แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยเป็นบุตรของศ. มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก5คนเดิมที่ดินพิพาทเป็นของศ.และขณะที่ศ.ถึงแก่ความตายที่ดินพิพาทยังเป็นที่ดินมีหลักฐานเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์เมื่อศ. ถึงแก่ความตายแล้วโจทก์และจำเลยได้ยื่นคำร้องขอรับมรดกที่ดินพิพาทร่วมกัน2คนโดยพี่น้องคนอื่นๆอีก5คนได้ทำบันทึกไม่ประสงค์จะขอรับมรดกและโจทก์ได้ทำบันทึกให้ถ้อยคำต่อนายอำเภอว่าเมื่อเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้เป็นของโจทก์จำเลยแล้วโจทก์ยินยอมขอรังวัดแบ่งแยกออกเป็นส่วนของโจทก์เพียง1ไร่ส่วนที่เหลือให้ตกเป็นของจำเลยโดยจำเลยจะให้เงินโจทก์40,000บาทเป็นการตอบแทนหากจำเลยไม่มีเงินชำระก็ไม่ติดใจเอาส่วนของโจทก์ตามที่ตกลงไว้ดังนี้เมื่อตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ได้ความเพียงว่าหลังจากโจทก์ตกลงกับจำเลยแล้วจำเลยก็ดำเนินการตามที่ตกลงแต่ล่าช้าเกินไปและโจทก์หมดความจำเป็นที่จะใช้เงินไปลงทุนทำการค้าแล้วจึงบอกเลิกข้อตกลงดังกล่าวเสียหาได้ปรากฏว่ามีพฤติการณ์อื่นใดพอที่จะชี้ให้เห็นว่าบันทึกข้อตกลงนั้นโจทก์ได้แสดงเจตนาเพราะถูกจำเลยใช้กลฉ้อฉลหลอกลวงอันถึงขนาดไม่เมื่อตามข้อตกลงไม่ปรากฏว่าต้องให้จำเลยดำเนินการให้แล้วเสร็จเมื่อใดทั้งปรากฏว่าเมื่อโจทก์จำเลยยื่นเรื่องราวขอรับโอนมรดกไม่มีพินัยกรรมแล้วโจทก์ได้มอบอำนาจให้จำเลยทำการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินทำบันทึกข้อตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมและขอจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมจึงเห็นได้ว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามข้อตกลงแล้วเพียงแต่ดำเนินการล่าช้าเท่านั้นหาได้ใช้กลฉ้อฉลหลอกลวงโจทก์ไม่ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยดังกล่าวจึงไม่เป็นโมฆียะโจทก์ไม่มีสิทธิบอกล้างได้แต่โฉนดที่ดินที่จำเลยแบ่งแยกให้โจทก์มีเนื้อที่เพียง3งาน30ตารางวาไม่ตรงตามที่ตกลงกันเพราะความผิดพลาดของเจ้าพนักงานที่ดินโจทก์จึงยังมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งอีก70ตารางวาแม้โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยแบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์กึ่งหนึ่งแต่ทางพิจารณาได้ความว่าโจทก์ควรได้แต่ส่วนแบ่งอีกเพียง70ตารางวาศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้โจทก์ได้รับแต่ส่วนแบ่งนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142(2)ส่วนเงินจำนวน40,000บาทนั้นไม่อาจพิพากษาให้จำเลยชำระแก่โจทก์ได้เพราะเป็นการเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันเมื่อต้นเดือนมกราคม 2524 โจทก์จำเลยได้รับมรดกที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 6019 ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอเมืองสมุทรปราการจังหวัดมุกดาหาร เนื้อที่ 15 ไร่ 1 งาน 33 ตารางวา ร่วมกันคนละครึ่งโดยทายาทอื่นสละมรดกยกให้โจทก์จำเลยคนละเท่า ๆ กัน ขณะนั้นที่ดินพิพาทมีหลักฐานเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 186 ต่อมาวันที่ 8 มกราคม 2524 จำเลยได้ทำกลฉ้อฉลให้โจทก์ไปทำบันทึกต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าโจทก์ยอมรับมรดกที่ดินพิพาทเพียง 1 ไร่ นอกนั้นให้เป็นของจำเลย โดยจำเลยหลอกลวงโจทก์ว่าถ้าโจทก์ยอมรับเอาที่ดินพิพาทเพียง 1 ไร่ จำเลยจะให้เงินโจทก์ 40,000 บาท เป็นการตอบแทนเมื่อได้ทำการรังวัดแบ่งแยกเสร็จเรียบร้อยแล้ว หากจำเลยไม่มีเงินชำระก็ไม่ติดใจเอาส่วนของโจทก์ตามที่ตกลงไว้ ความจริงจำเลยมิได้มีเจตนาที่จะจ่ายเงินค่าตอบแทนให้โจทก์ จำเลยเพียงแต่ต้องการให้ได้รับส่วนแบ่งมากกว่าที่ควรจะได้ โจทก์หลงเชื่อเพราะต้องการเงินไปลงทุนทำการค้า จึงได้ตกลงตามที่จำเลยหลอกลวงและยอมทำบันทึกให้ กับยอมให้จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทตลอดจนเป็นผู้ดำเนินการขอรังวัดแบ่งแยกและออกโฉนดที่ดินพิพาทแทนหลังจากนั้นจำเลยก็พยายามถ่วงเวลา โจทก์ทวงถามให้ชำระเงินค่าตอบแทนจำเลยก็อ้างว่ายังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ จนโจทก์หมดความจำเป็นต้องใช้เงิน จึงได้ขอยกเลิกข้อตกลงและเรียกให้จำเลยดำเนินการแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ครึ่งหนึ่งตามสิทธิเดิมจำเลยก็รับว่าจะดำเนินการให้โดยให้โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยไปดำเนินการแทน จนกระทั่งเดือนมิถุนายน 2529 โจทก์จึงได้ทราบว่าจำเลยได้นำหลักฐานการมอบอำนาจของโจทก์ไปทำการแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้โจทก์เพียง 3 งานเศษ โจทก์จึงสอบถาม จำเลยกลับอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว โจทก์จึงทราบว่าถูกจำเลยหลอกลวง บันทึกถ้อยคำลงวันที่ 8 มกราคม 2524 ที่โจทก์ทำขึ้นจึงเป็นโมฆียะ หลังจากนั้นโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยแบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์ครึ่งหนึ่งตามสิทธิที่ควรจะได้ แต่จำเลยเพิกเฉยครั้นเดือนธันวาคม 2535 โจทก์ก็ทราบจากผู้มีชื่อว่าจำเลยได้นำที่ดินพิพาทไปขายโดยได้รับชำระราคามาเป็นบางส่วนแล้วโจทก์จึงให้ทนายความมีหนังสือบอกล้างบันทึกถ้อยคำที่โจทก์ได้ทำไว้และนิติกรรมต่าง ๆ ที่ให้จำเลยกระทำขึ้น โจทก์จึงกลับสู่ฐานะเดิมมีสิทธิในที่ดินพิพาทครึ่งหนึ่ง ขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 6019 ตำบลศรีบุญเรืองอำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ครึ่งหนึ่ง ให้จำเลยไปจดทะเบียนแบ่งแยกให้โจทก์ หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ถ้าตกลงแบ่งแยกกันไม่ได้ให้นำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งปันกัน
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ทรัพย์มรดกตกแก่โจทก์จำเลยนายศิริ ดีรัตน์ เจ้ามรดกได้ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยแล้วตั้งแต่ก่อนที่เจ้ามรดกจะถึงแก่ความตาย แต่ด้วยความเป็นญาติพี่น้องกันจำเลยจึงเสนอแบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์และทายาทอื่นคนละ 1 ไร่ แต่นายอารีย์ ดีรัตน์ และนายสง่า ดีรัตน์ ไม่ยอมรับ ส่วนนายเสงี่ยม ดีรัตน์ นางเตือนตา ศรีลาศักดิ์ และนายอนุภาศ ดีรัตน์ ขอเปลี่ยนเป็นรับเงินสดไปคนละ 4,000 บาท คงมีแต่โจทก์เพียงผู้เดียวที่จะเอาที่ดินพิพาทจำนวน 1 ไร่ ตามที่จำเลยเสนอ โจทก์จำเลยจึงได้ยื่นเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมและให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่ที่ดินไว้ จำเลยไม่เคยหลอกลวงโจทก์โดยเสนอเงื่อนไขตามที่โจทก์กล่าวอ้าง โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยนำเจ้าหน้าที่ที่ดินไปเดินสำรวจและให้ถ้อยคำเพื่อการออกโฉนดที่ดินและแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท จำเลยก็นำไปดำเนินการตามนั้นมิได้นำหลักฐานการมอบอำนาจของโจทก์ไปขอทำนิติกรรมแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามที่โจทก์กล่าวอ้าง โจทก์และจำเลยเป็นผู้ไปดำเนินการด้วยตนเองเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2529โดยโจทก์ยอมรับส่วนแบ่งเพียง 3 งาน 30 ตารางวา โจทก์ทำบันทึกลงวันที่ 8 มกราคม 2524 กับนายอำเภอมุกดาหารมิได้ทำกับจำเลยและบันทึกดังกล่าวได้ระงับไปแล้วเพราะการแปลงหนี้ใหม่โจทก์จึงไม่อาจบอกล้างได้ และโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนด10 ปี นับแต่วันที่ได้ทำบันทึกไว้ คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 6019 ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหารให้โจทก์ 70 ตารางวา หากจำเลยไม่ยอมแบ่งแยกให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนากับให้จำเลยชำระเงิน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (1 มีนาคม 2536) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์ และ จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้อง
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันและที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาฟังได้ยุติว่า โจทก์จำเลยเป็นบุตรของนายศริและนางทองพูน ดีรัตน์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก5 คน เดิมที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 6019 ตำบลศรีบุญเรืองอำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร เนื้อที่ 15 ไร่ 1 งาน97 ตารางวา เป็นของนายศิริ ต่อมานายศิริถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2522 ขณะนั้นที่ดินพิพาทยังเป็นที่ดินมีหลักฐานเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 186วันที่ 6 มกราคม 2524 โจทก์และจำเลยได้ยื่นคำร้องขอรับมรดกที่ดินพิพาทร่วมกัน 2 คน โดยพี่น้องคนอื่น ๆ อีก 5 คน