คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2144/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เดิมที่พิพาทเป็นที่ดินของ ธ. ซึ่งมีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ต่อมา ธ. ยื่นคำร้องขอออกเป็นโฉนดที่ดิน และเจ้าพนักงานที่ดินได้ออกโฉนดที่ดินของที่พิพาทให้ธ.แล้วต่อมาธ. ได้นำโฉนดที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้แก่ธนาคาร ก. จากนั้นจำเลยฟ้องคดีแพ่งให้ ธ.ชำระหนี้ตามเช็ค ส่วนธนาคาร ก. ก็ฟ้อง ธ. ให้ชำระหนี้กับบังคับจำนองและยึดที่ดินตามโฉนดที่จำนองไว้ ต่อมาจำเลยชนะคดีและนำยึดที่ดินพิพาทของ ธ. ตามหลักฐานใบแทน น.ส.3 ก.ที่สำนักงานที่ดินอำเภอออกให้ จำเลยได้ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลในคดีที่จำเลยนำยึด และศาลชั้นต้นก็ได้มีหนังสือแจ้งให้พนักงานที่ดินอำเภอโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยแล้วต่อมาโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลชั้นต้นในคดีที่ธนาคาร ก. นำยึดและเจ้าพนักงานที่ดินได้จดทะเบียนโอนโฉนดที่ดินพิพาทให้โจทก์แล้วเช่นกัน ดังนี้เมื่อในวันที่เจ้าพนักงานจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยนั้น ธ. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตามใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์นั้นได้ไปขอออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวแล้ว ย่อมมีผลให้หนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทรวมตลอดไปถึงใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิสำหรับที่ดินพิพาทเป็นอันยกเลิกไป แม้จำเลยจะได้จดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทจากการซื้อทรัพย์สินในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริตก็หามีผลบังคับแก่ที่ดินพิพาทไม่และไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย จำเลยจึงไม่ได้สิทธิในที่ดินพิพาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 1036 ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยซื้อมาจากการขายทอดตลาดของศาลชั้นต้น รับโอนเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2530ต่อมาเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2531 สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงรายได้มีหนังสือแจ้งอายัดที่ดินดังกล่าวไปยังโจทก์ โดยมีจำเลยเป็นผู้ยื่นคำขออายัดอ้างว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินตาม น.ส.3 ก.เลขที่ 1459 ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งไม่เป็นความจริง ความจริงแล้ว น.ส.3 ก. เลขที่ 1459 นายธาตรีภิรมย์อุดมสุข เจ้าของที่ดินเดิมและเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด เป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ์อยู่ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 255/2526 ได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินขอออกโฉนดที่ดินตั้งแต่เดือนมกราคม 2518 และเจ้าพนักงานที่ดินได้ออกโฉนดที่ดินเลขที่ 1036 ตามฟ้อง กับยกเลิก น.ส.3 ก.เลขที่ 1459 ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2518 ที่จำเลยอ้างสิทธิเป็นเจ้าของที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 1459 นั้นเป็นการอ้างตามน.ส.3 ก. ฉบับใบแทนซึ่งจำเลยได้มาจากใครโดยวิธีใดไม่อาจทราบได้จำเลยไม่มีสิทธิในที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 1459 จำเลยจึงไม่มีสิทธิร้องขออายัดโฉนดที่ดินเลขที่ 1036 ของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยถอนการอายัดโฉนดที่ดินเลขที่ 1036 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย และขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 1459 (ฉบับใบแทน)
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นเจ้าของสิทธิ์ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1459 โดยจำเลยซื้อมาจากการขายทอดตลาดของศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 281/2525 รับโอนเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2528 หลังจากนั้นจำเลยได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวตลอดมา ต่อมาเมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2531 โจทก์ได้ทำการปรับปรุงที่ดินดังกล่าวอันเป็นการรบกวนสิทธิของจำเลย ทำให้จำเลยทราบว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 1036 ที่โจทก์ซื้อมาจากการขายทอดตลาด จำเลยจึงไปสอบถามที่สำนักงานที่ดินอำเภอแม่สายได้ความว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 1459 ฉบับสำนักงานที่ดินอำเภอมิได้ถูกยกเลิกโดยการออกโฉนดที่ดิน เพราะทางสำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงรายมิได้มีหนังสือแจ้งการยกเลิก จำเลยจึงขออายัดที่ดินตามสิทธิของจำเลย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ฉบับใบแทน เลขที่ 1459 ที่จำเลยครอบครองอยู่เพราะโจทก์และจำเลยได้ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดของศาลชั้นต้นเช่นกัน แต่จำเลยซื้อก่อนโจทก์ และได้จดทะเบียนโอนถูกต้องตามกฎหมายก่อนโจทก์ จำเลยจึงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยชอบดีกว่าโจทก์ ขอให้ยกฟ้องโจทก์ และให้จำเลยมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1036 เพียงคนเดียว
