แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยแถลงต่อศาลแรงงานภาค 9 ว่าติดใจเพียงประเด็นเดียวว่าโจทก์ทุจริตและกระทำความผิดอาญายักยอกทรัพย์ของจำเลยเท่านั้น และจำเลยสละประเด็นอื่น แล้วโจทก์จำเลยตกลงท้ากันโดยถือเอาข้อแพ้ชนะในคดีอาญาที่โจทก์ถูกฟ้องด้วยข้อหายักยอกทรัพย์ว่า “ถ้าหากศาลพิพากษายกฟ้อง” ให้ถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายชนะ จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ แต่ถ้าศาลในคดีอาญาพิพากษาว่าโจทก์ “มีความผิดและพิพากษาลงโทษในคดีดังกล่าว (คดีอาญา) ไม่ว่าจะลงโทษจำคุก หรือลงโทษปรับ หรือแม้กระทั่งรอการลงโทษ หรือรอการกำหนดโทษ” ให้ถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายแพ้คดี ให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
การที่จำเลยสละประเด็นตามคำให้การอื่น ยังคงติดใจเพียงประเด็นโจทก์ทุจริตและกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่จำเลยผู้เป็นนายจ้างหรือไม่ ส่วนหนึ่งของคำท้าคือหากโจทก์ถูกศาลในคดีอาญาพิพากษาว่ามีความผิดถือว่าโจทก์แพ้คดี การที่โจทก์กระทำผิดฐานยักยอกทรัพย์ของจำเลยหรือไม่จึงเป็นสาระสำคัญของคำท้า การที่ศาลในคดีอาญาพิพากษายกฟ้องเนื่องจากคดีขาดอายุความ และศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนด้วยเหตุเดียวกัน คดีอาญาถึงที่สุด ศาลในคดีอาญาไม่ได้พิพากษาว่าโจทก์กระทำผิดอาญาหรือไม่ดังความมุ่งหมายของคำท้า จึงไม่อาจวินิจฉัยชี้ขาดคดีให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดชนะหรือแพ้ตามคำท้าได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 9,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าชดเชย 92,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 30 กันยายน 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ในชั้นพิจารณา จำเลยสละข้อต่อสู้อื่นตามคำให้การ ศาลกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างหรือไม่ โจทก์และจำเลยตกลงท้ากันให้ถือผลคดีอาญาหมายเลขดำที่ 862/2542 ของศาลจังหวัดนราธิวาส เป็นข้อแพ้ชนะ โดยตกลงกันว่าหากศาลพิพากษาคดีถึงที่สุดให้ยกฟ้องโจทก์ในคดีอาญาดังกล่าว ให้ถือว่าโจทก์คดีนี้เป็นฝ่ายชนะคดี จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ตามฟ้อง ถ้าศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดและลงโทษไม่ว่าจะจำคุก รอการลงโทษ รอการกำหนดโทษ หรือปรับ ถือว่าโจทก์คดีนี้เป็นฝ่ายแพ้คดี ให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ ต่อมาศาลจังหวัดนราธิวาสวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 862/2542 หมายเลขแดงที่ 582/2547 และศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน คดีถึงที่สุด
ศาลแรงงานภาค 9 พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 9,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 เมษายน 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าชดเชย 92,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์และจำเลยท้ากันโดยมีจุดประสงค์เพียงพิสูจน์ให้ทราบข้อเท็จจริงว่าโจทก์กระทำความผิดโดยการทุจริตยักยอกทรัพย์เงินจำนวนหลายล้านบาทของจำเลยหรือไม่ ดังนั้นเมื่อผลคดีอาญาคดีถึงที่สุดโดยศาลพิพากษายกฟ้องเนื่องจากคดีขาดอายุความ จึงไม่เป็นไปตามคำท้านั้น เห็นว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาศาลแรงงานกลาง (ปัจจุบันคือศาลแรงงานภาค 9) ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2542 สอบถามจำเลยตามคำให้การซึ่งมีประเด็นสำคัญที่จำเลยให้การว่า โจทก์ทุจริตและกระทำความผิดอาญาโดยการยักยอกทรัพย์ของจำเลย ส่วนประเด็นอื่นไม่ว่าจะเป็นประเด็นอำนาจฟ้องหรือโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยนั้น จำเลยแถลงว่าจำเลยติดใจเพียงประเด็นที่ว่าโจทก์ทุจริตและกระทำความผิดอาญาโดยการยักยอกทรัพย์ของจำเลยเท่านั้น และสละประเด็นอื่น คดีคงมีประเด็นพิพาทเพียงว่าโจทก์ทุจริตและกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างหรือไม่ ในประเด็นนี้ทั้งสองฝ่ายตกลงท้ากันว่าให้ถือข้อแพ้ชนะในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 862/2542 ของศาลจังหวัดนราธิวาส ซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลยในข้อหายักยอกทรัพย์ของจำเลยในคดีนี้ “ซึ่งถ้าศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้ในคดีอาญาฐานยักยอกทรัพย์ ก็ให้ถือว่าโจทก์ในคดีนี้เป็นฝ่ายชนะ จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ตามฟ้อง แต่ถ้าโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาแพ้คดีในคดีอาญา คือถูกศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดและพิพากษาลงโทษในคดีดังกล่าวไม่ว่าจะลงโทษจำคุก หรือลงโทษปรับ หรือแม้กระทั่งรอการลงโทษ หรือรอการกำหนดโทษจำเลยก็ตาม ถือว่าโจทก์ในคดีนี้เป็นฝ่ายแพ้คดี ให้ศาลพิพากษายกฟ้องในคดีนี้ได้” ดังนั้นการที่จำเลยสละประเด็นตามคำให้การอื่น แต่ยังคงติดใจเพียงประเด็นว่าโจทก์ทุจริตและกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างหรือไม่ และส่วนหนึ่งของคำท้าคือหากโจทก์ในคดีนี้ถูกศาลในคดีอาญาพิพากษาว่ามีความผิดก็จะถือว่าโจทก์ในคดีนี้เป็นฝ่ายแพ้คดี การที่โจทก์ในคดีนี้กระทำความผิดในข้อหายักยอกทรัพย์ของจำเลยในคดีนี้หรือไม่จึงเป็นสาระสำคัญของคำท้า เมื่อปรากฏว่าศาลจังหวัดนราธิวาสวินิจฉัยว่าโจทก์ร่วมในคดีดังกล่าวรู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้วตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2541 กรณีข้อกล่าวหาเป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายจะต้องร้องทุกข์ภายในกำหนดสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด แต่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2542 เกินกำหนดสามเดือน คดีเป็นอันขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ พิพากษายกฟ้อง ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน โดยวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตามคดีหมายเลขดำที่ 1802/2547 หมายเลขแดงที่ 2345/2549 คดีถึงที่สุดแล้ว ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าคดีอาญาดังกล่าวศาลจังหวัดนราธิวาสและศาลอุทธรณ์ภาค 9 มิได้พิพากษาว่าโจทก์ในคดีนี้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ดังความมุ่งหมายของคำท้า ศาลแรงงานภาค 9 ไม่อาจวินิจฉัยชี้ขาดให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดชนะหรือแพ้คดีตามคำท้าได้ คำพิพากษาศาลแรงงานภาค 9 จึงไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาความ ชอบที่ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 9 เสียได้ โดยให้ย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานภาค 9 ดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนพยานโจทก์ตามประเด็นแห่งคดีแล้วพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 9 ให้ศาลแรงงานภาค 9 ดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี