิได้ระบุว่าให้จำเลยทั้งสองรับผิดดังกล่าวก็ตาม แต่คำฟ้องของโจทก์ได้ระบุว่าขอยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองไว้โดยชัดแจ้งทั้งบรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินตามเช็คและดอกเบี้ยแก่โจทก์ ดังนั้นคำขอท้ายฟ้องที่ระบุเพียงว่าให้จำเลยรับผิดชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จึงเป็นที่เข้าใจได้แล้วว่าขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระเงินตามเช็คและดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามคำบรรยายในตอนต้นนั้นเอง การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ตามฟ้องจึงไม่เกินคำขอแต่อย่างใด
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในข้อที่ 3 มีว่า นายชาญโอนเช็คพิพาทแก่โจทก์ โดยคบคิดกันฉ้อฉลจำเลยทั้งสองหรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า พยานจำเลยทั้งสองไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังว่า โจทก์รับโอนเช็คพิพาทมาโดยคบคิดกับนายชาญฉ้อฉลจำเลยทั้งสอง พฤติการณ์ที่โจทก์ไม่ฟ้องนายชาญทั้ง ๆ ที่นายชาญมีฐานะดีนายชาญเป็นผู้จัดหาทนายความและออกค่าใช้จ่ายในการฟ้องคดีก็ตาม ก็เป็นสิทธิของโจทก์และเป็นเหตุการณ์ภายหลังจากนายชาญโอนเช็คพิพาทแก่โจทก์แล้วไม่อาจบ่งชี้ได้ว่านายชาญไม่ได้มีหนี้สินต่อโจทก์หรือโจทก์คบคิดกับนายชาญฉ้อฉลจำเลยทั้งสอง จึงต้องฟังว่านายชาญมอบเช็คพิพาทแก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างโจทก์มีเช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเงินแก่ผู้ถืออยู่ในครอบครองจึงเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย
พิพากษายืน