คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2139/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์มรณะส. ร้องขอรับมรดกความ แต่ปรากฏว่าจำเลยเป็นปู่ของ ส.ซึ่งอยู่ในฐานะผู้บุพพการี การรับมรดกความของ ส. จึงถือได้ว่าอยู่ในฐานะเป็นผู้ฟ้องบุพพการี อันต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1534 แม้จำเลยมิได้คัดค้านคำร้องของ ส. และศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้รับมรดกความไปแล้ว แต่เรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าเข้าลักษณะเป็นอุทลุม ย่อมยกขึ้นวินิจฉัยในเวลาพิพากษาคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่าเป็นคดีอุทลุม ส. ผู้รับมรดกความคงอุทธรณ์คัดค้านในประเด็นสำคัญข้อเดียวว่า การรับมรดกความของ ส. ไม่เป็นการฟ้องผู้บุพพการี ส.มีอำนาจที่จะดำเนินคดีต่อไปได้ ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะรับวินิจฉัยให้เฉพาะประเด็นแห่งอุทธรณ์เท่านั้น การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก้าวล่วงเข้าไปสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นโดยเห็นว่า ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้ ส. เข้ารับมรดกความเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น หาใช่ประเด็นที่ขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์โดยตรงไม่ อนึ่งการขอรับมรดกความของ ส. ก็นับว่าเป็นไปโดยชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42, 43 ทั้งจำเลยก็มิได้คัดค้านคำร้องของ ส. แต่อย่างใด ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจสั่งอนุญาตได้ หาเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบไม่
ในชั้นอุทธรณ์ ก. ผู้จัดการมรดกของโจทก์ผู้มรณะตามคำสั่งศาล ยื่นคำร้องขอรับมรดกความร่วมกับ ส. เป็นการยอมรับให้ ส.มีฐานะเป็นผู้รับมรดกความต่อไป ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจสั่งตั้ง ก.ให้เข้ารับมรดกความแทนที่ ส. ซึ่งผิดไปจากคำขอ ทั้ง ก.ก็เพิ่งขอเข้ามารับมรดกความภายหลังที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ไปแล้วและเกินกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์มรณะ จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้ ก. เข้ามารับมรดกความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์จะดำเนินการให้ฟ้องเป็นคดีใหม่ภายในกำหนดอายุความนั้นยังไม่เป็นการถูกต้อง เพราะ ส. อาจจะแก้ไขอำนาจฟ้องของตนให้สมบูรณ์ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1534ได้อยู่แล้ว ไม่มีปัญหาเรื่องการรื้อร้องฟ้องเกี่ยวกับประเด็นวินิจฉัยชี้ขาดซ้ำแต่อย่างใด จึงไม่ใช่กรณีอันจำเป็นจะต้องกำหนดเงื่อนไขในการฟ้องคดีใหม่ ให้เป็นคุณแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148(3)ซึ่งจะกลายเป็นว่า ส. ผู้รับมรดกความยังอยู่ในฐานะเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้บุพพการีอย่างคดีเดิมได้อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจิตติซึ่งเป็นบุตรของจำเลยอันเกิดจากนางห่วง นางห่วงถึงแก่กรรมไปแล้วโดยมีทรัพย์มรดกตกทอดแก่จำเลยและนายจิตติคนละครึ่ง ต่อมานายจิตติ ถึงแก่กรรม มรดกของนายจิตติตกทอดได้แก่โจทก์และบุตร แต่จำเลยเป็นฝ่ายครอบครองเก็บผลประโยชน์แทน โจทก์ได้เตือนให้จำเลยแบ่งมรดกแล้ว จำเลยคงแบ่งให้บางส่วนเท่านั้น ขอให้บังคับจำเลยแบ่งมรดกให้โจทก์และบุตรตามส่วนของตน
จำเลยให้การว่าฟ้องเคลือบคลุม จำเลยเป็นผู้บุพพการีของผู้รับมอบอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจจึงต้องห้ามตามกฎหมายมิให้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลย ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ระหว่างการพิจารณาสืบพยานโจทก์ นางโมโจทก์ถึงแก่กรรม
นายสมานผู้รับมอบอำนาจยื่นคำร้องขอรับมรดกความในฐานะเป็นบุตรโจทก์ผู้มรณะ ศาลอนุญาต
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า นายสมานเป็นหลานปู่ของจำเลย ในเบื้องต้นนางโมเป็นโจทก์ฟ้องคดีโดยตรง นายสมานเข้ามาในคดีในฐานะผู้รับมอบอำนาจไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๓๔ ครั้นนางโมตายนายสมานร้องขอสวนสิทธิของมารดาเข้ามาเป็นตัวความในฐานะโจทก์เข้าดำเนินคดีกับจำเลยซึ่งเป็นปู่นับว่าเป็นผู้ฟ้องบุพพการีโดยตรง ต้องห้ามตามมาตรา ๑๕๓๔ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๕๕๑/๒๔๙๔ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์จะดำเนินการให้ฟ้องเป็นคดีใหม่ภายในกำหนดอายุความ
นายสมานผู้รับมรดกความอุทธรณ์ว่า เมื่อศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้ผู้อุทธรณ์รับมรดกความแล้ว ย่อมไม่มีเหตุที่ศาลชั้นต้นจะยกอำนาจฟ้องขึ้นวินิจฉัย ทั้งผู้อุทธรณ์มิได้เป็นผู้ฟ้อง ไม่เป็นการฟ้องผู้บุพพการี ขอให้พิพากษากลับว่าผู้อุทธรณ์มีอำนาจดำเนินคดีต่อไปได้
ระหว่างอุทธรณ์ นายกมลยื่นคำร้องร่วมรับมรดกความกับผู้อุทธรณ์ อ้างว่าเป็นผู้จัดการมรดกของนางโมผู้มรณะตามคำสั่งศาล
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่นายสมานร้องขอเข้ารับมรดกความเท่ากับเป็นตัวความโดยตรง ต้องห้ามตามมาตรา ๑๕๓๔ ชอบที่ศาลชั้นต้นจะสั่งยกคำร้องเสีย ที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้นายสมานรับมรดกความจึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ แต่ฟ้องโจทก์ยังสมบูรณ์อยู่เมื่อนายกมลในฐานะผู้จัดการมรดกของโจทก์ร้องขอรับมรดกความหลังวันพิพากษาของศาลชั้นต้น ๕ เดือนเศษ จึงนับเป็นเหตุสุดวิสัยให้ขยายระยะเวลายื่นคำร้องขอรับมรดกความจาก ๑ ปี เป็น ๑ ปี ๕ เดือน๑๐ วันนับจากวันโจทก์ตาย พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องขอเข้ารับมรดกความของนายสมานเสีย อนุญาตให้นายกมลเข้ารับมรดกความแทนโจทก์ ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ปัญหาที่ว่านายสมานผู้รับมรดกความมีอำนาจฟ้องหรือไม่นั้น ปรากฏว่าจำเลยเป็นปู่ของนายสมานซึ่งอยู่ในฐานะผู้บุพพการีการรับมรดกความของนายสมานจึงถือได้ว่าอยู่ในฐานะเป็นผู้ฟ้องบุพพการีอันต้องห้ามตามมาตรา ๑๕๓๔
ในชั้นอุทธรณ์ นายสมานผู้รับมรดกความคงอุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในประเด็นสำคัญข้อเดียวว่า การรับมรดกความของนายสมานไม่เป็นการฟ้องผู้บุพพการีตามความหมายแห่งมาตรา ๑๕๓๔ โดยนายสมานมีอำนาจที่จะดำเนินคดีต่อไปได้ ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะรับวินิจฉัยให้เฉพาะประเด็นแห่งอุทธรณ์เท่านั้น การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก้าวล่วงเข้าไปสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นโดยเห็นว่าที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้นายสมานเข้ารับมรดกความเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น หาใช่เป็นประเด็นที่ขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์โดยตรงไม่ เพราะตามอุทธรณ์เป็นเพียงตำหนิศาลชั้นต้นว่าศาลชั้นต้นไม่ควรสั่งอนุญาตให้นายสมานรับมรดกความ แล้วมาพิพากษายกฟ้องภายหลัง แทนที่จะสั่งยกคำร้องเสียแต่ต้น ถึงกระนั้นก็ดี การขอรับมรดกความของนายสมานก็นับว่าเป็นไปโดยชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔๒ และมาตรา ๔๓ แล้ว ทั้งจำเลยมิได้คัดค้านคำร้องของนายสมานแต่อย่างใด ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจสั่งอนุญาตได้หาเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบไม่
ส่วนเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าเข้าลักษณะเป็นอุทลุม ย่อมยกขึ้นวินิจฉัยในเวลาพิพากษาคดีได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒(๕) กรณีเช่นนี้ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับฟ้องเดิมของโจทก์สมบูรณ์หรือไม่อย่างไรเลยศาลฎีกาเห็นว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยสั่งเช่นนั้น เป็นการมิชอบ
ที่ศาลอุทธรณ์สั่งตั้งนายกมลผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลให้เข้ามารับมรดกความแทนที่นายสมานผู้รับมรดกความเดิม ทั้ง ๆ ที่ตามคำร้องสอดของนายกมลประสงค์ขอรับมรดกความร่วมกับนายสมานด้วยเท่านั้น เห็นว่าศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจสั่งผิดไปจากคำขอดังกล่าวเพราะนายกมลยังยอมรับให้นายสมานมีฐานะเป็นผู้รับมรดกความต่อไป การดำเนินคดีของนายสมานผู้รับมรดกความในชั้นอุทธรณ์ก็เป็นการกระทำต่อจำเลยผู้เป็นบุพพการี ไม่ทำให้ฐานะในคดีของนายสมานเปลี่ยนแปลงไปจากที่เป็นอยู่ในศาลชั้นต้นนอกจากนั้นนายกมลก็เพิ่งขอเข้ามารับมรดกความภายหลังที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ไปแล้ว และเกินกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์ตาย จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้นายกมลเข้ามารับมรดกความคดีนี้ในชั้นอุทธรณ์จัดเข้าลักษณะเป็นอุทลุมโดยแท้ ศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องด้วยคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้อง โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์จะดำเนินการให้ฟ้องเป็นคดีใหม่ภายในกำหนดอายุความนั้น ก็ยังไม่เป็นการถูกต้อง เพราะไม่ใช่กรณีอันจำเป็นจะต้องกำหนดเงื่อนไขในการฟ้องคดีใหม่ให้เป็นคุณแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๘(๓) ซึ่งจะกลายเป็นว่า ในคดีใหม่นั้นนายสมานยังไปอยู่ในฐานะเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้บุพพการีอย่างคดีเดิมอีกได้ทั้ง ๆ ที่นายสมานอาจจะแก้ไขอำนาจฟ้องของตนให้สมบูรณ์ ชอบด้วยมาตรา ๑๕๓๔ ต่อไป ซึ่งจะไม่มีปัญหาเรื่องการรื้อฟ้องร้องเกี่ยวกับประเด็นวินิจฉัยชี้ขาดซ้ำแต่อย่างใด
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยให้ยกคำร้องขอรับมรดกความนายกมล และยกฟ้องโจทก์เสีย

Share