คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2147/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หนี้ตามสัญญากู้ฉบับใหม่รวมหนี้เงินกู้เดิมเข้าไปจำนวน87,150 บาท แต่หนี้จำนวน 87,150 บาทรวมดอกเบี้ยที่เกินอัตราอยู่ด้วย และไม่สามารถแยกดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะออกมาเพื่อให้ทราบต้นเงินกู้เดิมได้ จึงหาอาจนำหนี้จำนวน 87,150 บาท หรือต้นเงินกู้เดิมที่แน่นอนมารวมเป็นยอดหนี้เงินกู้ใหม่เพื่อให้จำเลยรับผิดได้ไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้กู้ยืมเงินจากโจทก์เพื่อซื้อที่ดินและทำไร่อ้อยหลายครั้ง และได้ชำระหนี้ให้โจทก์ตลอดมาจนถึงเดือนมกราคม 2531 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2531 จำเลยทั้งสองได้หักทอนหนี้สินและหักกลบลบหนี้กับโจทก์ แล้วจำเลยทั้งสองได้กู้เงินเพิ่มอีกและทำสัญญากู้รวมเป็นเงิน 157,439 บาท ให้โจทก์ไว้ครั้นครบกำหนด จำเลยไม่ยอมชำระหนี้คืนให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 157,439 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยทั้งสองเป็นหนี้ค่าจ้างโจทก์ไถพรวนดินและไถยกร่องไร่อ้อย ค่าพันธุ์อ้อย ค่าเงินยืมซื้อพันธุ์อ้อย และค่าเงินยืมมาเป็นค่าจ้างปลูกอ้อยรวมเป็นเงิน33,340 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยจากเงินดังกล่าวร้อยละ 4 ต่อเดือนเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาจำเลยทั้งสองจายพันธุ์อ้อยให้โจทก์เป็นเงิน 54,000 บาท และขายอ้อยให้โจทก์ 336.39 ตันราคาตันละ 405 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วคงเหลือเป็นเงิน85,680 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์ค้างชำระจำเลยทั้งสอง 139,680 บาทนอกจากนี้โจทก์ได้แจ้งโรงงานน้ำตาลอำเภอภูเขียวว่า โจทก์มีกรณีพิพาทกับจำเลยทั้งสองอยู่และอายัดไม่ให้จำเลยทั้งสองขนย้ายอ้อยออกจากไร่ กับประกาศไม่ให้รถไปบรรทุกอ้อยของจำเลยทั้งสองมาจำหน่ายทำให้อ้อยของจำเลยทั้งสองที่ตัดแล้ว 160 ตัน ถูกไฟไหม้เสียหายตันละ380 บาท เป็นเงินค่าเสียหายทั้งหมด 68,000 บาท แต่จำเลยทั้งสองขอคิดค่าเสียหายดังกล่าวเพียง 33,660 บาท เมื่อหักกลบลบหนี้ที่โจทก์ค้างชำระจำเลยทั้งสองกับหนี้ที่จำเลยทั้งสองค้างชำระโจทก์แล้ว โจทก์ต้องชำระเงินให้จำเลยทั้งสอง 140,000 บาท ขอให้บังคับโจทก์ชำระเงิน 140,000 บาท ให้แก่จำเลยทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยทั้งสองกู้เงินโจทก์ไปตามฟ้องและยังได้ทำสัญญาช่วยเหลือในการปลูกอ้อยกับโจทก์อีกด้วย โจทก์ได้จ่ายค่าใช้จ่ายในการทำไร่อ้อยให้จำเลยทั้งสองไปเป็นค่าจ้างไถพรวนดินและไถยกร่องเป็นเงินกว่า 9,720 บาท สำหรับค่าพันธุ์อ้อยที่จำเลยทั้งสองขายให้โจทก์เป็นเงิน 54,000 บาท นั้นจำเลยทั้งสองได้นำมาชำระค่าที่ดินของโจทก์จำนวน 18 ไร่ ที่โจทก์ให้จำเลยทั้งสองเข้าทำการปลูกอ้อยและหักกลบลบหนี้กันแล้ว ส่วนเงินค่าขายอ้อย336.39 ตัน ราคาตันละ 405 บาท นั้น ต้องหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆคือค่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ค่าบำรุงสมาคมชาวไร่อ้อย ค่าซ่อมและบำรุงรักษาถนน ค่าวิจัยและส่งเสริมพันธุ์อ้อย ค่าตัดและขนอ้อยค่ารถยนต์บรรทุกอ้อยส่งโรงงานและเงินค่าตอบแทนในการได้รับส่งเสริมให้ปลูกอ้อยรวมเป็นเงิน 57,621 บาทออกก่อน คงเหลือเงินได้สุทธิเพียง 78,459 บาท ซึ่งเมื่อนำมาหักกลบลบหนี้กันแล้วจำเลยทั้งสองคงค้างชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เป็นจำนวน157,493 บาท ตามสัญญากู้ยืมเงิน อ้อยของจำเลยทั้งสองไม่เสียหายจำเลยทั้งสองเอาต้นอ้อยทิ้งเพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้จากต้นอ้อย ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 181,054 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง คือวันที่ 31 มกราคม 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 41,569 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากเงินต้นดังกล่าวจำนวน 1 ปี เป็นเงิน 6,235.35บาท และดอกเบี้ยถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากัน โจทก์มีอาชีพรับซื้อพืชไร่จำเลยทั้งสองนำพืชไร่มาขายให้แก่โจทก์และขอกู้เงินโจทก์มาใช้จ่ายในการปลูกพืชไร่หลายครั้ง ในปี 2529 โจทก์ตกลงให้เงินจำเลยทั้งสองกู้ไปใช้จ่ายในการปลูกอ้อยเพื่อนำอ้อยมาขายให้โรงงานน้ำตาลในนามน้องสาวของโจทก์ ซึ่งรับเป็นผู้จัดส่งอ้อยให้แก่โรงงานน้ำตาลโดยจำเลยทั้งสองจะนำเงินที่ขายอ้อยได้ซึ่งต้องหักค่าใช้จ่ายออกก่อนไปหักหนี้ที่จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ วงเงินที่โจทก์ตกลงให้จำเลยทั้งสองกู้ดังกล่าวรวมหนี้เดิมของจำเลยทั้งสองซึ่งค้างชำระให้โจทก์ และหนี้ของบุตรจำเลยทั้งสองซึ่งจำเลยทั้งสองยอมรับชำระให้แทนด้วย หลังจากตกลงกันแล้วจำเลยทั้งสองได้ทยอยมาเบิกเงินที่เหลือของวงเงินดังกล่าวจากโจทก์โดยได้ทำหลักฐานการรับเงินให้โจทก์ไว้ ต่อมาจำเลยทั้งสองขายพันธุ์อ้อยให้โจทก์เป็นเงิน 54,000 บาท แล้วนำอ้อยที่ปลูกจำนวน 336.39 ตัน ไปขายให้โรงงานน้ำตาลในนามของน้องสาวโจทก์ ซึ่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว คงเหลือเงินค่าขายอ้อยสุทธิจำนวน 76,752 บาท ต่อมาในเดือนมกราคม 2531 โจทก์และจำเลยทั้งสองได้หักทอนหนี้กันโดยโจทก์เป็นผู้คิดยอดหนี้ของจำเลยทั้งสองตามรายการคิดยอดหนี้เอกสารหมาย จ.8 ปรากฏตามเอกสารดังกล่าวว่าจำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ 143,439 บาท จำเลยทั้งสองขอกู้เงินโจทก์เพิ่มขึ้นอีก14,000 บาท และจำเลยทั้งสองได้ทำสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1ให้โจทก์ไว้ว่า จำเลยทั้งสองกู้เงินโจทก์ 157,459 บาท จำเลยทั้งสองยังไม่ได้ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินดังกล่าวให้แก่โจทก์
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดใช้เงินจำนวน 181,054 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น มิใช่ต้องรับผิดใช้เงินจำนวน 41,569 บาทให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว 1 ปี เป็นเงิน 6,235.35 บาท และดอกเบี้ยถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ในปัญหานี้ได้ความตามคำเบิกความของโจทก์เองว่า ที่จำเลยทั้งสองทำสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ให้โจทก์ไว้โดยระบุว่ากู้เงินจำนวน157,439 บาท นั้น จำนวนเงินดังกล่าวเป็นยอดหนี้ที่โจทก์คิดตามรายการคิดยอดหนี้เอกสารหมาย จ.8 ว่า จำเลยทั้งสองค้างชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน 143,459 บาท รวมกับเงินที่จำเลยทั้งสองกู้ยืมเพิ่มอีก 14,000 บาท ศาลฎีกาได้พิเคราะห์รายการคิดยอดหนี้เอกสารหมาย จ.8 ประกอบแล้ว ปรากฏตามเอกสารดังกล่าวว่าเงินที่จำเลยทั้งสองค้างชำระแก่โจทก์ มีหนี้เงินกู้เดิมของจำเลยทั้งสองจำนวน87,150 บาท อยู่ด้วย ซึ่งในข้อนี้โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า จำเลยทั้งสองกู้เงินโจทก์ไปปลูกข้าวโพดในปี 2527โดยโจทก์คิดดอกเบี้ยจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 4 ต่อเดือนหนี้ที่กู้ไปปลูกข้าวโพดยังชำระไม่หมดและนำมารวมเป็นยอดหนี้ตามฟ้อง หนี้ที่ยกยอดจากปี 2528 มาปี 2529 จำนวน 80,000 บาทเศษนั้นเป็นยอดที่รวมทั้งดอกเบี้ยด้วย จึงฟังได้ว่าหนี้เงินกู้ในปี2528 จำนวน 87,150 บาท ตามรายการคิดยอดหนี้เอกสารหมาย จ.8เป็นหนี้เงินกู้ซึ่งรวมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 48 ต่อปีอยู่ด้วยการที่โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวซึ่งเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปีเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475ดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ และเมื่อโจทก์ไม่นำสืบให้ได้ความว่าดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะซึ่งรวมอยู่ในหนี้เงินกู้จำนวน 87,150 บาท นั้นมีจำนวนเท่าใด จึงไม่สามารถแยกดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะออกจากต้นเงินกู้ได้ และฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสองค้างชำระต้นเงินกู้เดิมให้แก่โจทก์เพียงใด จึงไม่สามารถทราบต้นเงินกู้เดิมในปี 2529 ที่จะนำมารวมเป็นยอดหนี้ใหม่ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ได้ การคิดยอดเงินที่จำเลยทั้งสองค้างชำระให้แก่โจทก์ ซึ่งจะนำมาเป็นยอดเงินกู้ใหม่ดังกล่าวจึงต้องนำยอดหนี้ทั้งหมดตามที่ปรากฏในรายการคิดยอดหนี้เอกสารหมาย จ.8 จำนวน 245,471 บาท มารวมกับเงินที่จำเลยทั้งสองกู้เพิ่มขึ้นอีก 14,000 บาท รวมเป็นเงิน259,471 บาท แล้ว หักด้วยยอดหนี้เงินกู้เดิมจำนวน 87,150 บาทกับค่าพันธุ์อ้อย 54,000 บาท และค่าขายอ้อย 76,752 บาท ซึ่งโจทก์ค้างชำระให้แก่จำเลยทั้งสอง คงเหลือหนี้ที่จำเลยทั้งสองค้างชำระแก่โจทก์เพียง 41,569 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษา….จึงชอบแล้ว…”
พิพากษายืน.

Share