คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2140/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำให้การชั้นจับกุม คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่เกิดขึ้นโดยชอบและจำเลยให้การรับสารภาพโดยสมัครใจและตามความสัตย์จริง ศาลย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานประกอบเพื่อลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๗, ๘, ๑๕, ๖๖, ๑๐๒ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓, ๙๑ ริบยาเสพติดให้โทษ ถุงพลาสติกและเงินสดจำนวน ๑,๒๐๐ บาท ของกลาง
จำเลยให้การรับว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้มีไว้เพื่อจำหน่ายและจำหน่าย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง, ๖๖ วรรคหนึ่ง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก ๖ ปี ฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ จำคุก ๕ ปี รวมจำคุก ๑๑ ปี คำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน และคำรับในชั้นศาลเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด ๗ ปี ๔ เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนและถุงพลาสติกของกลาง คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก ๕ ปี เมื่อรวมกับโทษฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ แล้ว เป็นจำคุก ๑๐ ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด ๖ ปี ๘ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า… ที่จำเลยฎีกาอ้างว่า บันทึกการจับกุม บันทึกปากคำ ผู้ต้องหาประกอบคำรับสารภาพและบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา ตามเอกสารหมาย จ. ๓ จ. ๔ และ จ. ๑๑ เป็นบันทึกที่เจ้าพนักงานได้ถามจำเลยก่อนที่จะแจ้งข้อหา และได้ทำหรือจัดให้มีขึ้นโดยการขู่เข็ญหรือให้สัญญาแก่จำเลยเพื่อจูงใจให้จำเลยให้การตามที่ต้องหา จำเลยยังไม่ได้อยู่ในฐานะผู้ต้องหา และเจ้าพนักงานตำรวจยังไม่ได้บอกให้ทราบว่าถ้อยคำที่ผู้ต้องหากล่าวนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาได้ โจทก์จึงอ้างเอาคำรับของจำเลยมาเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง เป็นการมิชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๔, ๑๓๕ และ ๒๒๖ นั้น เห็นว่า ในชั้นพิจารณาจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งข้อเท็จจริงดังที่จำเลยกล่าวอ้าง ส่วนโจทก์มีร้อยตำรวจเอกประเสริฐเบิกความว่า หลังจากแจ้งข้อหาแล้วจำเลยให้การรับสารภาพ จึงได้ทำบันทึกการจับกุม และบันทึกปากคำผู้ต้องหาประกอบคำรับสารภาพไว้ เมื่อพิจารณาจากบันทึกปากคำผู้ต้องหาประกอบคำรับสารภาพ เอกสารหมาย จ. ๔ มีข้อความระบุว่า “…นางสาวสุทธิพร ยุวรี ผู้ต้องหาขอให้ปากคำต่อเจ้าพนักงานตำรวจด้วยความสมัครใจ ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดบังคับ ขู่เข็ญ ล่อล่วง หรือให้คำมั่นสัญญาอย่างหนึ่งอย่างใด…” โดยจำเลยได้ลงลายมือชื่อรับว่าข้อความถูกต้องไว้ และตามบันทึกการจับกุม เอกสารหมาย จ. ๓ ตอนท้ายมีข้อความระบุไว้ทำนองเดียวกับบันทึกปากคำผู้ต้องหาประกอบคำรับสารภาพ เอกสารหมาย จ. ๔ นอกจากนั้นพันตำรวจโทกฤษดาเบิกความว่า ได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพ ซึ่งเมื่อพิจารณาตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา เอกสารหมาย จ. ๑๑ หน้าแรกมีข้อความระบุว่า “เจ้าพนักงานได้แจ้งแก่ข้าพเจ้าว่า ข้าพเจ้าต้องหาว่า มียาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ (เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต… และได้แจ้งให้ข้าพเจ้าทราบด้วยว่า ถ้อยคำที่ข้าฯ ให้การต่อหน้าพนักงานสอบสวนในชั้นสอบสวนนี้ อาจใช้เป็นพยานหลักฐานยันตัวข้าฯ ในการพิจารณาคดีในชั้นศาลได้ และได้แจ้งสิทธิผู้ต้องหาให้ข้าฯ ทราบด้วยแล้ว” โดยหน้าที่สองมีข้อความระบุว่า “ข้าฯ ขอให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ด้วยความสมัครใจของข้าฯ เอง ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดบังคับ ขู่เข็ญ ล่อลวง หรือให้คำมั่นสัญญาอย่างหนึ่งอย่างใด และข้าฯ ขอให้การในชั้นนี้โดยไม่ขอมีทนายนั่งฟังแต่อย่างใด …เป็นความจริง อ่านให้ฟังแล้วรับว่าถูกต้อง” โดยจำเลยลงลายมือชื่อไว้ นอกจากนั้นตามบันทึกแจ้งสิทธิผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ. ๑๒ มีข้อความที่พนักงานสอบสวนได้แจ้งสิทธิแก่ผู้ต้องหาตามกฎหมายให้ผู้ต้องหาทราบและระบุว่าอ่านให้ฟังแล้วรับว่าถูกต้อง จำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ ข้อกล่าวอ้างของจำเลยจึงขัดต่อพยานหลักฐานดังกล่าว กรณีถือได้ว่าเจ้าพนักงานตำรวจและพนักงานสอบสวนได้กระทำโดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๔ และ ๑๓๕ แล้ว คำให้การชั้นจับกุม คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่เกิดขึ้นโดยชอบ และจำเลยให้การรับสารภาพโดยสมัครใจและตามความสัตย์จริง ศาลย่อมรับฟังพยานหลักฐานประกอบเพื่อลงโทษจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๖ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…
พิพากษายืน.

Share