ได้ทำบันทึกไม่ประสงค์จะขอรับมรดกตามเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.7 และในวันที่8 มกราคม 2524 โจทก์ได้ทำบันทึกให้ถ้อยคำต่อนายอำเภอมุกดาหารว่าเมื่อเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้เป็นของโจทก์จำเลยแล้ว โจทก์ยินยอมขอรังวัดแบ่งแยกออกเป็นส่วนของโจทก์เพียง 1 ไร่ ส่วนที่เหลือให้ตกเป็นของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.2 ต่อมาเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอได้จดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทใส่ชื่อโจทก์จำเลยเป็นเจ้าของร่วมกันในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) โดยไม่ได้ระบุส่วนตามเอกสารหมาย จ.1 ต่อมาวันที่ 17 พฤษภาคม 2527 จำเลยได้นำเจ้าหน้าที่ที่ดินไปรังวัดขอออกโฉนดที่ดิน โดยโจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยดำเนินการดังกล่าวได้ตามเอกสารหมาย ล.9 ล.14และล.16 เจ้าพนักงานที่ดินได้ออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทใส่ชื่อโจทก์จำเลยเป็นเจ้าของร่วมกันตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.10 ต่อมาวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2529 โจทก์จำเลยได้ร่วมกันยื่นคำร้องขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้ส่วนทางด้านทิศเหนือติดกับห้วยแข้เป็นของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.12 และ ล.13 วันที่ 10 เมษายน 2529เจ้าพนักงานที่ดินได้จดทะเบียนแบ่งแยกโฉนดที่ดินพิพาทออกเป็นส่วนของโจทก์ 3 งาน 30 ตารางวา ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.15ภายหลังโจทก์มอบอำนาจให้ทนายความบอกล้างนิติกรรมและยกเลิกเพิกถอนบันทึกถ้อยคำต่าง ๆ ตามหนังสือเอกสารหมาย จ.3 ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่า โจทก์จำเลยมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทคนละครึ่ง แต่จำเลยใช้กลฉ้อฉลให้โจทก์ยอมรับเอาเพียง 1 ไร่และจะให้เงินโจทก์ 40,000 บาท ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นโมฆียะหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ได้ความเพียงว่าหลังจากโจทก์ตกลงกับจำเลยแล้ว จำเลยก็ดำเนินการตามที่ตกลงแต่ล่าช้าเกินไปและโจทก์หมดความจำเป็นที่จะใช้เงินไปลงทุนทำการค้าแล้วจึงบอกเลิกข้อตกลงดังกล่าวเสีย หาได้ปรากฏว่ามีพฤติการณ์อื่นใดพอที่จะชี้ให้เห็นว่าโจทก์ได้แสดงเจตนาเพราะถูกจำเลยใช้กลฉ้อฉลหลอกลวงอันถึงขนาดแต่อย่างใดไม่ เมื่อตามข้อตกลงไม่ปรากฏว่าต้องให้จำเลยดำเนินการให้แล้วเสร็จเมื่อใด ทั้งปรากฏว่าเมื่อโจทก์จำเลยยื่นเรื่องราวขอรับโอนมรดกไม่มีพินัยกรรมแล้วโจทก์ได้มอบอำนาจให้จำเลยทำการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินที่บันทึกข้อตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมและขอจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมตามเอกสารหมาย ล.9 ล.12 และ ล.13 จึงเห็นได้ว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามข้อตกลงแล้ว เพียงแต่ดำเนินการล่าช้าเท่านั้น หาได้ใช้กลฉ้อฉลหลอกลวงโจทก์แต่อย่างใดไม่ ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยดังกล่าวจึงไม่เป็นโมฆียะ โจทก์ไม่มีสิทธิบอกล้างได้แต่โฉนดที่ดินที่จำเลยแบ่งแยกให้โจทก์มีเนื้อที่เพียง 3 งาน 30ตารางวา ไม่ตรงตามที่ตกลงกัน จำเลยเบิกความรับว่า เหตุที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากความผิดพลาดของเจ้าพนักงานที่ดิน โจทก์จึงยังมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งอีก 70 ตารางวา แม้โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยแบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์กึ่งหนึ่ง แต่พิจารณาได้ความว่าโจทก์ควรได้แต่ส่วนแบ่งอีกเพียง 70 ตารางวา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้โจทก์ได้รับแต่ส่วนแบ่งนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(2) ส่วนเงินจำนวน 40,000 บาท นั้นไม่อาจพิพากษาให้จำเลยชำระแก่โจทก์ได้ เพราะเป็นการเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142
พิพากษากลับ ให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 6019 ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอมุกดาหารจังหวัดมุกดาหาร เนื้อที่ 70 ตารางวา ให้โจทก์ หากจำเลยไม่ยอมแย่งแยกให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา