แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานปล้นทรัพย์เพียงข้อหาเดียว โดยมิได้ฟ้องฐานรับของโจรด้วยก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ใช้ไม้คมแฝกตีทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 และร่วมกันรับของโจร ซึ่งในความผิดฐานปล้นทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 340 ตามที่โจทก์ฟ้องเป็นการลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายและร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไป เป็นการกระทำความผิดหลายอย่างแต่ละอย่างเป็นความผิดได้อยู่ในตัว ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม บัญญัติให้ข้อแตกต่างระหว่างการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ที่รวมอยู่ในการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามฟ้องโจทก์กับความผิดฐานรับของโจรตามที่พิจารณาได้ความนั้น มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ เมื่อจำเลยที่ 3 มิได้หลงต่อสู้ ข้อพิจารณาที่ได้ความว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานรับของโจรซึ่งต่างจากฟ้องจึงไม่ถือว่าเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ศาลย่อมลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานรับของโจรตามที่พิจารณาได้ความนั้นได้
เมื่อจำเลยที่ 3 ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 ด้วย ซึ่งเป็นความผิดอยู่ในตัวเองอีกความผิดฐานหนึ่ง แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานปล้นทรัพย์ ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย อีกกรรมหนึ่งได้ เพราะเป็นการลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายและร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไป แต่เมื่อศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 3 เพียงกรรมเดียว โดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มิอาจลงโทษจำเลยที่ 3 ได้ทุกกรรม เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 3 คงลงโทษในความผิดฐานร่วมกันรับของโจรซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 58, 83, 340, 357 ริบไม้คมแฝกของกลาง ให้จำเลยทั้งสี่คืนเงินที่ยังไม่ได้คืน จำนวน 100 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 บวกโทษจำคุกของจำเลยที่ 3 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษของจำเลยที่ 3 ในคดีนี้
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพฐานรับของโจร ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 3 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 83 จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 357 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 83 ลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฐานรับของโจร ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยทั้งสี่คนละ 3 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน คำรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 คนละ 2 ปี บวกโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 3 คดีนี้ เป็นจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 3 ปี 6 เดือน ริบไม้คมแฝกของกลาง คำขอและข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2545 เวลากลางวัน เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 ได้พร้อมยึดรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน นทฉ กรุงเทพมหานคร 208 ราคา 30,000 บาท ของนางสาวเสาวลักษณ์ ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งอยู่ในความครอบครองของนายสินชัยหรือเล็ก ผู้เสียหายที่ 2 ที่ขอยืมรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวไปจากนายเลิศชาย สามีของผู้เสียหายที่ 1 ไปบ้านจำเลยที่ 2 พบจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กับพวก แล้วจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทวงเงินจำนวน 800 บาท ที่มอบให้ผู้เสียหายที่ 2 ไปซื้อเมทแอมเฟตามีน แต่ผู้เสียหายที่ 2 นำเงินไปใช้หมดไม่ได้ซื้อเมทแอมเฟตามีนให้ จำเลยที่ 2 โกรธ เตะ ต่อย ส่วนจำเลยที่ 3 ใช้ไม้คมแฝกตีผู้เสียหายที่ 2 จนผู้เสียหายที่ 2 หมดสติไป เมื่อรู้สึกตัวจึงบอกให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ไปขายใช้หนี้โดยจะไปอ้างกับผู้เสียหายที่ 1 ว่าถูกคนร้ายชิงรถจักรยานยนต์ไป จากนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้มอบรถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายที่ 2 ยักยอกมาให้จำเลยที่ 1 นำไปขายจนถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 ได้พร้อมรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ที่ผู้เสียหายที่ 1 ได้แจ้งหายไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลบึงกุ่ม ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสี่ได้ จากนั้นได้ส่งตัวจำเลยทั้งสี่ดำเนินคดี ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานร่วมกันรับของโจร จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันรับของโจรและร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นลงโทษบทหนักฐานร่วมกันรับของโจร จำเลยที่ 2 ไม่อุทธรณ์และจำเลยที่ 1 ไม่ฎีกา คดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานร่วมกันรับของโจรและร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่น โดยโจทก์ไม่ได้บรรยายมาในฟ้องและเกินคำขอท้ายฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานปล้นทรัพย์เพียงข้อหาเดียว โดยมิได้ฟ้องฐานรับของโจรด้วยก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ใช้ไม้คมแฝกตีทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 และร่วมกันรับของโจรในความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตามที่โจทก์ฟ้องเป็นการลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายและร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไป เป็นการกระทำความผิดหลายอย่างแต่ละอย่างเป็นความผิดได้อยู่ในตัว ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม บัญญัติให้ข้อแตกต่างในการกระทำความผิดระหว่างการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ที่รวมอยู่ในการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามคำฟ้องของโจทก์จะแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาที่ได้ความว่าเป็นความผิดฐานรับของโจรก็ตาม มิให้ถือว่าต่างกันในข้อเป็นสาระสำคัญ ทั้งจำเลยที่ 3 ไม่ได้หลงต่อสู้ มิให้ถือว่าข้อพิจารณาที่ได้ความว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานรับของโจรต่างจากฟ้องเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ศาลจึงย่อมลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานรับของโจรตามที่พิจารณาได้ความได้
และเมื่อจำเลยที่ 3 ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 ด้วย ซึ่งเป็นความผิดอยู่ในตัวเองอีกความผิดฐานหนึ่ง แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานปล้นทรัพย์ ซึ่งศาลก็มีอำนาจลงโทษฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย อีกกรรมหนึ่งได้ แต่เมื่อศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 3 เพียงกรรมเดียว โดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มิอาจลงโทษจำเลยที่ 3 ได้ทุกกรรมเพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 3 คงลงโทษในความผิดฐานร่วมกันรับของโจรซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ที่ศาลล่างทั้งสองศาลวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน