คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2941/2540

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองมายืนที่หน้าบ้านผู้เสียหายทั้งสอง ห่างบันไดขึ้นบ้านประมาณ1 วา แล้วจำเลยที่ 1 ร้องบอก ว. น้องผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งอยู่บนบ้านว่า ที่ ว. ยืมเงินจำเลยที่ 1 มาและให้เด็กนำเงินไปคืนนั้นยังขาดอยู่ 100 บาท ว. ให้ผู้เสียหายที่ 2ลงไปพูดกับจำเลยที่ 1 แม้จะเป็นเวลา 19 นาฬิกาเศษ แต่ผู้เสียหายที่ 2 กำลังคิดเงินให้ลูกจ้างตัดอ้อยอยู่ จำเลยทั้งสองก็เป็นญาติกับผู้เสียหายที่ 2 ด้วย จำเลยทั้งสองไม่ได้ขึ้นไปบนบ้าน ไม่มีเจตนาจะมาตบตีผู้เสียหายที่ 2 ถือได้ว่าเป็นการเข้าไปโดยมีเหตุผลอันสมควร การที่ผู้เสียหายที่ 2 ลงจากบ้านไปพูดกับจำเลยที่ 1 แล้วเกิดโต้เถียงกันจนเกิดตบตีกันขึ้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานบุกรุก
ข้อเท็จจริงที่ว่าหลังจากจำเลยทั้งสองทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 แล้ว ผู้เสียหายที่ 1บอกจำเลยทั้งสองให้ออกไป แต่จำเลยทั้งสองไม่ออกไปกลับด่าผู้เสียหายที่ 1 และทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 อีกนั้น โจทก์มิได้บรรยายฟ้องไว้ จึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษศาลไม่อาจนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาลงโทษจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสี่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2538 เวลากลางคืนหลังเที่ยงจำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปในเคหสถานที่อยู่อาศัยของนายวินัย ราตรี ผู้เสียหายที่ 1 และนางเทียมหรือเพลิน มะนาวหวาน ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นสามีภริยากันโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันควร แล้วจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายชกต่อยและตบตีผู้เสียหายที่ 2 ถูกที่บริเวณใบหน้าหลายครั้ง แต่ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 364, 365(1)(2)(3)

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 365(1)(2)(3) ประกอบมาตรา 364, 83 จำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 4,000 บาท พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับจำเลยทั้งสองไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนสมควรให้โอกาสจำเลยทั้งสองกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปีไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่าตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยทั้งสองมายืนที่หน้าบ้านผู้เสียหายทั้งสอง ห่างบันไดขึ้นบ้านประมาณ 1 วา แล้วจำเลยที่ 1 ร้องบอกนางวรรณาน้องผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งอยู่บนบ้านผู้เสียหายทั้งสองว่า ที่นางวรรณายืมเงินจำเลยที่ 1 มาและให้เด็กนำเงินไปคืนนั้นยังขาดอยู่ 100 บาท นางวรรณาให้ผู้เสียหายที่ 2 ลงไปพูดกับจำเลยที่ 1 เนื่องจากผู้เสียหายที่ 2ให้นางวรรณาหักเงินดังกล่าวไว้โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ยืมเงินผู้เสียหายที่ 2 ไปซื้อมีด 100บาท ผู้เสียหายที่ 2 ลงไปพูดกับจำเลยที่ 1 แล้วเกิดโต้เถียงกันขึ้นหลังจากนั้นจำเลยทั้งสองจึงตบตีกับผู้เสียหายที่ 2 ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานร่วมกันบุกรุกเคหสถานของผู้เสียหายทั้งสองหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่าบ้านเกิดเหตุเป็นบ้านของผู้เสียหายทั้งสอง ไม่ใช่บ้านของนางวรรณา การที่จำเลยทั้งสองเข้าไปจึงเป็นการเข้าไปโดยไม่มีเหตุอันควรนั้น เห็นว่า แม้บ้านเกิดเหตุจะเป็นบ้านของผู้เสียหายทั้งสองไม่ใช่บ้านของนางวรรณา แต่ขณะนางวรรณาให้เด็กเอาเงินไปคืนจำเลยที่ 1 นางวรรณาอยู่ในบ้านเกิดเหตุ เมื่อจำเลยที่ 1 รับเงินแล้วพบว่านางวรรณาคืนเงินขาดไป 100 บาท จึงมาหานางวรรณาที่บ้านเกิดเหตุทันทีเพื่อบอกให้นางวรรณาทราบ นางวรรณาเป็นน้องผู้เสียหายที่ 2 ทั้งยังทำงานรับจ้างตัดอ้อยอยู่กับผู้เสียหายที่ 2ด้วย ขณะเกิดเหตุแม้จะเป็นเวลา 19 นาฬิกาเศษ แต่ผู้เสียหายที่ 2 กำลังคิดเงินให้ลูกจ้างตัดอ้อยอยู่ มีลูกจ้างตัดอ้อยของผู้เสียหายที่ 2 อยู่ที่บ้านเกิดเหตุ 10 กว่าคน จำเลยทั้งสองก็เป็นญาติกับผู้เสียหายที่ 2 ด้วย จำเลยทั้งสองไม่ได้ขึ้นไปบนบ้านเกิดเหตุ เพียงมายืนที่หน้าบ้านเกิดเหตุห่างบันไดบ้านประมาณ 1 วา แล้วจำเลยที่ 1 ร้องบอกนางวรรณาว่าคืนเงินขาดไป 100 บาท จำเลยทั้งสองไม่ได้มีเจตนามาก่อนว่าจะมาตบตีผู้เสียหายที่ 2ถือได้ว่าเป็นการเข้าไปโดยมีเหตุอันสมควร การที่ผู้เสียหายที่ 2 ลงจากบ้านไปพูดกับจำเลยที่ 1 แล้วเกิดโต้เถียงกันจนเกิดตบตีกันขึ้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานบุกรุก ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า หลังจากจำเลยทั้งสองทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 แล้ว ผู้เสียหายที่ 1 บอกจำเลยทั้งสองให้ออกไป แต่จำเลยทั้งสองไม่ออกไปกลับด่าผู้เสียหายที่ 1 และทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 อีก จึงเป็นความผิดฐานบุกรุกนั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวโจทก์มิได้บรรยายฟ้องไว้ จึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษศาลไม่อาจนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาลงโทษจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสี่ ประกอบด้วยมาตรา 225 และ 215 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องชอบแล้ว”

พิพากษายืน

Share