แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าตามประกาศรายงานการประชุมตัวแทนลูกจ้างกับบริษัทฯ เอกสารหมาย จ.6 ข้อ 1.1 มีความหมายว่า จำเลยจะต้องไม่นำค่าครองชีพมารวมคิดในการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกับเงินค่าจ้าง โดยอ้างว่ามีประเพณีปฏิบัติมาตั้งแต่เริ่มมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งได้แยกจ่ายค่าจ้างกับค่าครองชีพออกจากกันมาโดยตลอด และการจ่ายค่าจ้างจำเลยจะจ่ายไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายทุกครั้งซึ่งตามประกาศรายงานการประชุมตัวแทนลูกจ้างกับบริษัทฯก็ให้ปฏิบัติต่อไป ดังนั้นการที่โจทก์นำค่าครองชีพมารวมคิดคำนวณในการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นการขัดต่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ระบุว่าสิทธิและผลประโยชน์อื่นใดนอกเหนือจากข้อตกลงนี้และจำเลยได้จัดให้ลูกจ้างอยู่ก่อนแล้วให้เป็นไปในอัตราและระบบเดิม อุทธรณ์ของโจทก์เป็นการอุทธรณ์ถึงการแปลความหมายของข้อความ จึงเป็นการอุทธรณ์ในข้อกฎหมาย อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า การนำค่าครองชีพมารวมคิดคำนวณในการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นการขัดต่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมนั้น หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ประกาศรายงานการประชุมตัวแทนลูกจ้างกับบริษัทฯ มีความหมายว่าจำเลยจะต้องไม่นำค่าครองชีพมารวมคิดคำนวณในการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ก็จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่าการดังกล่าวอยู่ในความหมายของคำว่าสิทธิประโยชน์ที่จำเลยจัดให้ลูกจ้างอยู่ก่อนการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมซึ่งจำเลยจะต้องปฏิบัติไปตามเดิมหรือไม่ อันเป็นการแปลความหมายของข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง อุทธรณ์ ของโจทก์ในเรื่องนี้จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมายเช่นกัน โจทก์อ้างเหตุว่า ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมมุ่งหมายจะให้จำเลยจ่ายค่าครองชีพแยกจากค่าจ้าง โดยจำเลยต้องจ่ายค่าจ้างหรือเงินเดือนไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งจำเลยก็ได้ปฏิบัติเช่นนั้นตลอดมาโดยจำเลยจะไม่นำค่าครองชีพมารวมคิดในการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกับค่าจ้างหรือเงินเดือน ซึ่งหากเป็นความจริงก็อาจถือได้ว่าข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างทำให้เกิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างจำเลยกับลูกจ้างของจำเลยว่าจำเลยจะไม่นำค่าครองชีพมารวมคิดในการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกับค่าจ้างหรือเงินเดือนส่วนตามประกาศรายงานการประชุมตัวแทนลูกจ้างกับบริษัทฯที่ระบุว่าค่าครองชีพไม่ได้นำเข้ามาร่วมกับเงินเดือนหลักเกณฑ์เหมือนเดิมนั้น ก็คือให้จำเลยจ่ายค่าจ้างไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและจ่ายค่าครองชีพแยกจากกันโดยไม่นำมารวมคิดคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามผลของข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งหากเป็นความจริง ตามที่โจทก์กล่าวอ้างทั้งสองประการดังกล่าวก็อาจถือได้ว่าจำเลยทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับลูกจ้างของจำเลยที่จะไม่นำค่าครองชีพมารวมกับค่าจ้างหรือเงินเดือนคิดคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และจะจ่ายค่าจ้างหรือเงินเดือนตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และการที่จำเลยนำค่าครองชีพมารวมกับค่าจ้างหรือเงินเดือนในการคิดคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำก็อาจเป็นการขัดต่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยกับลูกจ้างของจำเลยได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างขึ้นเมื่อวันที่12 พฤศจิกายน 2524 ว่า จำเลยจะจ่ายค่าครองชีพให้กับลูกจ้างทุกคนและทุกเดือน โดยคู่สัญญามีความมุ่งหมายที่จะให้มีการจ่ายค่าจ้างหรือเงินเดือนส่วนหนึ่ง และจ่ายค่าครองชีพอีกส่วนหนึ่งแยกออกจากกัน ทั้งนี้ จำเลยจะต้องจ่ายค่าจ้างไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จำเลยยอมปฏิบัติเรื่องมาทุกครั้งที่มีประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ วันที่ 15 มิถุนายน 2534 มีการประชุมตัวแทนฝ่ายลูกจ้างกับจำเลย ตกลงกันว่าจะไม่นำค่าครองชีพเข้ามารวมกับเงินเดือน ในการคิดคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เหมือนเดิมที่เคยปฏิบัติมา วันที่ 22 มกราคม 2535มีข้อตกลงอีกฉบับหนึ่งตกลงว่าสิทธิและผลประโยชน์อื่นใดที่นอกเหนือจากข้อตกลงข้างต้นนี้และบริษัทจัดให้ลูกจ้างอยู่ก่อนแล้วให้เป็นไปในอัตราและระบบเดิม วันที่ 1 เมษายน 2535 มีประกาศปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจากเดิมวันละ 100 บาท เป็นวันละ 115 บาทจำเลยฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงโดย ไม่ยอมปรับค่าจ้างให้โจทก์แต่ได้เอาค่าครองชีพเดือนละ 800 บาท มารวมกับค่าจ้างหรือเงินเดือนของโจทก์ แล้วคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2535 ถึงวันที่16 พฤศจิกายน 2535 โจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างวันละ 115 บาทแต่จำเลยจ่ายวันละ 102 บาท โจทก์ทำงานทั้งหมด 230 วันจำเลยค้างจ่าย ค่าจ้างโจทก์เป็นเงิน 2,990 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและไม่นำค่าครองชีพมารวมคิดคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ กับให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 2,990 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า การจ่ายค่าครองชีพและการคำนวณปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จำเลยปฏิบัติถูกต้องและเป็นไปตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2524และฉบับวันที่ 12 มกราคม 2535 ทุกประการจำเลยไม่เคยตกลงว่าเงินค่าครองชีพไม่ต้องนำมารวมคิดคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำการจ่ายเงินเดือนและค่าครองชีพในการปฏิบัติได้แยกจากกันให้เห็นชัดเจนเป็นเพียงวิธีจ่าย มิได้หมายความว่าเงินค่าครองชีพเป็นเงินนอกเหนือที่ไม่ต้องนำมารวมคิดคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อมีการประกาศปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจำเลยจะคำนวณเงินเดือนรวมกับค่าครองชีพ ถ้าต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจำเลยจะปรับเงินเดือนให้ตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ การประชุมระหว่างจำเลยกับตัวแทนฝ่ายลูกจ้างเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2534 มิได้ตกลงว่าจะไม่นำค่าครองชีพเข้ารวมกับเงินเดือนในการคิดคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เดิมเหมือนเคยที่ปฏิบัติมาตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้อง ข้อเท็จจริงได้ตกลงกันว่า ค่าครองชีพ 700 บาทนั้นไม่ได้นำเข้ามารวมกับเงินเดือนในการคำนวณปรับเงินเดือนประจำปีและเงินรางวัลประจำปี (โบนัส) เหตุที่จำเลยไม่ปรับเงินเดือนให้โจทก์เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2535 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยซึ่งปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจากวันละ 100 บาท เป็นวันละ 115 บาทเนื่องจากเงินเดือนของโจทก์เมื่อรวมกับค่าครองชีพแล้วอัตราค่าจ้างเกินกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และจำเลยได้ปรับอัตราค่าครองชีพจาก 700 บาท เป็น 800 บาทต่อเดือน ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2535 แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยจำเลยได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับลูกจ้างของจำเลยรวมสามฉบับและจำเลยได้ประกาศข้อตกลงระหว่างจำเลยกับตัวแทนลูกจ้างของจำเลยอีกหนึ่งฉบับ ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย จ.7 และประกาศรายงานการประชุมเกี่ยวกับค่าครองชีพเอกสารหมาย จ.6 ตลอดจนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ไม่มีข้อตกลงว่าเงินค่าครองชีพไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จำเลยไม่ได้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2535ค่าครองชีพเป็นค่าจ้าง จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์รวมเป็นเงินเดือนละ 3,880 บาท ซึ่งไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามประกาศกระทรวงมหาดไทยจำเลยไม่ต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์ตามฟ้องพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ว่าตามเอกสารหมาย จ.6 (ประกาศรายงานการประชุมตัวแทนลูกจ้างกับบริษัทฯ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2534) ข้อ 1.1 มีความหมายว่าจำเลยจะต้องไม่นำค่าครองชีพมารวมคิดในการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกับเงินค่าจ้าง โดยอ้างเหตุผลประการหนึ่งว่าเพราะมีประเพณีปฏิบัติมาตั้งแต่เริ่มมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2524 (เอกสารหมาย จ.7)ได้แยกจ่ายค่าจ้างกับค่าครองชีพออกจากกันมาโดยตลอด และการจ่ายค่าจ้างจำเลยจะจ่ายไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายทุกครั้งซึ่งตามประกาศรายงานการประชุมตัวแทนลูกจ้างกับบริษัทฯเอกสารหมาย จ.6 ข้อ 1.1 ให้ปฏิบัติต่อไปตามเดิม การที่โจทก์นำค่าครองชีพมารวมคิดคำนวณในการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นการขัดต่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำขึ้นเมื่อวันที่22 มกราคม 2535 (เอกสารหมาย จ.1) ข้อ 3 ที่ระบุว่า สิทธิและผลประโยชน์อื่นใดนอกเหนือจากข้อตกลงนี้และจำเลยได้จัดให้ลูกจ้างอยู่ก่อนแล้ว ให้เป็นไปในอัตราและระบบเดิม จำเลยแก้อุทธรณ์ว่าอุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จึงมีปัญหาวินิจฉัยในเบื้องแรกว่าอุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย เห็นว่าอุทธรณ์ของโจทก์เกี่ยวกับประกาศรายงานการประชุมตัวแทนลูกจ้างกับบริษัทฯ เอกสารหมาย จ.6 ข้อ 1.1 นั้นเป็นการอุทธรณ์ถึงการแปลความหมายของข้อความในข้อดังกล่าวจึงเป็นการอุทธรณ์ในข้อกฎหมาย ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าการนำค่าครองชีพมารวมคิดคำนวณในการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นการขัดต่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย จ.1ข้อ 3 นั้นหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ประกาศรายงานการประชุมตัวแทนลูกจ้างกับบริษัทฯ เอกสารหมาย จ.6 ข้อ 1.1 มีความหมายว่าจำเลยจะต้องไม่นำค่าครองชีพมารวมคิดคำนวณในการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นการขัดต่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย จ.1ข้อ 3 นั้น หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ประกาศรายงานการประชุมตัวแทนลูกจ้างกับบริษัทฯ เอกสารหมาย จ.6 ข้อ 1.1 มีความหมายว่าจำเลยจะต้องไม่นำค่าครองชีพมารวมคิดคำนวณในการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ก็จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่าการดังกล่าวอยู่ในความหมายของคำว่าสิทธิประโยชน์ที่จำเลยจัดให้ลูกจ้างอยู่ก่อนการทำข้อตกลงเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งจำเลยจะต้องปฏิบัติไปตามเดิมหรือไม่อันเป็นการแปลความหมายของข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 3 อุทธรณ์ของโจทก์ในเรื่องนี้จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมายเช่นกัน
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปมีว่า ตามประกาศรายงานการประชุมตัวแทนลูกจ้างกับบริษัทฯ เอกสารหมาย จ.6 ข้อ 1.1 มีความหมายว่าจำเลยจะไม่นำครองชีพมารวมคิดในการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกับเงินค่าจ้างหรือไม่ เห็นว่า ในปัญหานี้ตามคำฟ้องและฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์อ้างเหตุผลประการหนึ่งว่า เพราะตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย จ.7 นั้น มุ่งหมายจะให้จำเลยจ่ายค่าครองชีพแยกจากค่าจ้าง โดยจำเลยต้องจ่ายค่าจ้างหรือเงินเดือนไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งจำเลยก็ได้ปฏิบัติเช่นนั้นตลอดมา เท่ากับโจทก์อ้างว่าผลของข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย จ.7 ก็คือ จำเลยจะไม่นำค่าครองชีพมารวมคิดในการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกับค่าจ้างหรือเงินเดือน ซึ่งหากเป็นความจริงก็อาจถือได้ว่าข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย จ.7ทำให้เกิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างจำเลยกับลูกจ้างของจำเลยว่า จำเลยจะไม่นำค่าครองชีพมารวมคิดในการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกับค่าจ้างหรือเงินเดือน ซึ่งหากเป็นความจริงก็อาจถือได้ว่าข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย จ.7ทำให้เกิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างจำเลยกับลูกจ้างของจำเลยว่าจำเลยจะไม่นำค่าครองชีพมารวมคิดในการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกับค่าจ้างหรือเงินเดือน และโจทก์กล่าวอ้างในอุทธรณ์ต่อไปว่า ตามประกาศรายงานการประชุมตัวแทนลูกจ้างกับบริษัทฯ เอกสารหมาย จ.56 ข้อ 1.1 ที่ระบุว่าค่าครองชีพไม่ได้นำเข้ามาร่วมกับเงินเดือน หลักเกณฑ์เหมือนเดิมนั้น ก็คือให้จำเลยจ่ายค่าจ้างไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและจ่ายค่าครองชีพแยกจากกันโดยไม่นำมารวมคิดคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามผลของข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย จ.7ซึ่งหากเป็นความจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้างทั้งสองประการดังกล่าวก็อาจถือได้ว่า จำเลยทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับลูกจ้างของจำเลยที่จะไม่นำค่าครองชีพมารวมกับค่าจ้างหรือเงินเดือนคิดคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และจะจ่ายค่าจ้างหรือเงินเดือนตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ อันรวมอยู่ในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีข้อ 1 และการที่จำเลยนำค่าครองชีพมารวมกับค่าจ้างหรือเงินเดือนในการคิดคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำก็อาจเป็นการขัดต่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างลงวันที่ 22 มกราคม 2535 (เอกสารหมาย จ.1)ข้อ 3 อันเป็นประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี ข้อ 2 แต่ศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่โจทก์กล่าวอ้างหรือไม่อย่างไร จึงเป็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาและวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างแล้วพิพากษาใหม่
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงในประเด็นข้อพิพาทที่กล่าวมาแล้วข้างต้นแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี