แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามแผนที่วิวาทมีเหมืองน้ำสาธารณประโยชน์ด้านทิศเหนือเลียบที่ดินของโจทก์และจำเลยตลอดแนว แม้ลำเหมืองดังกล่าวปัจจุบันมีสภาพตื้นเขินและสามารถใช้เป็นทางเดินได้ แต่ปรากฏว่าทางราชการมีโครงการขุดลอกลำเหมืองดังกล่าว และได้เริ่มขุดลอกทางตอนใต้บางตอนแล้ว ดังนี้ เมื่อทางราชการมีโครงการจะขุดลอกลำเหมืองแล้วลำเหมืองนี้ก็ไม่ใช่ลำเหมืองที่มีลักษณะตื้นเขินที่โจทก์จะใช้เป็นทางเดินออกสู่ถนนสาธารณะได้ ที่ดินโจทก์จึงตกอยู่ในที่ล้อมไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์จึงมีสิทธิผ่านที่ดินของจำเลยคือทางพิพาทซึ่งเป็นทางจำเป็นออกสู่ถนนสาธารณะได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เดิมนางจับเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 1192 ต่อมาได้ขอแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกเป็นหลายแปลงแล้วขายที่ดินที่แบ่งออกมาเป็นโฉนดเลขที่ 1964 ให้โจทก์ และที่ดินที่แยกออกมาเป็นโฉนดเลขที่ 1962 ให้นางอุทัย ที่ดินโฉนดเลขที่ 1964 ของโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ จึงใช้ทางผ่านในที่ดินโฉนดเลขที่ 1962 เป็นทางกว้าง 3 เมตร ยาวประมาณ 30 เมตรโดยนางอุทัยยินยอมเมื่อนางอุทัยขายที่ดินดังกล่าวให้นางมุยนางมุยก็ให้โจทก์ใช้ทางดังกล่าวตลอดมา ต่อมาจำเลยซื้อที่ดินจากนางมุย จำเลยไม่ยอมให้โจทก์ใช้ทางดังกล่าว จึงขอให้บังคับจำเลยเปิดทางออกสู่ทางสาธารณะให้โจทก์โดยโจทก์ไม่ต้องเสียค่าตอบแทนให้จำเลยรื้อถอนรั้วและสิ่งกีดขวางที่จำเลยนำมาปิดกั้นออกไปถ้าจำเลยไม่รื้อถอนก็ให้โจทก์รื้อถอนเอง โดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า ที่ดินของจำเลยมิได้แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1192 โจทก์ไม่เคยใช้เส้นทางผ่านที่ดินของจำเลยมาก่อน ที่ดินของโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ 2 ทางด้านทิศตะวันตกและด้านทิศเหนือ หากโจทก์ต้องการใช้ทางคงไม่เกิน1 เมตร
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ที่ดินของจำเลยภายในเส้นสีเขียวตามแผนที่พิพาทเป็นทางจำเป็น ให้จำเลยเปิดทางดังกล่าวกว้าง 1 เมตร เพื่อให้โจทก์ผ่านออกไปสู่ทางสาธารณะสายเพชรเกษมกับรื้อถอนรั้วและสิ่งกีดขวางที่จำเลยนำมาปิดกั้นทางออกสู่ทางสาธารณะตามฟ้องออกไปเสีย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามแผนที่วิวาทมีเหมืองน้ำสาธารณประโยชน์ด้านทิศเหนือเลียบที่ดินของโจทก์และที่ดินของจำเลยตลอดแนวไปจนถึงถนนเพชรเกษม ลำเหมืองน้ำสาธารณประโยชน์มีความกว้างประมาณ1 เมตร ลำเหมืองน้ำสาธารณประโยชน์นี้นายประกอบ ศรีทวีปลัดอำเภอฝ่ายกิจการพิเศษและเป็นปลัดสุขาภิบาล ตำบลลำภูราเบิกความว่าสุขาภิบาลตำบลลำภูราได้ตั้งงบประมาณประจำปี 2533 ทำการขุดลอกลำเหมืองสายนี้ จัดลำดับเร่งด่วนประเภทที่ 1 เพราะน้ำไหลไปสู่คลองลำภูราไม่สะดวกทำให้น้ำท่วม เมื่อขุดลอกลำเหมืองแล้วจะใช้เป็นทางเดินไม่ได้ นอกจากนี้นายล้อม ธนูศิลป์ กำนันตำบลลำภูราก็เบิกความว่า ลำเหมืองน้ำที่อยู่ด้านทิศเหนือที่ดินของโจทก์ส่วนกว้างที่สุดประมาณ 1 เมตร ส่วนแคบสุดประมาณ 50 เซนติเมตรลำเหมืองนี้เป็นทางน้ำไหลปัจจุบันก็มีน้ำไหลอยู่บ้างแต่ไหลไม่สะดวกทางสุขาภิบาลตำบลลำภูรา มีโครงการขุดลอกลำเหมืองดังกล่าวในปี 2533 และได้เริ่มขุดลอกทางตอนใต้บางตอนแล้ว นายประกอบและนายล้อมเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใดจึงเชื่อว่าเบิกความไปตามความเป็นจริง แม้ในขณะจำเลยยื่นฎีกาทางราชการยังไม่ได้ขุดลอกลำเหมืองดังกล่าวก็ตาม แต่เมื่อทางราชการมีโครงการที่จะขุดลอกลำเหมืองน้ำสาธารณประโยชน์แล้ว ลำเหมืองน้ำนี้ก็ไม่ใช่ลำเหมืองน้ำที่มีสภาพตื้นเขินที่โจทก์จะสามารถใช้เป็นทางเดินออกไปสู่ถนนสาธารณะได้ เมื่อโจทก์ไม่สามารถใช้ลำเหมืองน้ำสาธารณประโยชน์เดินไปสู่ถนนเพชรเกษม ซึ่งเป็นทางสาธารณะได้แล้วที่ดินของโจทก์จึงตกอยู่ในที่ล้อมไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะโจทก์จึงมีสิทธิผ่านที่ดินของจำเลยคือทางพิพาทไปสู่ถนนเพชรเกษมได้คำพิพากษาฎีกาที่ 2240/2525 ที่จำเลยอ้างถึงข้อเท็จจริงไม่ตรงกับเรื่องนี้ ที่ศาลล่างพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นทางจำเป็นสำหรับที่ดินของโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน