คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6657/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฎีกาจำเลยที่1ที่ว่าโจทก์ต้องฟ้องคดีภายใน1ปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองนั้นจำเลยที่1ไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคหนึ่ง ฎีกาจำเลยทั้งสองว่าจำเลยที่2รับโอนที่ดินพิพาทโดยสุจริตมีค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริตโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองการที่จำเลยที่1ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในนามของจำเลยที่1ก็ไม่ทำให้จำเลยที่1เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายเมื่อจำเลยที่1ไม่มีสิทธิที่จะโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่2ได้แล้วจำเลยที่2ผู้รับโอนก็ไม่มีสิทธิดีไปกว่าจำเลยที่1แม้จำเลยที่2จะรับซื้อไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก็ตามจำเลยที่2ก็ไม่ได้สิทธิในที่ดินพิพาท ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1562เป็นบทบัญญัติตัดสิทธิห้ามมิให้ฟ้องบุพการีของตนจึงต้องแปลความโดยเคร่งครัดดังนั้นแม้ผู้รับมอบอำนาจโจทก์จะเป็นบุตรของจำเลยที่1แต่ก็ไม่ได้ฟ้องในฐานะส่วนตัวจึงไม่ต้องห้ามตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายชูชัย สะอาดดี หรือรัสเซลทิดด์ ฟ้องและดำเนินคดีแทน โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินตาม ส.ค.1 เลขที่ 92 เนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ 1 งาน ต่อมาเมื่อปี 2519 โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในนามของโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 กลับไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ในนามของตนเองโจทก์โต้แย้งคัดค้านให้จดทะเบียนแก้ไขหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้เป็นชื่อโจทก์แต่จำเลยที่ 1 ขอผัดเรื่อยมาในที่สุดเมื่อวันที่15 มิถุนายน 2535 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนขายที่ดินของโจทก์แปลงนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 300,000 บาท โดยจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าเป็นที่ดินของโจทก์และโจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา แต่จำเลยที่ 2 ก็ยังรับซื้อไว้ และได้เข้าแย่งการครอบครองที่ดินจากโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 102 ตำบลทุ่งหว้า อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล และให้จำเลยที่ 2 กับบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ ให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินฉบับลงวันที่ 15 มิถุนายน 2535 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนแก้ไขหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวให้เป็นชื่อโจทก์พร้อมกับส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์แก่โจทก์หากจำเลยที่ 2 ไม่ปฎิบัติตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลยทั้งสองให้การเป็นทำนองเดียวกันว่า เมื่อประมาณปี 2514โจทก์ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา ครั้นเมื่อปี 2519 จำเลยที่ 1 ได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในนามของจำเลยที่ 1โดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน ต่อมาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2535 จำเลยที่ 1ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งรับซื้อไว้โดยสุจริตและได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดิน โดยสุจริตและถูกต้องตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ให้จำเลยที่ 2กับบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลย ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ได้ครอบครองที่ดินพิพาทจึงเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองนั้น เห็นว่าข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ภาค 3 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินพิพาทโดยสุจริตมีค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้นเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง การที่จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในนามของจำเลยที่ 1 ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ได้แล้ว จำเลยที่ 2 ผู้รับโอนก็ไม่มีสิทธิดีไปกว่าจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 2 จะรับซื้อไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก็ตามจำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้สิทธิในที่ดินพิพาท
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาข้อสุดท้ายว่า นายชูชัย สะอาดดี ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุพการีต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 เห็นว่าปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยกขึ้นมาว่ากล่าวตั้งแต่ศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็มีสิทธิยกขึ้นฎีกาได้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1562 เป็นบทบัญญัติตัดสิทธิห้ามมิให้ฟ้องบุพการีของตนจึงต้องแปลความโดยเคร่งครัด ดังนั้น แม้ผู้รับมอบอำนาจโจทก์จะเป็นบุตรของจำเลยที่ 1 แต่ก็ไม่ได้ฟ้องส่วนตัว จึงไม่ต้องห้ามตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share