คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5414/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ลงโทษปรับ10,000 บาท แม้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 ลงโทษปรับ 4,000 บาท ก็ตาม ก็คงเป็นการปรับบทกฎหมายที่ใช้ในภายหลังในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นการแก้ไขเล็กน้อย คดีสำหรับจำเลยที่ 2 จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่ามีการยอมความกันแล้ว โดยไม่วินิจฉัยปัญหาอื่น โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความโดยถูกต้องตามกฎหมายสิทธินำคดีอาญาฟ้องไม่ระงับ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี จำเลยไม่ฎีกาฉะนั้นปัญหาเรื่องการยอมความจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่แล้ว จำเลยทั้งสองจะหยิบยกปัญหาดังกล่าวนี้ขึ้นอุทธรณ์อีกหาได้ไม่ เพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 144 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้นั้นชอบแล้ว และจำเลยทั้งสองหามีสิทธิฎีกาต่อมาอีกไม่ แม้คดีสำหรับจำเลยที่ 2 จะต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเช็คที่จำเลยที่ 1 ออกไม่มีมูลหนี้ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวเนื่องกับจำเลยที่ 2ผู้ร่วมออกเช็ค อันเป็นเหตุในลักษณะคดี จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2กระทำผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงิน ศาลฎีกามีอำนาจยกฟ้องตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ทั้งหกสำนวนฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โดยจำเลยที่ 1 และนายวินัย เพชรศิริ ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 2 มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2 ได้ จำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คธนาคารศรีนคร จำกัด 4 ฉบับ จำนวนเงินฉบับละ 100,000 บาท สั่งจ่ายเช็คธนาคารเอเซียทรัสท์ จำกัด 1 ฉบับ จำนวนเงิน 58,000 บาทและจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด 1 ฉบับ จำนวนเงิน 81,000 บาท แล้วมอบเช็คทั้งหมดให้โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้ ต่อมาธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับ โดยจำเลยออกเช็คโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องคดีทั้งหกสำนวนแล้ว เห็นว่าคดีโจทก์ทั้งหกสำนวนมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปเพราะมีการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งหกสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดียังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องไม่ระงับ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่แล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 สำนวนที่ 1 ถึงสำนวนที่ 5ลงโทษจำเลยที่ 1 สำนวนละ 4 เดือน สำนวนที่ 6 ลงโทษจำเลยที่ 1มีกำหนด 4 เดือน จำเลยที่ 2 ปรับ 10,000 บาท การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด24 เดือน โทษจำคุกจำเลยที่ 1 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56
โจทก์ทั้งหกสำนวนอุทธรณ์ขอไม่ให้รอการลงโทษจำเลยที่ 1
จำเลยทั้งหกสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 สำนวนที่ 1 ถึงสำนวนที่ 4 และสำนวนที่ 6 ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 สำนวนละ 2 เดือน และสำนวนที่ 5 ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ 1 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ 11 เดือน ไม่รอการลงโทษให้จำเลยที่ 1 สำนวนที่ 6 ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 2 ไว้ 4,000บาท ถ้าจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
จำเลยทั้งหกสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีสำหรับจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับ 10,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โดยลงโทษปรับ 4,000บาท แม้ศาลอุทธรณ์จะปรับบทลงโทษจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 มาด้วยก็ตามก็คงเป็นการปรับบทกฎหมายที่ใช้ในภายหลังในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่าเช็คพิพาทในสำนวนที่หกตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1502/2527 และหมายเลขแดงที่ 1885/2527 ของศาลชั้นต้น ที่จำเลยที่ 2 ร่วมลงลายมือชื่อสั่งจ่ายด้วยกับจำเลยที่ 1 ไม่มีมูลหนี้นั้นเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 2 ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความตามเอกสารหมาย ล.7 เป็นการยอมความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) นั้น เห็นว่าศาลอุทธรณ์เคยวินิจฉัยมาครั้งหนึ่งแล้วว่า คดียังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องไม่ระงับ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี จำเลยไม่ฎีกาต่อมา ฉะนั้น ปัญหาข้อนี้จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่แล้ว จำเลยทั้งสองจะหยิบยกปัญหาดังกล่าวนี้ขึ้นอุทธรณ์อีกหาได้ไม่ เพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยในปัญหาข้อนี้ให้นั้น จึงชอบแล้ว และจำเลยทั้งสองหามีสิทธิฎีกาต่อมาอีกไม่ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในปัญหาข้อนี้จึงเป็นฎีกาที่ต้องห้ามศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย แล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ จำเลยที่ 1 จึงชอบที่จะสั่งให้ธนาคารระงับการจ่ายเงินตามเช็คได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง สำหรับจำเลยที่ 2 แม้จะต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงนี้ก็ตามแต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวเนื่องกัน อันเป็นเหตุในลักษณะคดี คดีจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามที่โจทก์ฟ้องด้วย ศาลฎีกามีอำนาจยกฟ้องตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share