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยได้มาซึ่งที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1459 ฉบับใบแทนโดยไม่สุจริต เพราะ น.ส.3 ก. ดังกล่าวได้ถูกเจ้าพนักงานที่ดินขีดคร่อมและยกเลิกไปแล้ว เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2518 นับตั้งแต่ที่ดินพิพาทเปลี่ยนแปลงเป็นโฉนดที่ดินแล้ว เจ้าของเดิมคือนายธาตรี ภิรมย์อุดมสุข ได้นำไปจำนองเป็นประกันแก่ธนาคารตลอดมาจนกระทั่งโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทได้ จำเลยทราบมานานแล้วว่าโจทก์ได้ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 1036 มาโดยสุจริต และมาเจรจากับโจทก์หลายครั้ง จำเลยจึงทราบมาก่อนที่จำเลยไปอายัดโฉนดที่ดินดังกล่าวว่าน.ส.3 ก. เลขที่ 1459 เปลี่ยนแปลงเป็นโฉนดที่ดินแล้ว ฉะนั้นการอายัดโฉนดที่ดินของจำเลยจึงไม่สุจริต จำเลยไม่มีอำนาจฟ้องแย้งให้จำเลยมีชื่อในโฉนดที่ดินเลขที่ 1036 เพราะโจทก์ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1459 (ฉบับใบแทน) คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องแย้งจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้จากข้อนำสืบของโจทก์และจำเลยว่า เดิมที่พิพาทเป็นที่ดินของนายธาตรี ภิรมย์อุดมสุขตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1459 เอกสารหมายจ.2 ต่อมานายธาตรียื่นคำร้องขอออกเป็นโฉนดต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงราย วันที่ 19 พฤษภาคม 2518 เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงรายได้ออกโฉนดที่ดินของที่พิพาทให้นายธาตรีเป็นโฉนดเลขที่ 1036 ตามเอกสารหมาย จ.3 โดยได้ขีดคร่อมในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ฉบับเจ้าของที่ดินหมาย จ.2 ว่า “น.ส.3 ก.ฉบับนี้ได้ออกโฉนดที่ดินเลขที่ 1036 แต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2518″แต่ไม่ได้มีการแจ้งให้ขีดคร่อมหรือยกเลิก น.ส.3 ก. ฉบับสำนักงานที่ดินอำเภอว่าได้มีการออกโฉนดแล้ว วันที่ 16 พฤศจิกายน 2520นายธาตรีได้นำโฉนดที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ใน พ.ศ. 2525 จำเลยฟ้องคดีแพ่งให้นายธาตรีชำระหนี้ตามเช็ค ส่วนธนาคารกรุงเทพ จำกัด ฟ้องนายธาตรีให้ชำระหนี้กับบังคับจำนองและยึดที่ดินตามโฉนดที่จำนองเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2526 วันที่ 27 พฤศจิกายน 2527 จำเลยชนะคดีและนำยึดที่ดินพิพาทของนายธาตรีตามหลักฐานใบแทน น.ส.3 ก.ที่สำนักงานที่ดินอำเภอออกให้วันที่ 9 มกราคม 2528 จำเลยซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลในคดีที่จำเลยนำยึด วันที่ 24มกราคม 2528 ศาลชั้นต้นมีหนังสือแจ้งให้พนักงานที่ดินอำเภอโอนที่ดินพิพาทให้จำเลย ซึ่งพนักงานที่ดินอำเภอได้จดทะเบียนโอนให้จำเลยเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2528 วันที่ 24 ธันวาคม 2530 โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลชั้นต้นในคดีที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด นำยึดและเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงรายได้จดทะเบียนโอนโฉนดที่ดินพิพาทให้โจทก์ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม2530 วันที่ 15 มีนาคม 2531 สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงรายได้มีหนังสือแจ้งอายัดที่ดินพิพาทไปยังโจทก์โดยมีจำเลยเป็นผู้ยื่นคำขออายัดอ้างว่าจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นประการแรกว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาทเห็นว่า ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2528 อันเป็นวันที่เจ้าพนักงานจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยผู้ซื้อทรัพย์สินในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลตามใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์นั้น นายธาตรี เจ้าของที่ดินพิพาทตามใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์นั้นได้ไปขอออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวที่สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงรายแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2518 เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 1036 ตามเอกสารหมาย จ.3 ดังนี้ ย่อมมีผลให้หนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทรวมตลอดไปถึงใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิสำหรับที่ดินพิพาทเป็นอันยกเลิกไป การจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทอันเนื่องจากการซื้อทรัพย์สินในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลแก่จำเลย แม้จำเลยจะกระทำโดยสุจริตก็หามีผลบังคับแก่ที่ดินพิพาทไม่ การจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทแก่จำเลยไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย จำเลยจึงไม่ได้สิทธิในที่ดินพิพาทส่วนโจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทตามหลักฐานโฉนดที่ดินโดยชอบ โจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาจำเลยข้ออื่นต่อไปที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share