คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 654/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่สัญญาประกันชีวิตจะเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 ต้องเป็นกรณีที่ บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขา นั้นรู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะจูงใจ ให้ผู้รับประกันให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีก หรือให้บอกปัด ไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จ ซึ่งกรณีตามคำฟ้องของโจทก์ บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะของเขานั้นคือบุตรโจทก์ หาใช่โจทก์ซึ่งเป็นเพียง ผู้รับประโยชน์ไม่ ดังนั้น แม้โจทก์จะละเว้นเสียไม่เปิดเผย ข้อความจริงที่บุตรโจทก์เป็นโรคลมชักให้จำเลยผู้รับประกันภัย ทราบ ก็ไม่ทำให้สัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2527 โจทก์กับจำเลยได้สัญญาประกันชีวิตต่อกันโดยเด็กชายสุรชัย สมบัติ บุตรโจทก์เป็นผู้เอาประกัน โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ ครบกำหนดสัญญาวันที่ 1กรกฎาคม 2542 ต่อมาวันที่ 29 ตุลาคม 2528 เด็กชายสุรชัยตกน้ำถึงแก่ความตาย โจทก์ขอรับเงินตามสัญญาจำเลยปฏิเสธ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 112,525 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า เด็กชายสุรชัยไม่ได้ตกน้ำตาย แต่ตายด้วยโรคลมชัก โดยขณะโจทก์ขอเอาประกันชีวิตเด็กชายสุรชัย เด็กชายสุรชัยป่วยเป็นโรคนี้อยู่ แต่โจทก์กับเด็กชายสุรชัยไม่เปิดเผยข้อความจริงดังกล่าว ต่อมาโจทก์ขาดส่งเบี้ยประกันภัยเป็นเหตุให้สัญญาสิ้นผลเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2528 และโจทก์ได้ขอต่ออายุสัญญาเมื่อวันที่14 กันยายน 2528 ซึ่งขณะขอต่ออายุสัญญา เด็กชายสุรชัยก็ยังป่วยเป็นโรคลมชักอยู่ แต่โจทก์ก็ยังคงปิดข้อความจริงดังกล่าว สัญญาประกันชีวิตจึงตกเป็นโมฆียะ จำเลยบอกล้างไปยังโจทก์แล้ว จึงตกเป็นโมฆะจำเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,600 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้เงินจำนวน112,525 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา ขอให้พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2527 เด็กชายสุรชัยยื่นคำขอประกันชีวิตต่อจำเลย โดยระบุว่ามีสุขภาพร่างกายและจิตใจสมบูรณ์ดีจำเลยรับประกันและออกกรมธรรม์ให้กำหนดชำระเบี้ยประกันภัยเป็นรายเดือน เดือนละ 100 บาท ทุกวันที่ 1 ของเดือน ครบสัญญาวันที่1 กรกฎาคม 2542 ต่อมาวันที่ 29 ตุลาคม 2528 ซึ่งสัญญาประกันชีวิตยังมีผลใช้บังคับอยู่ เด็กชายสุรชัยได้ถึงแก่ความตาย โจทก์ขอรับเงินตามสัญญา จำเลยปฏิเสธไม่ยอมชำระด้วยการบอกล้างสัญญาต่อโจทก์โดยอ้างว่าสัญญาเป็นโมฆียะ
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในข้อแรกว่า ขณะเด็กชายสุรชัยยื่นคำขอทำสัญญาประกันชีวิตต่อจำเลย เด็กชายสุรชัยป่วยเป็นโรคลมชักอยู่ก่อนแล้วหรือไม่ จำเลยคงนำสืบได้ความแต่เพียงว่า จากบัตรบันทึกการตรวจผู้ป่วยของโรงพยาบาลเขื่องใน ตามเอกสารหมาย ล.4 ปรากฏว่าเด็กชายสุรชัยได้ไปขอรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลดังกล่าวเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2527 โดยมีรายการบันทึกไว้ว่า ผู้ป่วยเป็นไข้ไอมีเสลด ชักแล้วจะมีอาการหัวเราะเหมือนมีคนมาล้อเล่นเป็นมานานแล้วและมีนายแพทย์ประยงค์ คณาพันธ์ ผู้ตรวจรักษาเบิกความว่าพยานตรวจวินิจฉัยแล้วลงความเห็นว่า เด็กชายสุรชัยป่วยเป็นโรคลมชักประเภทชั่วครั้งชั่วคราว ได้จ่ายยาไปให้รับประทาน และนัดให้มาตรวจรักษาเป็นระยะ ๆ ไม่ปรากฏว่านายแพทย์ประยงค์ได้ยืนยันไว้ว่า เด็กชายสุรชัยป่วยเป็นโรคลมชักมาแล้วนานเท่าใด จึงได้มาขอรับการรักษาข้อความที่ว่าเป็นมานานแล้วตามที่ปรากฏในบัตรบันทึกการตรวจผู้ป่วยของโรงพยาบาลเขื่องในก็ไม่อาจฟังได้แน่ชัดว่า เด็กชายสุรชัยป่วยเป็นโรคลมชักมาก่อนวันที่ 31 กรกฎาคม 2527 ฝ่ายโจทก์นำสืบว่าเด็กชายสุรชัยมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ แต่ภายหลังจากทำสัญญาประกันชีวิตไปแล้วเด็กชายสุรชัยเคยมีอาการชักเนื่องจากมีไข้สูงข้อเท็จจริงจึงยังไม่เพียงพอที่จะฟังว่าขณะเด็กชายสุรชัยยื่นคำขอประกันชีวิตต่อจำเลย เด็กชายสุรชัยได้ป่วยเป็นโรคลมชักอยู่ก่อนดังนั้น ข้ออ้างของจำเลยที่ว่า สัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะเพราะโจทก์และเด็กชายสุรชัยปกปิดความจริงเรื่องป่วยเป็นโรคลมชักอยู่ก่อนยื่นขอประกันชีวิตจึงฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อที่ 2 ที่จำเลยฎีกาว่า ความจริงสัญญาประกันชีวิตขาดผลบังคับลงเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2528 เนื่องจากโจทก์ขาดส่งเบี้ยประกันภัยงวดเดือนมิถุนายน 2528 แล้วได้ขอต่ออายุกรมธรรม์สัญญาใหม่เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2528 โดยโจทก์ละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงที่เด็กชายสุรชัยเป็นโรคลมชักให้จำเลยทราบ ซึ่งข้อความจริงดังกล่าวหากจำเลยได้ทราบก็จะบอกปัดไม่ยอมทำการต่อกรมธรรม์สัญญาให้นั้น เห็นว่า การที่สัญญาประกันชีวิตจะเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 นั้น ต้องเป็นกรณีที่บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นรู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีก หรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จซึ่งกรณีตามคำฟ้องของโจทก์ บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็คือเด็กชายสุรชัยนั่นเอง หาใช่โจทก์ซึ่งเป็นเพียงผู้รับประโยชน์ไม่ ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังตามที่จำเลยฎีกาก็ไม่ทำให้สัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะ ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงตามที่จำเลยฎีกา…”
พิพากษายืน.

Share